ความเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับชีวิตทุกช่วงวัย สำหรับเด็กๆ อาจรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อเริ่มเข้าโรงเรียน ต้องเปลี่ยนสังคมที่มีแต่คุณพ่อคุณแม่และคนในครอบครัว ออกไปเจอผู้คนใหม่ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงต่อมา อาจเป็นการย้ายโรงเรียน ย้ายบ้าน การมีน้องเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัว ไปจนถึงการเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดอื่นๆ การสอนให้ลูก รับมือกับความเปลี่ยนแปลง ที่ดูเหมือนภูเขาสูงชันสำหรับเด็กๆ จึงเป็นอีกบทบาทสำคัญสำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่จะช่วยให้ลูกเรียนรู้และปรับตัวได้ดีขึ้น
เพราะไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต การฝึกให้ลูกคุ้นเคยและ รับมือกับความเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ จะช่วยสร้างภูมิต้านทานให้ลูกสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในชีวิตได้ดี
1. สอนลูกให้เข้าใจคำว่าเปลี่ยนแปลง

การพูดถึงความเปลี่ยนแปลงให้ลูกฟัง ควรเริ่มจากความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ง่ายในชีวิตประจำวัน เช่น สอนให้ลูกสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย สอนให้ลูกมองดูการเติบโตของสัตว์เลี้ยง หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเวลาสั้นๆ เช่น การเหี่ยวเฉาของดอกไม้ในแจกัน สีของใบไม้หน้าบ้าน รสชาติและหน้าตาอาหารที่เปลี่ยนไปเมื่อวางทิ้งไว้นานๆ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ลูกค่อยๆ ทำความรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นกับอะไรก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ เพื่อให้ลูกมองเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไรนั่นเอง
2. ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา

เมื่อลูกเข้าใจแล้วว่าความเปลี่ยนแปลงคืออะไรแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือพยายามทำให้ลูกเข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นกับทุกคน และลูกก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจว่าจะต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่น ลูกจะไม่ได้เรียนห้องเรียนเดิม เพื่อนกลุ่มเดิม หรือคุณครูคนเดิมตลอดไป แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ในแต่ละทุกระดับชั้น ดังนั้น ถึงแม้ลูกจะเสียดายหรือเสียใจที่ต้องเปลี่ยนห้องเรียน เปลี่ยนคุณครู หรือมีกลุ่มเพื่อนใหม่ๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน
3. การปรับตัวเป็นเรื่องสำคัญ

เมื่อเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น การรับมือความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดก็คือ ความสามารถในการปรับตัว
การสอนให้ลูกรู้จักปรับตัว จึงเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญที่จำเป็นต่อการเติบโต เพราะเด็กที่มีทักษะการปรับตัวที่ดี จะสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดีและไม่วิตกกังวลจนกลายเป็นความเครียดที่ส่งผลต่อการเรียนรู้และการใช้ชีวิตประจำวัน จนเกิดปัญหาสุขภาพจิตต่อไปได้
4. สอนให้ลูกมีความมั่นคงในจิตใจ

ความมั่นคงหรือแข็งแกร่งทางจิตใจ (Mental Toughness) คือความสามารถในการควบคุมตนเองให้สงบและมั่นคงภายใต้สถานการณ์ที่ท้าทายหรือกดดันได้ ซึ่งหมายความรวมถึงการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้วยนั่นเอง
องค์ประกอบที่ทำให้ลูกเป็นเด็กที่มีความเข้มแข็งทางจิตใจ ก็คือการสร้างความมั่นใจในตัวเองให้ลูก การสอนให้ลูกควบคุมอารมณ์และแสดงออกอย่างเหมาะสมได้ ทักษะในการฟื้นตัวกลับมาจากความล้มเหลวหรือความผิดหวัง และการสามารถตัดสิ่งรบกวนหรืออุปสรรคที่ขัดขวางออกไปเมื่อจำเป็น
สุดท้าย ความมั่นคงหรือแข็งแกร่งทางจิตใจนี้จะช่วยให้ลูกสามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมแม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากไปได้ด้วยดี
COMMENTS ARE OFF THIS POST