READING

ลูกชอบกัด ปัญหาทางอารมณ์ของเด็กเล็ก กับ 5 วิธีรับม...

ลูกชอบกัด ปัญหาทางอารมณ์ของเด็กเล็ก กับ 5 วิธีรับมือก่อนติดเป็นนิสัย

ลูกชอบกัด

คุณพ่อคุณแม่หลายคนสงสัย ทำไม ลูกชอบกัด โดยเฉพาะลูกในช่วงวัย 1-3 ขวบ ชอบคว้าของเล่นมากัด กัดเสื้อผ้า กัดสิ่งของ รวมไปถึงกัดคนอื่นด้วย

โดยทั่วไป พฤติกรรมชอบกัดของเด็กเล็ก มักมีสาเหตุสำคัญมาจากพัฒนาการทางร่างกาย เช่น ลูกคันเหงือก เพราะฟันน้ำนมเริ่มขึ้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้ผ้าสะอาดที่มีความเย็นเล็กน้อยให้ลูกกัด เพื่อช่วยลดอาการคันเหงือกได้แต่เมื่อลูกโตขึ้น หากพฤติกรรมของการกัดยังไม่หายไป หรือลูกใช้การกัดเพื่อแสดงอารมณ์ เช่น โกรธ ต้องการความสนใจ หรือเมื่อรู้สึกกลัว นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าลูกกำลังมีปัญหาด้านจิตใจและอารมณ์ได้

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องรู้วิธีการรับมือและแก้ปัญหา ลูกชอบกัด ก่อนที่จะสายเกินไป

1. ตั้งกฎให้ชัดเจน

biting_web_1

ในช่วงวัยที่ลูกยังมีพฤติกรรมชอบกัด คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างข้อตกลงว่า อะไรที่ลูกไม่ควรกัดหรือห้ามกัดอย่างเด็ดขาด รวมถึงแนะนำสิ่งที่ลูกควรทำ เช่น เมื่อรู้สึกคันเหงือก ให้ลูกลองไปเอาผ้าขนหนูมาเช็ดที่เหงือก หรือกัดได้เฉพาะของเล่นที่คุณพ่อคุณแม่เลือกแล้วว่าปลอดภัยที่จะนำเข้าปากเท่านั้น

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังก็คือ เมื่อลูกยังเผลอกัดสิ่งของ หรือทำให้คนอื่นเจ็บตัว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้การลงโทษที่รุนแรงต่อร่างกายและจิตใจลูก เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบและก้าวร้าวต่อไปได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ควรหยุดลูกด้วยคำพูดที่เรียบง่าย แต่จริงจัง และเด็ดขาด เพื่อให้ลูกเข้าใจการกัดที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนนั้นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

2. หาสาเหตุของการกัดให้เจอ

biting_web_2

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า พฤติกรรมชอบกัด นั้นอาจมีสาเหตุจากความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และปัญหาทางด้านจิตใจ ซึ่งหากเป็นเรื่องจิตใจแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยิ่งควรรีบหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อช่วยลูกแก้ปัญหาให้ตรงจุด

ตัวอย่างเช่น ลูกติดการกัดสิ่งของ เมื่อรู้สึกความเครียด สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือช่วยลดความเครียดให้ลูกด้วยการพูดคุยและช่วยแก้ปัญหาเรื่องที่ลูกกังวลใจ หรือพาไปทำกิจกรรมเพื่อคลายความเครียด ถ้าลูกใช้การกัดเพื่อต่อสู้หรือป้องกันตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตว่าลูกมีปัญหากับเพื่อนที่โรงเรียนหรือไม่ ลูกชอบแกล้งคนอื่น หรือเป็นฝ่ายถูกรังแก เพื่อช่วยแก้ปัญหาต่อไปค่ะ

3. เสริมแรงบวกให้มากขึ้น

biting_web_3

เมื่อลูกให้ความร่วมมือ ด้วยการพยายามลดพฤติกรรมการกัดให้น้อยลง หรือเลิกโดยเด็ดขาดได้ คุณพ่อคุณแม่ควรให้กำลังใจและชื่นชมลูกด้วยความจริงใจ เพราะการชื่นชมเป็นพฤติกรรมเชิงบวกที่ส่งเสริมให้ลูกรู้ว่าอะไรที่ทำแล้วจะได้รับคำชมหรือทำให้คุณพ่อคุณแม่ภูมิใจ เช่น เมื่อลูกโกรธเพื่อน แต่ไม่แสดงออกด้วยการกัดเหมือนที่เคยทำ คุณพ่อคุณแม่อาจให้คำชมว่า “วันนี้ลูกเก่งและควบคุมอารมณ์ได้ดี”

4. สอนวิธีการแสดงออกที่ถูกต้อง

biting_web_4

พฤติกรรมการกัดที่เกิดจากภาวะทางอารมณ์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกยังไม่รู้ว่าควรจะแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมาอย่างไรคุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนลูกให้รู้วิธีแสดงออกหรือรับมือกับอารมณ์ของตัวเองอย่างเหมาะสม

เช่น เมื่อลูกรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจเพื่อน ลองพูดบอกกับเพื่อนดีๆ ว่า “ไม่ชอบที่ทำแบบนี้” โดยไม่ต้องใช้การกัดหรือความรุนแรงในการตอบโต้ หรือเมื่อลูกรู้สึกกดดัน แทนที่จะหยิบสิ่งของขึ้นมากัด ลองขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ ด้วยการอธิบายว่าลูกไม่สบายใจเรื่องอะไร ต้องการให้พ่อแม่ช่วยอย่างไรบ้าง

5. ปรึกษาคุณหมอ

biting_web_5

หากคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ เช่น พยายามอย่างไรลูกก็ยังชอบกัด หรือยิ่งห้าม ลูกยิ่งมีพฤติกรรมต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าลูกกำลังมีปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่เข้าไม่ถึง และไม่สามารถแก้ให้ตรงจุดได้

การขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญหรือคุณหมอจึงเป็นอีกวิธีที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากปล่อยไว้นานอาจทำให้ลูกมีพฤติกรรมที่รุนแรงและแก้ไขยากมากขึ้นได้

อ้างอิง
kidshealth
parentsone
theasianparent
mali

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

COMMENTS ARE OFF THIS POST