READING

ลูกใจดีมากเกินไป อาจหมายความว่าลูกกำลัง…...

ลูกใจดีมากเกินไป อาจหมายความว่าลูกกำลัง…

too kind

เห็นชื่อหัวข้อแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจจะเริ่มแปลกใจว่า เอ๊ะ ลูกเป็นเด็กใจดีแล้วยังไง ไม่ดีตรงไหน มีอะไรต้องเป็นห่วงกับการที่ลูกใจดีอย่างนั้นเหรอ…

เรื่องมันเป็นอย่างนี้ค่ะ Dr. Les Barbanell นักเขียนและนักจิตวิทยา แห่ง Northern Jersey เคยเสนอทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจเอาไว้ว่า ‘คนที่ใจดีกับคนอื่นเกินไป มักจะเป็นคนที่รู้สึกขาดบางอย่างในชีวิต อาจผ่านการโดนดูถูก ถูกด้อยคุณค่าจากคนรอบข้าง หรือเป็นคนที่มีความกังวลมากกว่าคนอื่น’

และต่อมา ผลลัพธ์ของการเป็นคนใจดีมากเกินไป ก็คือ การเป็นคนที่ไม่สามารถปฏิเสธความต้องการของคนอื่น แม้จะเป็นเรื่องที่ทำให้ตัวเองลำบากหรือฝืนใจ เพราะกลัวว่าปฏิเสธไปแล้วจะไม่ได้รับการยอมรับ หรือไม่มีค่าในสายตาคนคนนั้น ซึ่งจะกลายเป็นต้นเหตุของการสร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองได้

ดังนั้น ไม่แปลกที่คุณพ่อคุณแม่จะอยากเห็นลูกเป็นเด็กที่ใจดี มีเมตตาอารีต่อคนรอบข้าง  แต่หากลูกเป็นเด็กที่ใจดีกับคนอื่นมากเกินไป จนกลายเป็นนำความเดือดร้อนหรืออึดอัดใจมาให้ตัวเอง นั่นอาจเป็นสัญญาณบอกได้ว่า ลูกกำลังขาดทักษะบางอย่างในการดำเนินชีวิต ดังนี้

1. ลูกขาดทักษะในการปฏิเสธ

tookind_web_1

นิสัยหนึ่งของเด็กใจดีคือการเป็นคนชอบแบ่งปันสิ่งของ และชอบให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่การที่ลูกใจดีกับคนอื่นมากเกินไป อาจทำให้ถูกคนอื่นเอาเปรียบ เช่น ขอสิ่งของจากลูกโดยไม่จำเป็นและลูกไม่เต็มใจ ขอแซงคิว ขอให้ลูกช่วยทำการบ้านให้ ถ้าลูกตกลงที่จะตามใจเพื่อนทุกอย่าง นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่าลูกกำลังขาดทักษะการปฏิเสธ เพราะกลัวเพื่อนโกรธ หรือไม่รู้จะปฏิเสธอย่างไรดี จึงลงเอยด้วยการยินยอมตามเพื่อนทุกอย่าง

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้ว่าการใจดีกับคนอื่นเป็นเรื่องที่ดี แต่ลูกต้องรู้จักกล้าปฏิเสธในสิ่งที่ลูกไม่เห็นด้วยหรือไม่เต็มใจที่จะทำ เช่น ตอบว่า ไม่, ไม่ได้, ไม่เอา หรือไม่ทำ พร้อมอธิบายเหตุผลของตัวเอง และมั่นคงต่อการปฏิเสธนั้นด้วย

2. ลูกขาดทักษะในการแก้ปัญหา

tookind_web_2

ถ้าหากว่าลูกกำลังเล่นของเล่นชิ้นหนึ่ง แล้วมีเพื่อนมาขอเล่นด้วย การที่ลูกส่งของเล่นของตัวเองให้เพื่อนเลยทันที คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าเป็นเพราะลูกใจดีรู้จักแบ่งของเล่นให้เพื่อน แต่ในอีกด้านนึง พฤติกรรมใจดีของลูกอาจมาจากการที่ลูกขาดทักษะในการแก้ไขปัญหา เช่น ไม่จำเป็นต้องให้ของเล่นกับเพื่อนทันที แต่สามารถบอกให้เพื่อนรอและผลัดกันเล่นก็ได้ หรือชวนเพื่อนเล่นไปพร้อมกันก็ได้

3. ลูกขาดทักษะเรื่องการรักษาสิทธิ์ของตัวเอง

tookind_web_3

การสอนให้ลูกรู้จักเคารพสิทธิ์ของผู้อื่นเป็นเรื่องสำคัญ เ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมที่จะสอนลูกให้รักษาสิทธิ์ของตัวเองด้วย

คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกเข้าใจว่า การเป็นคนใจดีไม่ใช่การยอมให้คนอื่นละเมิดสิทธิ์ของเรา เช่น ถ้าเพื่อนขอบอกว่า อยากได้ของเล่นของลูกกลับไปเล่นที่บ้าน ลูกมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจว่าจะให้หรือไม่ให้ก็ได้ เพราะของเล่นนั้นเป็นสิทธิ์ของลูก และถ้าลูกยินดีให้เพื่อนเอากลับไป ก็ควรจะมีข้อตกลงเพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวเอง เช่น เอามาคืนวันไหน หรือต้องรักษาของอย่างไรบ้าง

4. ลูกขาดความมั่นใจในตัวเอง

tookind_web_4

เด็กๆ ที่ไม่กล้าปฏิเสธหรือตามใจเพื่อนทุกอย่าง อาจมาจากความกลัวว่าเพื่อนจะไม่รัก ไม่เล่นด้วย หรือโดนกลั่นแกล้ง จึงยอมทำตามเพื่อนทุกอย่าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความที่ลูกไม่มีความมั่นใจในตัวเอง และอาจนำไปสู่การเป็นคนที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเองได้

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเอง กล้าปฏิเสธเพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวเอง โดยไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้รับการยอมรับ และลูกสามารถบอกความต้องการของตัวเองว่าอยากทำหรือไม่อยากทำอะไรกับคนอื่นๆ และคุณพ่อคุณแม่ได้เสมอ

 

อ้างอิง
rakluke
honghongworld

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST