READING

ลูกโดนเพื่อนแกล้ง! ทำอย่างไร เมื่อลูกคนอื่นไม่น่าร...

ลูกโดนเพื่อนแกล้ง! ทำอย่างไร เมื่อลูกคนอื่นไม่น่ารักกับลูกเราเอาเสียเลย

ลูกโดนเพื่อนแกล้ง

ลูกโดนเพื่อนแกล้ง เป็นหนึ่งในปัญหาของเด็กที่เติบโตถึงวัยที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มพาลูกไปทำความรู้จักกับสังคมและโลกภายนอก การให้ลูกหัดเล่นและใช้เวลากับเด็กวัยใกล้เคียงกันเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญต่อการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการเข้าสังคมของลูก

แต่หากลูกเราไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคนฉันใด ลูกคนอื่นก็ไม่ได้น่ารักสำหรับ (ลูก) เราทุกคนฉันนั้น เพราะบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจพบว่า ลูกโดนเพื่อนแกล้ง แย่งของ เล่นด้วยวิธีที่รุนแรง หรือมีพฤติกรรมไม่ดีที่ลูกเราพยายามเลียนแบบอยู่บ่อยๆ

อยากให้ลูกเข้าสังคมก็อยาก แต่บางทีเพื่อนลูกก็ไม่น่ารักเอาเสียเลย แล้วพ่อแม่อย่างเราจะทำไงดีล่ะเนี่ย?!

1. ถามความรู้สึกลูกที่มีต่อเพื่อนของเขา

ถามความรู้สึก

คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยถามไถ่ความรู้สึกของลูกที่มีต่อเพื่อน โดยเริ่มด้วยคำถามปลายเปิดและไม่ชี้นำ เพื่อให้ลูกได้เล่าเรื่องราวของเพื่อนด้วยความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง แล้วค่อยถามว่าลูกชอบหรือไม่ชอบอะไรในตัวเพื่อนคนนี้ หรือมีอะไรที่ทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดใจที่จะเล่นกับเพื่อนคนนี้ต่อไปบ้างหรือเปล่า

เพราะบางครั้งลูกอาจไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกเพื่อนรังแกหรือทำไม่ดีใส่ แต่เป็นการเล่นและกระทบกระทั่งกันตามประสาเด็กๆ แต่ความไม่สบายใจของคุณพ่อคุณแม่ อาจมาจากความเป็นห่วงลูกมากเกินไปก็ได้ ดังนั้นทางที่ดี ลองคุยกับลูกว่ายังมีความสุขและเต็มใจที่จะเล่นกับเพื่อนคนนั้นต่อไปหรือเปล่า ส่วนคุณพ่อคุณแม่ก็คอยสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ ต่อไปก่อนก็ได้นะคะ

2. ถ้ามีปัญหาจริง ต้องลองพูดคุยให้ลูกเห็นปัญหา

ปัญหา

ถึงแม้บางครั้งเด็กๆ บอกว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่ขอให้เชื่อเถอะว่า ปัญหาบางอย่าง มีแต่ผู้ใหญ่หรือพ่อแม่อย่างเราเท่านั้นที่มองเห็น เพราะฉะนั้น หากคุณพ่อคุณแม่เฝ้าสังเกตการณ์จนเห็นแน่ชัดแล้วว่า ลูกกำลังจะมีปัญหาเพราะการเล่นหรือสนิทกับเพื่อนคนไหนแล้วละก็ การส่งสัญญาณและชี้ให้ลูกเห็นปัญหา ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้ลูกรู้จักระมัดระวังตัวเองได้ เช่น คุณแม่คิดว่าเพื่อนลูกเป็นคนใจร้อนและโมโหง่าย ดังนั้นเวลาลูกเล่นกับเขา แล้วเห็นว่าเขาเริ่มมีอารมณ์โกรธ ให้ลูกรีบเดินห่างออกมาก่อนนะคะ

3. ไม่พูดถึงเพื่อนลูกในแง่ร้ายให้ลูกฟัง

ไม่พูดแง่ร้าย

บางครั้งพ่อแม่อย่างเรา เมื่อเห็นเด็กคนอื่นโดยเฉพาะมีพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก ด้วยความกลัวว่าลูกจะทำตาม จึงรีบนำมาเตือนลูกและต่อว่าเพื่อนของลูกให้ลูกฟังรวมไปถึงอาจเลยเถิดไปพูดถึงครอบครัวของคนอื่นในแง่ร้ายอยู่บ่อยๆ

แต่นั่นคือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำ เพราะ Dr. Nicole Beurkens นักจิตวิทยาคลินิกกล่าวว่า การพูดเชิงลบเกี่ยวกับเพื่อนหรือครอบครัวของเพื่อนลูก จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว และส่งผลต่อไปยังความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับเพื่อน เพราะลูกจะรู้สึกถูกกดดัน ตักเตือน และเหมือนเป็นสัญญาณจากคุณพ่อคุณแม่ว่าไม่อยากให้เขาเล่นกับเพื่อนคนนี้ ซึ่งสำหรับเด็กๆ แล้ว เรื่องนี้อาจทำให้เขาลำบากใจได้

4. ช่วยลูกแก้ปัญหาร่วมกัน

ช่วยลูกแก้ปัญหา

หากพบว่าลูกรู้สึกอึดอัดและไม่มีความสุขกับการเล่นกับเพื่อนคนไหน เช่น ไม่ชอบที่เพื่อนมักจะตีแรงๆ ไม่ชอบเวลาที่เพื่อนวิ่งไล่หรือวิ่งหนี คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยลูกแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ด้วยการชวนกันคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้เพื่อนรู้ว่าลูกไม่ชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเพื่อนตีลูกอีก ลูกจะบอกกับเขาว่าอย่าตี เพราะลูกไม่ชอบเลยดีไหมคะ หรือถามว่าลูกมีแผนอย่างไรที่จะไม่ให้เพื่อนทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบอีก

การทำลักษณะนี้จะช่วยให้ลูกรู้จักคิดทบทวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และอาจจะหาทางแก้ไขให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนเป็นไปด้วยดี คุณพ่อคุณแม่ก็จะสบายใจขึ้นได้นะคะ

 

อ้างอิง
verywellfamily
psychologytoday
melbournechildpsychology

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST