READING

ลูกไม่มีเพื่อนเล่น: 4 เทคนิคส่งเสริมทักษะเข้าสังคม...

ลูกไม่มีเพื่อนเล่น: 4 เทคนิคส่งเสริมทักษะเข้าสังคมให้ลูกวัยอนุบาล

ลูกไม่มีเพื่อนเล่น

ปัญหา ลูกไม่มีเพื่อนเล่น ที่เกิดขึ้นกับลูกในวัยอนุบาล อาจสร้างความหนักใจให้คุณพ่อคุณแม่เมื่อต้องปล่อยให้ลูกเรียนรู้และเติบโตในสังคมโรงเรียนของเขา

โดยปกติแล้ว เด็กอายุ 3-4 ขวบ เป็นวัยที่เริ่มเรียนรู้การเข้าสังคมผ่านการเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกับเด็กคนอื่นในห้องเรียน แต่ธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กวัยนี้มักจะยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง และขาดทักษะที่จำเป็นในการเข้าสังคม เช่น การอดทนรอเมื่อต้องผลัดกันเล่นหรือการแบ่งปันของเล่นกับคนอื่น

แต่หากลูกสามารถเรียนรู้ทักษะการเข้าสังคมได้เร็ว ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อตัวเอง อย่างที่ Catherine Bagwell ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ Oxford College of Emory University ระบุว่า มิตรภาพและเพื่อน จะช่วยสร้างพลังงานเชิงบวกรอบด้าน ตั้งแต่พัฒนาการด้านอารมณ์ สังคม เรื่อยไปจนถึงสุขภาพจิต และการเรียนรู้ทางด้านวิชาการ

นอกจากนี้ การมีเพื่อน ยังเป็นส่วนสำคัญของการเติบโตทางความคิดของเด็กวัยอนุบาล ช่วยให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเองากการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง และการมีมิตรภาพที่ดีกับคนอื่นยังช่วยลดโอกาสถูกกลั่นแกล้ง และช่วยให้เด็กๆ รับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ดีขึ้น

โลกใบใหม่ของลูกเพิ่งเริ่มต้น อย่าให้การที่ ลูกไม่มีเพื่อนเล่น มาเป็นอุปสรรคการเรียนรู้ของลูก ด้วยการส่งเสริมให้ลูกมีทักษะทางสังคมด้วยเทคนิคดีๆ ดังนี้

1. แก้ปัญหา ไม่มีเพื่อนเล่น ด้วยการส่งรอยยิ้ม

makefriends_web_1

เมื่อลูกไปโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่สามารถแนะนำให้ลูกวัยอนุบาลทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ด้วยการเป็นฝ่ายเริ่มส่งยิ้มให้เพื่อนก่อน

จากผลการศึกษาเรื่องการปรับทัศนคติเชิงบวกของ Dr. David Lewis นักประสาทวิทยาชาวอังกฤษ และศาสตราจารย์จากSydney Medical School-Westmead ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า เมื่อใช้เครื่องสแกนสมองพบว่า รอยยิ้มมีพลังในเชิงบวกมากกว่าการได้รับเงินสดจำนวนมาก รอยยิ้มยังทำให้เกิดความผูกพัน ทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจ และนำไปสู่การเกิดมิตรภาพได้ในที่สุด

2. เล่นบทบาทสมมุติ

makefriends_web_2

การเล่นคือ การเรียนรู้ที่ดีที่สุด โดยเฉพาะเด็กวัยอนุบาล การเล่นบทบาทสมมติ จะช่วยให้ลูกเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่ต้องเจอล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี แรกเริ่มคุณพ่อคุณแม่อาจสวมบทเป็นเพื่อนใหม่ แล้วกระตุ้นให้ลูกลองคิดดูว่าควรเริ่มทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่คนนี้ยังไงดีนะ…

ถ้าลูกยังเขินอายไม่กล้าแสดงออก หรือไม่รู้ว่าจะเริ่มทำความรู้จักเพื่อนใหม่ยังไงดี คุณพ่อคุณแม่อาจเปลี่ยนเป็นใช้ตุ๊กตาหรือหุ่นยนต์ของเล่นช่วยจำลองสถานการณ์การเข้าหาเพื่อนใหม่ ด้วยการสวมบทบาทและแสดงคำทักทายง่ายๆ  เพื่อแสดงให้ลูกเห็นถึงวิธีการหรือการใช้ประโยคน่ารักๆ ในการทักทายเพื่อนใหม่

3. จัดกิจกรรมให้ลูกทำร่วมกับเด็กคนอื่น

makefriends_web_3

เด็กเล็กมักจะให้ความสนใจกับพฤติกรรมและคำพูดของคุณพ่อคุณแม่ แล้วนำมาลอกเลียนแบบ  ดังนั้นเพื่อให้ลูกวัยซนสามารถเรียนรู้การเข้าสังคม และพบปะกับเพื่อนใหม่ คุณพ่อคุณแม่อาจใช้การทำให้ลูกเห็นว่าเมื่อต้องเจอผู้คนใหม่ๆ เราสามารถสร้างมิตรภาพและความสัมพันธ์ได้อย่างไรบ้าง

โดยคุณพ่อคุณแม่อาจร่วมมือกับเพื่อนที่มีลูกวัยเดียวกัน จัดกิจกรรมรวมแก๊งฟันน้ำนม เพื่อให้เด็กๆ ได้มาสร้างความคุ้นเคยก่อนที่จะเล่นด้วยกัน ตามคำแนะนำของ Dale Walker ศาสตราจารย์ด้านการพัฒนาเด็กจากมหาวิทยาลัยแคนซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ควรพาเด็กๆ อาจจะเป็นลูกพี่ลูกน้องหรือเด็กในละแวกหมู่บ้าน ทำกิจกรรม playdate หรือการนัดกันออกมาเล่น เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ใช้เวลาสนุกสนานร่วมกัน

ความคิดเห็นนี้ตรงกับ Dr.Capanna-Hodge นักจิตวิทยา นักเขียนและนักบำบัดด้านสุขภาพจิต ที่สนับสนุนให้ผู้ปกครองสร้างกิจกรรมวันนัดสำหรับเด็กอย่างต่อเนื่อง โดยรวมตัวเด็กๆ ในที่ที่รู้สึกสบายใจและปลอดภัย เพื่อให้ได้ใช้เวลาเล่นกันอย่างเต็มที่ และยังอธิบายว่าเพิ่มเติมว่า การนัดรวมตัวให้เด็กๆ มาเล่นด้วยกัน คือกิจกรรมทางสังคม และเป็นวิธีที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้กฏทางสังคมอย่างชัดเจน เพื่อเป็นรากฐานที่ดีของการเข้าสังคมไปทั้งชีวิต

ศาสตราจารย์วอลเกอร์มีเทคนิคการจัดกิจกรรม Playdate ให้เด็กๆ สนุกและมีโอกาสพบเพื่อนใหม่ใกล้บ้านไว้ว่า ควรวางแผนล่วงหน้า นัดแนะกับกลุ่มผู้ปกครอง เตรียมเกมที่เด็กส่วนใหญ่ชื่นชอบและเตรียมอุปกรณ์ให้พอดีกับเด็กๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้เด็กๆ เกิดความสบายใจ และรู้สึกดีกับตัวเอง ที่สำคัญ หากเด็กๆ ยังเริ่มต้นเล่นด้วยกันไม่ได้ เพราะยังไม่คุ้นเคย คุณพ่อคุณแม่จะต้องช่วยกันกระตุ้นและคอยให้คำแนะนำเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกมากยิ่งขึ้น

4. พาลูกออกไปเจอสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ

makefriends_web_4

การพาลูกออกไปเจอสภาพแวดล้อมและผู้คนแปลกหน้าอยู่เสมอ จะช่วยให้ลูกคุ้นเคยและกล้าที่จะทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการชวนลูกไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต ไปค้างบ้านคุณตาคุณยาย ไปสนามเด็กเล่นในสวนสาธาสารณะ หรือการชวนลูกออกเดินทางท่องเที่ยว เพื่อให้ลูกได้เจอสถานการณ์ และผู้คนที่หลากหลาย สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มทักษะการเข้าสังคม ช่วยให้ลูกเรียนรู้เรื่องการปรับตัว และลดพฤติกรรมเก็บตัวจนกลายเป็นเด็กไม่มีเพื่อนไปได้

อ้างอิง
verywellfamily
childrensmedicalgroup
abbottfamily
babycenter
verywellfamily
psychologytoday

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST