ตอนลูกยังเล็ก คุณพ่อหลายคนคงเคยนึกน้อยใจที่ลูกรักดูเหมือนจะไม่ค่อยให้ความไว้วางใจในตัวคุณพ่อ เพราะนอกจากจะชอบเกาะติดคุณแม่ ร้องเรียกแต่คุณแม่ แล้วลูกยังดูเหมือนจะชอบเล่นกับคุณแม่มากกว่า การปล่อยให้ ลูกเล่นกับพ่อ เหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไรนัก
แต่พอเริ่มเข้าสู่วัยอนุบาล ลูกก็จะเริ่มมีรูปแบบการเล่นที่เปลี่ยนไป จากที่ชอบชวนคุณแม่เล่นเป็นประจำ ก็เริ่มชอบเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน เล่นของเล่นคนเดียว และเริ่มสนุกกับการได้เล่นกับคุณพ่อมากเป็นพิเศษ
นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของคุณพ่อและลูกน้อย เพราะการได้เล่นกับลูก ได้พูดคุยและหัวเราะไปพร้อมกับลูก จะช่วยให้สายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อลูกใกล้ชิดและแนบแน่นยิ่งขึ้น
องค์การยูนิเซฟอธิบายว่า การให้ ลูกเล่นกับพ่อ เป็นกลยุทธ์สำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก เพราะการเล่นกับพ่อเต็มไปด้วยความสนุกสนาน มีการโต้ตอบ ทำซ้ำ และการมีส่วนร่วมในทุกด้าน รวมถึงกิจกรรมที่ลูกเล่นกับพ่อจะช่วยพัฒนาทักษะรอบด้าน ทั้งในทางกายภาพ อารมณ์ จิตใจ สังคม และทักษะชีวิตให้กับลูกได้
ตรงกับการรวบรวมข้อมูลของ Mary Beth Nierengarten นักเขียนบทความทางการแพทย์ ได้กล่าวไว้ในบทความ Fathers’ influence on development and well-being of children (อิทธิพลของพ่อที่มีต่อพัฒนาการและความเป็นอยู่ที่ดีของลูก) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Contemporary Pediatrics Journal ระบุว่า คุณพ่อที่เล่นและมีส่วนร่วมเลี้ยงดูลูกตั้งแต่ช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ไปจนถึงลูกช่วงปฐมวัย มีส่วนช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางจิตใจและการเข้าสังคมที่ดี และยังส่งผลต่อพฤติกรรมเชิงบวกในทุกช่วงอายุได้
หากคุณพ่อยังไม่แน่ใจว่า การเล่นกับลูกจะส่งผลได้มากแค่ไหน นี่คือ 4 ผลลัพธ์ฉบับรวบรัด ที่จะทำให้คุณพ่ออยากรีบกลับบ้านมาเล่นกับลูกมากขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ
1. ช่วยกระตุ้นให้ลูกพูดเก่ง
#ลูกพูดเก่ง Craig F. Garfield ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์และสังคมศาสตร์การแพทย์ Northwestern University Feinberg School of Medicine ในชิคาโก กล่าวว่า ลูกน้อยรักเสียงของคุณแม่ แต่เรียนรู้คำศัพท์จากคุณพ่อ เพราะเด็กเล็กจะมีพัฒนาด้านการใช้ภาษาและการพูดได้ดีเมื่อเล่นกับพ่อ เนื่องจากคุณแม่ที่ทำหน้าที่เลี้ยงลูกเป็นหลัก ทำให้ลูกคุ้นชินกับคำพูดและสำนวนของคุณแม่ แต่ในทางกลับกัน คำพูด วิธีสื่อสารแบบโต้ตอบ รวมไปถึงสำนวนของคุณพ่อ (ที่ทำงานนอกบ้านและมีเวลาสื่อสารกับลูกน้อยกว่า) จะเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับลูกเสมอ เช่นเดียวกับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนิวเจอร์ซีย์ ในปี 2010 ระบุว่า จากการศึกษาครอบครัวในชุมชนชนบทที่มีรายได้น้อย พบว่า คุณพ่อที่ขี้เล่น (ทั้งทางกายภาพและการสื่อสาร) และชอบเล่นกับลูกตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ส่งผลให้เด็กสามารถเรียนรู้ภาษาได้ดีขึ้นเมื่ออายุได้ขวบขึ้นไป และสามารถพูดเก่ง สื่อสารคล่องได้มากยิ่งเมื่ออายุครบ สามขวบ
2. เสริมสร้างความแข็งแกร่งแต่ไม่ก้าวร้าว
#ลูกแข็งแรง คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตหรือไม่ว่า ทำไมลูกวัย 2-5 ขวบ ถึงมีวิธีการเล่นกับคุณพ่อ แตกต่างจากการเล่นกับคุณแม่ เช่น เมื่อลูกเล่นกับพ่อ จะดูมีพลัง ตื่นเต้น ดุดัน และกลัวที่จะเจ็บตัวน้อยลง
ดร. การ์ฟิลด์ ยังอธิบายว่า เพราะลูกรู้ว่า หากเล่นกับคุณแม่ ส่วนใหญ่เล่นแบบเชิงสร้างสรรค์เน้นการใช้สมาธิ ตรงกันข้ามลูกรู้ว่าสามารถเล่นเกมที่เน้นการเคลื่อนไหวและใช้พลังกับคุณพ่อได้ ซึ่งการเล่นแบบนี้จะทำให้ร่างกายของลูกแข็งแรง และมีหัวใจที่แข็งแกร่ง
ทริกเล็กๆ ของการเล่นแบบปะทะระหว่างลูกกับคุณพ่อก็คือ การเปลี่ยนกฎของเกมได้ในทันที เพื่อให้ลูกยังคงรู้สึกสนุก ทั้งที่กำลังถูกบังคับให้ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว วิธีเล่นแบบนี้จะช่วยเพิ่มทักษะการคิด การจัดการอารมณ์ การประเมินความเสี่ยง การตัดสินใจ และฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กับลูกได้
3. ช่วยให้ลูกเรียนรู้ได้เก่งขึ้น
#ลูกสนุกกับการเรียนรู้ Jennifer St George อาจารย์อาวุโสแห่ง มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า การที่ลูกปฐมวัยเล่นกับคุณพ่อ จะทำให้ลูกรู้สึกถึงความรัก ความอบอุ่น ทำให้เกิดกำลังใจในการเรียนรู้รอบด้าน และเมื่อถึงวัยประถม ลูกจะสนุกไปกับวิชาเรียน ทำให้ผลการเรียนดี สุขภาพจิตดี และสามารถปรับตัวในโรงเรียนได้ดีตามวัย
4. เติบโตเป็นหนุ่มสาวที่จิตใจดี
#ลูกเติบโตอย่างตั้งใจ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์ พบว่า หากคุณพ่อมีการเล่นที่มีคุณภาพกับลูกตั้งแต่ยังเล็ก จะส่งผลดีต่อลูก โดยเฉพาะเมื่อลูกอยู่ในช่วงวัยก่อนวัยรุ่น จะเริ่มคิดเป็น รักตัวเองเป็น รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และสามารถเรียนรู้ ปรับตัว เพื่อใช้ชีวิตของตัวเองได้ดียิ่งขึ้นเมื่ออายุ 16 ปีขึ้นไป
และผลการศึกษายังระบุเพิ่มเติมว่า คุณพ่อที่มีส่วนร่วมในการเล่นและเลี้ยงลูกเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง จะมีผลต่อการพัฒนาการทางด้านอารมณ์ของลูก เมื่อโตขึ้น ลูกจะมีพฤติกรรมเชิงลบน้อยลง ทำให้มีความสุขในชีวิตหนุ่มสาวของตัวเองมากขึ้น
COMMENTS ARE OFF THIS POST