ไม่ใช่แค่การเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ แต่การเลี้ยงดูและดูแลให้ลูกเติบโตอย่างมีความสุข ก็ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดสำหรับคุณพ่อคุณแม่เช่นกัน
แต่ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม วิธีการเลี้ยงดูและความเข้มงวดในแนวคิดบางอย่างที่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจหรือคิดว่าดีสำหรับลูก อาจกำลังทำให้ ลูกไม่มีความสุข โดยไม่รู้ตัวได้
Amy Morin นักจิตวิทยาและอาจารย์สอนจิตวิทยาแห่ง Northeastern University กล่าวว่า การกระทำ คำพูด ทัศนคติ รวมไปถึงความเชื่อที่พ่อแม่มีต่อสิ่งต่างๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพและการใช้ชีวิตของลูก
ดังนั้น ถึงแม้จะเต็มไปด้วยความหวังดี แต่คุณพ่อคุณแม่อาจต้องทบทวนและเฝ้าระวังการปลูกฝังแนวคิดและความเชื่อที่ตัวเองคิดว่าดี ว่ากำลังกลายเป็นการคาดหวัง กดดัน และตีกรอบ จนทำให้ ลูกไม่มีความสุข ใช่หรือเปล่า…
เราจึงรวบรวมตัวอย่างแนวคิดของคุณพ่อคุณแม่ ที่อาจมีส่วนในการทำลายความสุขของลูกโดยไม่รู้ตัว มาย้ำเตือนคุณพ่อคุณแม่ทบทวนกันดูค่ะ
1. การผิดพลาด คือความล้มเหลวในชีวิต
คุณพ่อคุณแม่ย่อมรู้สึกผิดหวัง เมื่อลูกทำอะไรผิดพลาด แต่การสอนให้ลูกคิดว่าผิดพลาดถือเป็นความล้มเหลวในชีวิต อาจกำลังขัดขวางการเรียนรู้ในช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิตลูก
แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ลองเปลี่ยนความคิดตัวเอง และทำความเข้าใจว่าว่าความผิดพลาดก็เหมือนขั้นบันไดที่จะทำให้ลูกเรียนรู้เส้นทางสู่ความสำเร็จ และความผิดพลาดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ก็จะช่วยให้ลูกไม่กลัวที่จะผิดพลาดและสนุกกับการกล้าคิดกล้าทำอะไรใหม่ๆ
2. ต้องเป็นที่ยอมรับของทุกคน
คุณพ่อคุณแม่บางคนมีความเชื่อและยึดมั่นในบรรทัดฐานหรือค่านิยมที่สังคมกำหนดให้ เช่น มีลูกสาวต้องเลี้ยงให้เป็นเด็กเรียบร้อย มีลูกผู้ชายต้องสอนให้เข้มแข็งและเล่นกีฬาได้ จึงจะเป็นที่ยอมรับและชื่นชมของคนอื่น
แต่ความจริงแล้ว หากคุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ลูกเป็นตัวของตัวเองและรับฟังความต้องการของลูกมากกว่าให้คุณค่าลูกขึ้นอยู่กับคำตัดสินของคนอื่น นอกจากจะทำให้ลูกมีความสุขมากขึ้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังจะได้เห็นลูกเติบโตอย่างมีคุณภาพในแบบของตัวเองอีกด้วย
3. แผนของคุณพ่อคุณแม่ดีที่สุดสำหรับลูก
คุณพ่อคุณแม่หลายคนวางแผนชีวิตให้ลูกตั้งแต่เล็ก เรื่อยไปจนถึงอาชีพในอนาคต เพราะเชื่อว่าจะทำให้การใช้ชีวิตของลูกง่ายขึ้น แต่การให้ลูกทำตามแผนการของคุณพ่อคุณแม่ โดยไม่มีการยืดหยุ่นหรือปรับเปลี่ยนตามความต้องการของลูก กลับยิ่งเป็นการสร้างความเครียดและความคาดหวังอันยิ่งใหญ่ของคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกแทน
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรเปลี่ยนการวางแผนที่รัดกุมเป็นการให้คำแนะนำ สนับสนุนทางที่ลูกเลือก และปล่อยให้ลูกได้มีอิสระในชีวิตของตัวเอง โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยให้กำลังอยู่ข้างๆ เสมอ
4. เดี๋ยวทุกอย่างก็ดีขึ้นเอง
หนึ่งในประโยคที่คุณพ่อคุณแม่มักใช้ในการปลอบใจลูก ความจริงแล้วประโยคนี้ไม่ได้เลวร้าย แต่การโน้มน้าวให้ลูกเชื่อว่าทุกอย่างจะจบลงด้วยดีเสมอ จะทำให้ลูกขาดการเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับอุปสรรคและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่ไม่พยายาม เพราะเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้นได้เอง โดยไม่ต้องลงมือแก้ไขหรือฝึกฝนเพื่อพัฒนาตัวเอง
ดังนั้นการปลอบใจลูกด้วยการบอกว่า ทุกอย่างจะดีขึ้นเอง ควรเลือกใช้ในสถานการณ์ที่เหมาะสม และตัวอย่างสถานการณ์ที่ไม่ควรใช้ เช่น เมื่อลูกผิดหวังจากการไม่ผ่านคัดเลือกเป็นนักกีฬา แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะปลอบลูกว่า ‘เดี๋ยวทุกอย่างก็ดีขึ้นเอง’ คุณพ่อคุณแม่ควรให้กำลังใจด้วยพูดว่า ‘ยังมีโอกาสสำหรับความพยายามของลูกอีกมากเลยนะ’ จะช่วยกระตุ้นให้ลูกอยากฝึกฝนและพัฒนาตัวเองมากขึ้น
COMMENTS ARE OFF THIS POST