ลูกติดแม่มากเกินไป ถือเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เพราะทารกจะสามารถจดจำกลิ่นและคุ้นเคยกับสัมผัสของคุณแม่ได้ตั้งแต่แรกเกิด จึงทำให้รู้สึกอบอุ่นและวางใจว่าตัวเองจะปลอดภัยเมื่ออยู่ใกล้กับกลิ่นและสัมผัสที่อบอุ่นนี้
จนอายุประมาณ 6-8 เดือน ทารกก็จะเริ่มจดจำคนได้จากใบหน้ามากขึ้น ดังนั้นช่วงวัยนี้ลูกจะสามารถจำและแยกแยะคนที่ตัวเองไว้วางใจ เช่น คุณพ่อหรือพี่เลี้ยง ทำให้สามารถปรับตัวและอยู่กับคนอื่นได้มากขึ้น
แต่อาการ ลูกติดแม่มากเกินไป อาจจะวนกลับมาอีกครั้งในช่วงวัย 1-3 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก คุณพ่อคุณแม่จึงรู้สึกเป็นกังวลเมื่อลูกน้อยแทนที่จะเอาเวลาไปสนุกและตื่นเต้นกับการสำรวจโลกกว้าง กลับงอแงติดอยู่กับคุณแม่ไม่ยอมห่าง
เพื่อลดปัญหาลูกติดแม่มากเกินไป เรามีเคล็ดลับดีๆ มาบอกกันค่ะ
1. สร้างความคุ้นเคยให้ลูกอยู่กับคนอื่นบ่อยๆ

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ลูกติดคุณแม่มาก เป็นเพราะลูกไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำความรู้จักและสร้างความคุ้นเคยกับคนอื่นมากพอ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจจะลองเริ่มจากให้ลูกได้ลองใช้เวลาอยู่กับคนอื่นในครอบครัวมากขึ้น โดยที่ยังมีคุณแม่อยู่ใกล้ๆ เพื่อให้ลูกปรับตัวและเปิดใจว่าถึงแม้จะไม่ได้อยู่กับคุณแม่ แต่ก็สามารถมองเห็นและเรียกหาคุณแม่ได้เสมอ
วิธีนี้จะทำให้ลูกรู้สึกมั่นใจ และวางใจที่จะอยู่กับคนอื่นมากขึ้น หลังจากนั้นจึงค่อยๆ พัฒนาเป็นการสร้างความคุ้นเคยนอกบ้าน เช่น ออกไปข้างนอกด้วยกัน หรือใช้เวลากับคนอื่นโดยไม่มีคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วยมากขึ้นเรื่อยๆ
2. ไม่โกหกและบอกลูกเสมอเมื่อต้องออกไปไหน

คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจเลือกใช้วิธีแอบออกจากบ้านตอนที่ลูกเผลอหรือนอนหลับ เพื่อตัดปัญหาลูกร้องไห้งอแงขอตามไปด้วย หรือไม่ยอมให้คุณพ่อคุณแม่ไปไหน แต่การไม่บอกหรือแอบออกจากบ้านตอนที่ลูกไม่รู้ตัว จะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกหวาดกลัว และกลัวการพรากจากมากขึ้น
ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือก่อนออกจากบ้าน ควรบอกกับลูกว่าคุณพ่อคุณแม่จะออกไปไหนและกลับเมื่อไร แล้วอย่าลืมพยายามรักษาสัญญาด้วยการกลับมาตามช่วงเวลาที่บอกไว้กับลูกให้ได้ เพื่อให้ลูกค่อยๆ ปรับตัวและเข้าใจการต้องอยู่รอคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน และไม่หวาดระแวงว่าคุณพ่อคุณแม่จะหายไปตอนที่เขาไม่รู้ตัว
3. ให้ลูกได้ออกไปเจอเพื่อนมากขึ้น

การให้ลูกได้ใช้เวลาเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน หรือได้เจอคนอื่นนอกจากคนในครอบครัวมากขึ้น จะทำให้ลูกได้รู้จักกับสังคมใหม่ๆ มีเพื่อนที่เล่นสนุกด้วยกันได้ มีผู่ใหญ่คนอื่น มีคุณพ่อคุณแม่ของเด็กคนอื่น และการให้ลูกได้เจอสิ่งแวดล้อมและผู้คนใหม่ๆ นอกจากจะช่วยลดอาการติดแม่แล้ว ยังช่วยให้พัฒนาทักษะการเข้าสังคมให้ลูกได้อีกด้วย
4. มีช่วงเวลาที่มีคุณภาพร่วมกับลูกเสมอ

การที่ลูกติดแม่มากเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะลูกรู้สึกว่าไม่ได้รับความรักความสนใจจากคุณแม่มากพอ เช่น คุณแม่ทำงานตลอดทั้งวัน จนไม่มีเวลาหันมาเล่นหรือพูดคุยกับลูกมากนัก ลูกจึงพยายามที่จะอยู่ใกล้ชิดและอยากมีเวลากับคุณแม่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ดังนั้น ไม่ว่าจะงานยุ่งแค่ไหน คุณแม่ก็ควรจัดสรรเวลาที่มีคุณภาพให้กับลูกน้อย ด้วยการวางมือจากงานและอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ มาใช้เวลาเล่นหรือพูดคุยกับลูกโดนไม่มีสิ่งรบกวน สักวันละ 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง เพื่อให้ลูกรู้ว่าเขาไม่จำเป็นต้องตามติดและใกล้ชิดคุณแม่ตลอดเวลา แต่เมื่อถึงเวลา คุณแม่จะเข้ามาหาและใช้เวลาที่มีคุณภาพกับเขาได้เสมอ
COMMENTS ARE OFF THIS POST