READING

เด็กถูกทำร้าย: เรื่องสำคัญที่ผู้ใหญ่ทุกคนไม่ควรปล่...

เด็กถูกทำร้าย: เรื่องสำคัญที่ผู้ใหญ่ทุกคนไม่ควรปล่อยผ่าน

เด็กถูกทำร้าย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจะได้เห็นข่าว เด็กถูกทำร้าย ล่วงละเมิด หรือทารุณกรรมทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเมื่อผู้กระทำเป็นคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวของเด็กเอง ทำให้เด็กๆ ไม่ได้ได้รับการช่วยเหลือ หรือได้รับการช่วยเหลือที่ล่าช้า

องค์การยูนิเซฟประเทศไทยระบุว่า ในประเทศไทย แต่ละวันจะมีเด็กเฉลี่ย 52 คนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ถูกทอดทิ้ง รวมถึงถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ใหญ่ และสามในสี่คน จะเกิดขึ้นโดยคนในครอบครัวเป็นผู้กระทำ

นอกจากนั้น ในแต่ละปี มีเด็กมากกว่า 10,000 คน ถูกล่วงละเมิดทางเพศ จนได้รับบาดเจ็บสาหัสทั้งร่างกายและจิตใจ ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน

เช่นเดียวกับข้อมูลจากสถิติการให้บริการศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ระบุว่า ในแต่ละปีมีการแจ้งเหตุเด็กถูกทำร้ายกายจากคนในครอบครัวมากที่สุด ตามด้วยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทอดทิ้ง และถูกทำอนาจาร เฉลี่ย 4 – 5 คนต่อวัน และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นการทารุณกรรมหรือใช้ความรุนแรงกับเด็ก ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในหรือนอกครอบครัว จึงเป็นเรื่องที่สังคมควรให้ความสนใจ และหากพบช่องทางที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ ก็ไม่ควรปล่อยปละหรือเพิกเฉยที่จะยื่นมือเข้าช่วยเด็กๆ ของเราทุกคน

แบบไหนที่เรียกว่า เด็กถูกทำร้าย ?

childabuse_1

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แบ่งการกระทำที่เข้าข่าย Child Abuse ไว้ 4 ประเภท ได้แก่

#ทำร้ายร่างกาย หมายถึงทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย โดยเฉพาะการใช้กำลังในทุกรูปแบบ ตั้งใจใช้ของมีคม หรือของร้อนกับเด็ก รวมไปถึงการขว้างปาข้าวของจนได้รับความเสียหายต่อหน้าเด็ก

#ทำร้ายจิตใจ ทั้งการใช้คำพูดดุด่า ใช้คำพูดหยาบคาย ข่มขู่ คุกคาม ทำให้เด็กรู้สึกอับอาย หวาดกลัว เมินเฉยต่อความต้องการของเด็ก รวมไปถึงการทำร้ายสัตว์เลี้ยง หรือสิ่งของที่เด็กรัก

#ล่วงละเมิดทางเพศ ที่รวมตั้งแต่การทำอนาจารทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น เปิดให้ดู การสัมผัส หรือการใช้คำพูดในเชิงทางเพศและ

#ทอดทิ้ง ด้วยการไม่สนใจใยดีต่อการดำรงชีวิตที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก

เด็กถูกทำร้าย เรื่องจงใจหรืออุบัติเหตุ?

childabuse_2

Child protective services (CPS) หน่วยรับแจ้งเหตุการทำร้ายร่างกายหรือล่วงละเมิดเด็กของประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ความแตกต่างของการจงใจทำร้ายกับอุบัติเหตุ สามารถสังเกตได้จากบาดแผลตามร่างกายที่รุนแรง และเหมือนเกิดจากการถูกกระทำซ้ำๆ มากกว่าหนึ่งครั้ง

นอกจากนี้ยังสังเกตได้จากพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็ก เช่น เด็กเริ่มวิตกกังวล ซึมเศร้า หวาดกลัว ไม่ร่าเริง สะดุ้งเมื่อถูกสัมผัส ร้องไห้ด้วยความเจ็บปวดเป็นประจำ หรือการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว เหม่อลอย หรือเฉยชาต่อทุกสิ่ง

ความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจ จะส่งผลให้เด็กรู้สึกสิ้นหวัง เกิดความเครียดและวิตกกังวลเป็นอย่างมาก จนมีอาการทางกาย ไม่ว่าจะเป็นคลื่นไส้บ่อย ปวดหัว ปวดท้อง ไม่อยากกินอาหาร นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท สะดุ้งตื่นกลางคืน มีอาการผวา พัฒนาการถดถอย ไม่ค่อยพูดไม่ค่อยจา ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากเจอใคร เป็นต้น

ส่วนเด็กโต ที่ได้รับการกระทำที่รุนแรง อาจเริ่มมีพฤติกรรมทำร้ายผู้อื่น ทำลายข้าวของ เกรี้ยวกราด หรือหันไปพึ่งพายาเสพติดได้

สำหรับเด็กที่มองไม่เห็นความผิดปกติจากภายนอก ก็สามารถสังเกตได้จากสัญญาณที่เด็กแสดงออกผ่านการวาดรูประบายสี ที่มักซ่อนการเล่าเรื่องราวและประสบการณ์ไม่ดีที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเองออกมา

เพื่อหยุดความรุนแรง ควรหาทางช่วยเหลือเด็กทันที

childabuse_3

ทางมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก แนะนำว่า เมื่อพบเด็กถูกทำร้ายร่างกายในครอบครัว ถูกทำร้ายด้วยความรุนแรงในที่สาธารณะ หรือถูกทำร้ายจากสถานที่ใดสานที่หนึ่งเป็นประจำ ช่วงเวลาใดเป็นประจำ ให้รีบพาเด็กออกจากสถานการณ์นั้นก่อน โดยต้องเป็นการกระทำที่คำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองเป็นหลัก

จากนั้น โทร. แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยเหลือเด็กได้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ 191 มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทร. 0-2412-1196 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 หรือ ขอคำปรึกษาจากสหวิชาชีพที่มีประสบการณ์ ได้ที่ ศูนย์พึ่งได้โรงพยาบาลตำรวจ หรือศูนย์ช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี และผู้ถูกกระทำความรุนแรง ตลอด 24 ชั่วโมง

อ้างอิง
unicef
statyearly
medicalnewstoday

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST