READING

ฝึกลูกให้เล่นคนเดียว: 4 เทคนิคสอนลูกให้รู้จักเล่นค...

ฝึกลูกให้เล่นคนเดียว: 4 เทคนิคสอนลูกให้รู้จักเล่นคนเดียว ไม่ต้องร้องเรียกแม่ทั้งวัน

ฝึกลูกให้เล่นคนเดียว

คุณพ่อคุณแม่ที่อยากมีเวลาส่วนตัวแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างวัน ก็พยายามแล้วพยายามเล่า ที่จะเบี่ยงเบนความสนใจลูกด้วยการหาของเล่นหรือกิจกรรมมาลอง ฝึกลูกให้เล่นคนเดียว บ้าง

Kathy Hirsh-Pasek นักจิตวิทยา และผู้เขียนหนังสือ Einstein Never Used อธิบายว่า การเปิดโอกาสให้ลูกวัยอนุบาลเล่นอย่างอิสระได้ด้วยตัวเอง คือวิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยสร้างให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ และช่วยฝึกฝนทักษะการคิดวิเคราะห์ให้กับเด็กได้ และในทางอ้อมยังช่วยลดความเครียด และรักษาสุขภาพจิตใจของคุณแม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานอย่างอื่นไปด้วย

แต่ในความเป็นจริง ลูกอาจจะนั่งเล่นคนเดียวได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ แล้วก็ร้องเรียกให้คุณพ่อคุณแม่เข้ามาเล่นด้วยเสมอ แต่เพื่อเป็นการ ฝึกลูกให้เล่นคนเดียว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อพัฒนาการของลูกและคุณภาพชีวิตของคุณพ่อคุณแม่ เรามี 4 เทคนิค ที่จะช่วยฝึกทักษะให้ลูกสามารถเล่นคนเดียว โดยไม่ต้องเรียกหาคุณพ่อคุณแม่ตลอดเวลาได้มาฝากค่ะ

1. ให้เวลาลูกเสมอ

Inner_ฝึกลูกให้เล่นคนเดียว_01 (1)

จากคำแนะนำของ Linda Acredolo ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านจิตวิทยาจาก University of California at Davis และนักวิชาการด้านการพัฒนาเด็ก อธิบายว่า การเล่นอย่างอิสระไม่ได้หมายความว่า ลูกจะสามารถเล่นคนเดียวได้ในทันที

เด็กบางคนสามารถเล่นคนเดียวได้ง่ายในขณะที่เด็กอีกหลายคนยังต้องการให้คุณแม่อยู่ใกล้ๆ เสมอ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับพัฒนาการตามช่วงวัยของลูก เช่น เด็กอายุ 1 ขวบ จะมีสมาธิจดจ่อได้หรือเล่นคนเดียวอยู่คนเดียวได้เพียง 5-8 นาที แต่สำหรับเด็กอายุ 2 ขวบครึ่งขึ้นไป จะสามารถเล่นคนเดียวได้นานกว่า 10 นาที หรือนานได้ถึงเกือบชั่วโมงเลยทีเดียว

#นั่งเป็นเพื่อนก่อน เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับลูกได้ใช้ความคิดอยู่กับตัวเองได้นานขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มต้นได้ด้วยการนั่งเงียบๆ อยู่ข้างๆ ระหว่างที่ลูกกำลังเล่น เมื่อเห็นว่าลูกเร่ิมสนใจการเล่นตรงหน้าอย่างใจจดใจจ่อแล้ว ค่อยขยับออกไปนั่งอีกมุมหนึ่งของห้อง แต่ยังคงอยู่ในสายตาของลูก และเมื่อลูกเริ่มคุ้นเคย คุณแม่ก็จะสามารถย้ายไปนั่งดื่มกาแฟพักบนโซฟา หรือทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ของตัวเองได้อย่างสบายใจ

#ห้ามย่องหนีลูกไปเฉยๆ สำหรับลูกที่อยู่ในวัยอนุบาล Chaya Kulkarni ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมสุขภาพจิตทารกและจิตระยะแรก (IEMHP) แห่งโรงพยาบาลเด็กป่วย (SickKids) ประเทศแคนาดา ให้คำแนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่ควรบอกลูกตามตรงเมื่อต้องการเดินไปทำธุระที่อื่น เช่น “คุณแม่จะไปชงกาแฟที่ห้องครัว แล้วจะรีบกลับมานะ” และทำให้ลูกเห็นว่าคุณแม่รีบกลับมาตามที่ตกลงกันไว้ ลูกก็จะเกิดความเชื่อใจและสบายใจ ไม่ต้องกังวลใจว่าคุณพ่อคุณแม่จะหนีหายไปเฉยๆ

#ชมเชยลูก เมื่อลูกเล่นสนุกคนเดียวได้ ลองชมเชยลูกด้วยคำว่า “แม่ชอบที่ลูกเล่นคนเดียวได้จริงๆ ลูกเยี่ยมมากเลยจ้ะ” แล้วลองสังเกตได้เลยค่ะว่า ครั้งต่อไป ลูกจะสามารถเล่นคนเดียวได้ดีขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน

2. ให้ลูกมีอิสระในการเล่น

Inner_ฝึกลูกให้เล่นคนเดียว_02 (1)

#ลดคำว่าอย่า ความสุขของการเล่น คือการได้เล่นอย่างอิสระ ดังนั้น ก่อนที่จะปล่อยให้ลูกเล่นคนเดียว คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมพื้นที่ให้ลูกเล่นได้อย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันอันตรายระหว่างที่ลูกอาจไม่ได้อยู่ในสายตา และทำให้ไม่ต้องคอยเอ่ยปากห้าม หรือคอยเตือนไม่ให้ลูกเล่นอย่างอิสระ

เพราะในระหว่างที่ลูกกำลังสนุกกับการการเล่น หากคุณพ่อคุณแม่คอยห้าม หรือออกคำสั่งกับลูกมากเกินไป ก็จะทำให้การเล่นไม่ใช่กิจกรรมที่สนุกสำหรับลูกอีกต่อไป

#เพิ่มช่องว่างของความคิด งานวิจัยชิ้นหนึ่งจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ พบว่าเด็กๆ มักจะคิดหาวิธีเล่นของเล่นชิ้นเดิม จากที่เคยเล่นตามขั้นตอนที่คุณครู คุณพ่อคุณแม่แนะนำไว้ เมื่อลูกอยู่ตามลำพังกับของเล่นชิ้นเดิม เขาจะเล่นในรูปแบบใหม่ ที่ทำให้เซอร์ไพรส์คุณพ่อคุณแม่ได้อย่างแน่นอน

3. เปิดโอกาสให้ลูกสนุกกับ ‘สิ่งของที่ไม่ใช่ของเล่น’

Inner_ฝึกลูกให้เล่นคนเดียว_03 (1)

Georgene Troseth รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาในภาควิชาจิตวิทยาและการพัฒนามนุษย์มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ อธิบายว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เด็กๆ มีสมาธิกับการเล่นคนเดียวได้ คือ เปิดโอกาสให้ลูกเล่นในสิ่งที่ตัวเองสนใจ แม้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ทำมาเพื่อเป็นของเล่นสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เช่น ตะหลิวไม้ แก้วพลาสติก หรือแม้แต่แปรงแต่งหน้าของคุณแม่ นั่นเป็นเพราะในช่วงวัยหนึ่ง เด็กเล็กจะสนุกกับการเล่นเลียนแบบกิจวัตรของคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น เราอาจต้องปล่อยให้ลูกได้ใช้จินตนาการกับสิ่งของที่ไม่ใช่ของเล่นดูบ้างนะคะ

4. เก็บของเล่นเก่า เพื่อทำให้เป็นของเล่นใหม่ (อีกครั้ง)

Inner_ฝึกลูกให้เล่นคนเดียว_04 (1)

มีความเป็นไปได้ว่า การที่ลูกไม่ชอบเล่นคนเดียว เพราะของเล่นที่มีมากเกินไป หรือมีตัวเลือกมากเกินไปจนเลือกไม่ถูก ลูกจึงต้องการให้คุณพ่อคุณแม่มาช่วยเลือก และร่วมเล่นไปด้วยกัน

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ลองใช้วิธีเก็บของเล่นส่วนหนึ่งใส่กล่องปิดไว้ ผ่านไปสองสามสัปดาห์ จึงนำออกมาให้ลูกเล่นใหม่ วิธีนี้จะทำให้ช่วยสร้างความแปลกใหม่ให้กับลูกได้อีกครั้ง จนสามารถนั่งเล่นคนเดียวได้นานขึ้น

 

—อ่านบทความ: 4 เหตุผลที่คุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้ลูกได้เล่นคนเดียวบ้าง

อ้างอิง
parents
todaysparent

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST