READING

ลูกอ่านหนังสือไม่ออก : 5 เคล็ด (ไม่) ลับ ช่วยสอนให...

ลูกอ่านหนังสือไม่ออก : 5 เคล็ด (ไม่) ลับ ช่วยสอนให้ลูกอ่านหนังสือดีขึ้น

ลูกอ่านหนังสือไม่ออก

ฟัง พูด อ่าน เขียน เป็นทักษะด้านภาษาและการสื่อสารที่คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกได้เรียนรู้ตามช่วงวัยที่เหมาะสม โดยเฉพาะการอ่านและเขียน ที่หลายครอบครัวต้องการให้ลูกอ่านออกเขียนได้ให้เร็วที่สุด

แต่ความจริงแล้ว ปัญหา ลูกอ่านหนังสือไม่ออก ไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยอนุบาล ดังที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องต้องกันว่า เด็กๆ ควรจะอ่านหนังสือได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่อเริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 นั่นหมายความว่า คุณพ่อคุณแม่มีเวลาค่อยๆ ฝึกทักษะการอ่านให้กับลูกได้จนถึงช่วงวัย 7-8 ปี เลยทีเดียว

Steve Truch ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ The Reading Foundation (องค์กรที่ดำเนินโครงการเพื่อนักเรียนที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้) กล่าวว่า ช่วงวัย 7-8 ปี ของลูกถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลง หากถึงตอนนั้น คุณพ่อคุณแม่ยังพบปัญหา ลูกอ่านหนังสือไม่ออก นั่นแหละ คือเวลาที่จะต้องหันมาแก้ปัญหาการอ่านให้ลูกอย่างจริงจังได้

Timothy Shanahan ผู้เชี่ยวชาญด้านทักษะการอ่าน กล่าวว่า การอ่านมีผลต่อการเรียนและความสำเร็จของชีวิตในภายภาคหน้า มีวิจัยชิ้นหนึ่งพูดถึงความสำคัญของการอ่านเอาไว้ว่า ‘ทักษะการอ่านของเด็ก 7 ขวบ สามารถทำนายรายได้ของเด็กคนนี้ในอีก 35 ปีข้างหน้าได้’

จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนมาก มักมีความกังวลใจเกี่ยวกับทักษะการอ่านของลูก จนบางครั้งต้องใช้การบังคับให้ลูกฝึกอ่านหนังสือ เพราะคาดหวังผลลัพธ์ที่รวดเร็ว

แต่จะดีกว่าไหม ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีวิธีที่จะช่วยสอนให้ลูกอ่านหนังสือดีขึ้นได้ โดยไม่ต้องบังคับฝืนใจลูกอีกต่อไป

1. อ่านหนังสือให้ลูกฟัง

cantread_web_1

การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง เป็นวิธีที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ง่ายและมีประโยชน์กับลูกมาก เพราะนอกจากจะทำให้การอ่านเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขสำหรับลูกแล้ว ลูกยังจะได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ จากหนังสือ ไปพร้อมกับเห็นภาพและจดจำลักษณะของคำที่คุณพ่อคุณแม่อ่านให้ฟังบ่อยๆ ได้อีกด้วย

เทคนิคในการอ่านหนังสือให้ลูกฟังก็คือ คุณพ่อคุณแม่ควรอ่านออกเสียงให้ชัดเจนทุกคำ และอธิบายความหมายของคำใหม่ๆ ที่ลูกไม่เคยเห็นหรือเคยได้ยินมาก่อนให้ลูกเข้าใจด้วย

2. ชวนลูกพูดคุยบ่อยๆ

cantread_web_2

การอ่านเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับภาษาและการสื่อสาร ส่วนการฝึกให้ลูกสื่อสารด้วยการพูดคุยและรับฟังบ่อยๆ ก็ช่วยให้ลูกมีพัฒนาการและทักษะภาษาดีขึ้นได้

การพูดคุยกับลูก โดยเฉพาะบทสนทนาที่มีรูปประโยคสมบูรณ์ ไม่ซับซ้อน และเข้าใจง่าย เช่น ครอบครัวของเรามี 5 คน มีพ่อ มีแม่ มีพี่ๆ ของลูกสองคน และลูกเป็นคนที่ 5 จะช่วยให้ลูกคุ้นเคยกับการใช้คำพูดเพื่ออธิบายสิ่งต่างๆ ได้ดี ส่งผลให้ลูกสามารถเข้าใจประโยคหรือข้อความในหนังสือได้ดีขึ้นอีกด้วย

3. ชวนลูกหัดเขียนตามสิ่งที่พูด

cantread_web_3

คุณพ่อคุณแม่สามารถเพิ่มทักษะการอ่านให้ลูกได้ด้วยการเขียน เช่น ลองให้ลูกพูดชื่อสิ่งของที่ต้องการและเขียนชื่อสิ่งนั้นลงในกระดาษ โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยช่วยแนะนำและแก้ไขให้ถูกต้อง

เพราะการเขียน จะช่วยให้ลูกจดจำคำนั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น และเมื่อลูกเห็นคำที่ตัวเองเคยเขียนอยู่ในหนังสือเล่มไหน ก็จะสามารถอ่านออกมาด้วยความมั่นใจได้

4. การอ่านคือการเล่นสนุก

cantread_web_4

หากถูกบังคับให้อ่านหนังสือ ลูกก็จะรู้สึกว่าการอ่านหนังสือเป็นเรื่องยากและน่าเบื่อเกินไป  ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรบังคับ หรือใช้การอ่านหนังสือเป็นวิธีลงโทษลูก แต่ควรทำให้ลูกรู้สึกว่าการอ่าานเป็นเรื่องสนุก โดยเริ่มจากการเลือกหนังสือที่ลูกสนใจ ภาพสวย เนื้อหาสนุกสนาน หรือจะเป็นหนังสือที่มีฟังก์ชั่นเพิ่มเติม เช่น หนังสือนิทานป็อปอัพ หนังสือเสียง หนังสือที่มีเพลงประกอบ ก็จะช่วยให้ลูกรู้สึกตื่นเต้นไปกับการอ่านหนังสือมากยิ่งขึ้น

5. ทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน

cantread_web_5

การสร้างบรรยากาศการอ่านให้เกิดขึ้นภายในบ้านเป็นเรื่องสำคัญ เช่น คุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือให้ลูกเห็นเป็นประจำ และแบ่งเวลาให้กับการอ่านหนังสือให้ลูกฟังเสมอ

แต่ถึงอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรกดดันหรือบังคับให้ลูกอ่านหนังสือตลอดเวลา จนพลาดโอกาสที่จะได้ออกไปวิ่งเล่นสนุกนอกบ้าน เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกว่าการอ่านหนังสือ เป็นกิจกรรมที่น่าเบื่อหน่ายและรบกวนเวลาที่ควรได้ออกไปเล่นสนุกมากกว่าค่ะ

 

6 เทคนิค ชวนลูกอ่านหนังสืออย่างไร ให้ลูกรักการอ่านมากขึ้น
อ้างอิง
Reading Rockets

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST