หนึ่งในปัญหาที่หนักใจคุณพ่อคุณแม่หลายคนก็คือเมื่อลูกโตจนถึงวัยที่เริ่มมีพฤติกรรมต่อต้าน ดื้อ เถียง และไม่เชื่อฟังเหมือนก่อน
แต่หากสังเกตให้ดี การที่ ลูกไม่เชื่อฟัง หรือเชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่น้อยลง นอกจากจะเป็นไปตามพัฒนาการตามช่วงวัยแล้ว ยังอาจเป็นผลมาจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ด้วย
Cathy A. Collins จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า “การที่ ลูกไม่เชื่อฟัง ไม่ได้หมายความว่าลูกกำลังต่อต้านเสมอไป แต่อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่เข้าใจว่ากำลังถูกขอให้ทำหรือไม่ทำอะไรมากกว่า”
แล้วคุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร หรือจะรู้ได้อย่างไรว่าพฤติกรรมไหนของตัวเองที่เป็นปัจจัยทำให้ลูกเป็นนักฝ่าฝืนมากขึ้น เราชวนคุณพ่อคุณแม่มาสังเกตตัวเองไปพร้อมกันค่ะ
1. พ่อแม่ที่พูดไปบ่นไป
หนึ่งในพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ที่ยิ่งกระตุ้นทำให้ ลูกไม่เชื่อฟัง ก็คือการบ่นลูกมาเกินไป เพราะการบ่น อาจทำให้ลูกไม่เข้าใจสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการสื่อสารและไม่สามารถจับใจความสำคัญได้ว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องการอะไรกันแน่
ดังนั้น หากอยากให้ลูกเชื่อฟังควรพูดให้กระชับ เข้าใจง่าย และชัดเจนว่าต้องการให้ลูกทำอะไรและเพราะอะไร การให้เหตุผลกับลูก จะช่วยให้ลูกเข้าใจว่าทำไมถึงควรทำตามคำพูดหรือคำแนะนำของคุณพ่อคุณแม่ เช่น แม่อยากให้ลูกเก็บของเล่น เพราะถ้าของกระจัดกระจายลูกอาจจะเหยียบแล้วเจ็บได้
2. พ่อแม่ที่ห้ามลูกทุกอย่าง
คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยไหมว่าทำไมเวลาที่ห้ามไม่ให้ลูกทำอะไร ยิ่งพูด ก็เหมือนลูกจะยิ่งฝ่าฝืนและอยากทำมากขึ้น
ดังนั้น แทนที่จะคอยบอกลูกว่า อย่า! ไม่! หรือห้าม! ลองเปลี่ยนมาใช้คำพูดเชิงบวกและทำให้ลูกสามารถรับรู้โดยตรงมากขึ้น เช่น แทนที่จะบอกว่า “อย่าวิ่ง!” ลองเปลี่ยนมาพูดว่า “เดินช้าๆ ดีกว่านะคะ เพราะถ้าวิ่งแล้วหกล้ม ลูกก็จะเจ็บตัวได้” การพูดแบบให้เหตุผลจะทำให้ลูกเห็นภาพตาม เข้าใจเข้าใจ และสามารถทำตามที่คุณพ่อคุณแม่บอกด้วยความเต็มใจ
3. พ่อแม่ที่ใช้คำสั่งกับลูกมากเกินไป
พ่อแม่ที่ชอบออกคำสั่งหรือกำหนดข้อบังคับลูกมากเกินไป อาจทำให้ลูกรู้สึกว่าว่าตนเองขาดอิสระในการเลือกและไม่มีสิทธิ์ควบคุมชีวิตของตนเอง ส่งผลให้ลูกรู้สึกอยากฝ่าฝืนคำสั่ง และเกิดพฤติกรรมต่อต้านอำนาจ (oppositional behavior) มากขึ้นได้
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรลดการควบคุมลงและหันมาใช้การสื่อสารเชิงบวกมากขึ้น โดยให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเอง เช่น ลูกอยากทำการบ้านก่อนแล้วค่อยไปเล่นอย่างสบายใจ หรือออกไปเล่นก่อน แต่ว่าจะต้องรีบกลับมาทำการบ้านนะคะ
4. พ่อแม่ที่มีอารมณ์รุนแรง
การเลี้ยงดูด้วยการตะโกน ดุด่า หรือลงโทษอย่างรุนแรง อาจจะทำให้ลูกยอมทำตามคำสั่งของคุณพ่อคุณแม่ได้ในเวลานั้น แต่การเลี้ยงลูกด้วยอารมณ์รุนแรงก็จะเห็นผลที่น่าพอใจแค่เพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่กลับส่งผลเสียอย่างมหาศาลในระยะยาว เพราะนอกจากจะส่งผลต่อพัฒนาทางด้านอารมณ์และจิตใจของลูกแล้ว ยังทำให้ลูกมีแนวโน้มที่จะใช้อารมณ์และความรุนแรงในการจัดการปัญหาของตนเองเช่นเดียวกัน
ดังนั้น หากสงสัยว่าทำไมลูกถึงดื้อและไม่ค่อยเชื่อฟัง คุณพ่อคุณแม่อาจต้องลองมองย้อนกลับมาที่ตัวเราเองว่ากำลังมีพฤติกรรมที่ส่งเสริมให้ลูกอยากดื้อและต่อต้านมากขึ้นหรือเปล่าด้วยนะคะ
COMMENTS ARE OFF THIS POST