READING

ลูกไม่ยอมเล่นของเล่นที่ซื้อให้: เพราะอะไรกันนะ!?...

ลูกไม่ยอมเล่นของเล่นที่ซื้อให้: เพราะอะไรกันนะ!?

ลูกไม่ยอมเล่นของเล่น

คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเคยมีประสบการณ์ซื้อของเล่นให้ลูก แต่ ลูกไม่ยอมเล่นของเล่น ที่ตั้งใจซื้อมาให้ ทั้งที่อุตส่าห์ตั้งใจเลือกอย่างดี ชิ้นนี้ก็ช่วยพัฒนาทักษะด้านนั้น ชิ้นนั้นก็พัฒนาทักษะด้านนี้ ชิ้นไหนไม่ชอบ ไม่เป็นไรคุณพ่อคุณแม่ไปหาซื้อชิ้นใหม่มาให้ก็ได้ มีของเล่นเยอะๆ จะน่าจะเสริมสร้างจินตนาการของลูกได้ดี

แต่… อาจไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไปค่ะ เพราะการมีของเล่นมากมาย แต่ ลูกไม่ยอมเล่นของเล่น ที่มีเลย ก็อาจไม่ได้ช่วยพัฒนาทักษะหรือส่งเสริมจินตนาการให้ลูกอย่างที่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจ การพยายามเพิ่มจำนวนของเล่นหรือหาของเล่นใหม่ๆ มาให้ลูกตลอดเวลาจึงอาจไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง

ดังนั้นเราลองมาสำรวจหาสาเหตุที่แท้จริงว่า ลูกไม่ยอมเล่นของเล่น เพราะอะไร แล้วลองหาทางปรับปรุงและแก้ไขที่ต้นเหตุกันดีกว่าค่ะ

1. มีตัวเลือกมากเกินไป

notplaywithtoys_web_1

การมีของเล่นมากเกินไปอาจทำให้เด็กไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ เพราะเด็กๆ จะเปลี่ยนความสนใจตามสิ่งเร้ารอบตัวไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็กลายเป็นไม่สามารถโฟกัสอยู่กับของเล่นชิ้นไหนได้นาน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องเตรียมของเล่นจำนวนมากไว้ให้ลูกเล่น แต่อาจลองเปลี่ยนเป็นหาของใกล้ตัว เช่น ลังกระดาษใบใหญ่ๆ เพียงชิ้นเดียว แล้วหาวิธีการที่หลากหลายมาเล่นสนุกกับลูก อาจจะสมมติลังเป็นบ้าน เป็นรถ เป็นเรือ หรือหลุมหลบภัย ให้เด็กๆ ได้ใช้จินตนาการและมีเวลาจดจ่ออยู่กับการมีของเล่นชิ้นเดียวบ้างก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรนะ

2. พื้นที่ในการเล่นไม่เพียงพอ

notplaywithtoys_web_2

เด็กๆ ไม่ได้ต้องการพื้นที่กว้างใหญ่ในการเล่น แต่เด็กๆ ต้องการมีพื้นที่โล่งๆ หรือที่ว่างพอให้พวกเขาได้ใช้จินตนาการ สำรวจ และสร้างสรรค์การเล่นในแบบของตัวเอง

คุณพ่อคุณแม่อาจจะเตรียมพื้นโล่งๆ ไว้ให้ลูกนั่งเล่นของเล่น หรือเก็บของลงจากโต๊ะ เพื่อให้ลูกใช้พื้นที่บนโต๊ะได้เต็มที่โดยไม่ต้องกังวลว่าคุณพ่อคุณแม่จะคอยห้ามไม่ให้ไปโดนข้าวของตกแตกเสียหาย เมื่อมีพื้นที่ที่เล่นได้อย่างสบายใจ เด็กๆ ก็จะหันมาใส่ใจของเล่นมากขึ้นค่ะ

3. การมีส่วนร่วมของพ่อแม่

notplaywithtoys_web_3

การปล่อยลูกทิ้งไว้กับของเล่น อาจทำให้ลูกรู้สึกถึงช่วงเวลาแห่งการถูกทอดทิ้งมากกว่าที่จะเห็นการเล่นของเล่นเป็นเรื่องสนุก แต่ในทางกลับกัน การที่คุณพ่อคุณแม่คอยเข้ามามีส่วนร่วมกับการเล่นของลูกมากเกินไป ก็อาจทำให้ลูกอึดอัดและไม่อยากเล่นต่อไปได้

คุณพ่อคุณแม่จึงควรมีส่วนร่วมกับการเล่นของลูกอย่างเหมาะสม ให้โอกาสลูกได้เล่นและเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่ไม่ปล่อยปละละเลยจนลูกรู้สึกว่าต้องเล่นอย่างโดดเดี่ยว อาจใช้วิธีการง่ายๆ เช่น เลือกของเล่นร่วมกัน และคอยพูดคุยโดยไม่ขัดขวางจินตนาการในการเล่นของลูกเป็นระยะๆ

4. ของเล่นไม่ตรงกับความสนใจและช่วงวัยของลูก

notplaywithtoys_web_4

เด็กทุกคนมีความชอบและความสนใจของตัวเอง ของเล่นที่เด็กคนอื่นชอบ ลูกเราอาจจะไม่ชอบ แต่ของเล่นที่ไม่ชอบในวันนี้ ผ่านไปหนึ่งเดือนลูกอาจจะชอบขึ้นมาก็ได้

คุณพ่อคุณแม่จึงต้องเลือกของเล่นตามความชอบ ความสนใจ และช่วงวัยของลูกในเวลานั้นๆ เช่น ลูกไม่ยอมเล่นของเล่นที่ยากเกินความสามารถของตัวเองในวันนี้ก็ไม่เป็นไร ลองเก็บไว้แล้วค่อยเอาออกมาให้ลูกลองเล่นใหม่ในเวลาที่เหมาะสมก็ยังไม่สายนะคะ

อ้างอิง
parents
waytoplay.toys
greenpinatatoys

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST