READING

สอนให้ลูกชอบดนตรี: 4 วิธีกระตุ้นความสนใจให้ลูกรักก...

สอนให้ลูกชอบดนตรี: 4 วิธีกระตุ้นความสนใจให้ลูกรักการเล่นดนตรี

สอนให้ลูกชอบดนตรี

การ สอนให้ลูกชอบดนตรี หรือเปิดโอกาสให้ลูกได้สัมผัสกับเครื่องดนตรีตั้งแต่ยังเล็ก นอกจากจะทำให้ลูกได้เคลื่อนไหวร่างกายไปตามจังหวะดนตรีแล้ว การเล่นดนตรียังช่วยส่งเสริมทักษะและพัฒนาการด้านต่างๆ ให้กับลูกได้

และเมื่อดนตรีคือเครื่องมือที่ส่งทรงพลังและมีคุณประโยชน์ต่อการเติบโตของเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่จึงสามารถ สอนให้ลูกชอบดนตรี ส่งเสริมให้ลูกทำความรู้จักและคุ้นเคยกับดนตรี เสียงเพลง และสนุกไปกับการเล่นเครื่องดนตรีที่หลากหลายได้ตั้งแต่ยังเล็ก

จากการศึกษาของคณะบรรณาธิการนิตยสาร Scientific American ระบุว่า การฝึกให้เด็กเล่นเครื่องดนตรีเป็นประจำตั้งแต่ยังเล็ก จะส่งผลดีต่อการพัฒนาสมอง ส่งผลทำให้เกิดสมาธิจดจ่อกับเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะสามารถมีสมาธิกับการเรียนได้ง่าย

เช่นเดียวกับ Lynn Kleiner นักการศึกษาด้านดนตรี และผู้ก่อตั้ง Music Rhapsody โปรแกรมการศึกษาด้านดนตรีสำหรับเด็กปฐมวัย ในประเทศสหรัฐอเมริกา ยืนยันว่า การเล่นดนตรี รวมไปถึงการท่องจำเนื้อเพลง จะช่วยทำให้เด็กๆ มีความจำที่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

Mary Larew ครูสอนไวโอลินจาก Neighborhood Music School โรงเรียนดนตรีเก่าแก่ในรัฐคอนเนตทิคัต กล่าวว่า เครื่องดนตรียังสามารถทำให้เด็กเล็ก เรียนรู้วิชาฟิสิกส์ขั้นพื้นฐานได้ เช่น การดึงสายบนกีต้าร์หรือไวโอลินทำให้เกิดการสั่นแบบฮาร์โมนิกผู้เชี่ยวชาญด้านการเล่นดนตรี และครูสอนดนตรี อย่าง Linzie Mullins ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า การเล่นดนตรีคือ ศิลปะที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กคนหนึ่งได้ เพราะเด็กบางคนอาจเรียนไม่เก่ง หรือมีพฤติกรรมที่ไม่ดีในห้องเรียนวิชาอื่นๆ แต่เด็กกลุ่มนี้อาจค้นพบว่า เขามีความสนใจและทำสิ่งนี้ได้ดี นั่นแสดงให้เห็นว่า ดนตรีช่วยให้เด็กๆ รู้สึกสบายใจที่จะแสดงความเป็นตัวของตัวเอง จนสามารถทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดได้เป็นอย่างดี

แต่สิ่งที่ควรระวังก็คือคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ทำให้การเล่นดนตรีเป็นฝันร้ายของลูก ด้วยการฝืนใจ บังคับ หรือคาดหวังผลลัพธ์ว่าลูกจะต้องเล่นได้ดีกว่าคนอื่น เพราะสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือการเปิดโอกาสให้ลูกได้ใกล้ชิดกับดนตรี คอยกระตุ้นและส่งเสริมเมื่อลูกเริ่มรู้สึกสนุก และหลงรักการเล่นดนตรี ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้

1. โอบล้อมลูกด้วยเสียงดนตรี

playingmusical_web_1

Anna Cucciardo ประธานสมาคมครูดนตรีแห่งชาติและผู้อำนวยการโรงเรียนศิลปะชุมชนบัตเลอร์ แห่งมหาวิทยาลัยบัตเลอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้คำแนะนำว่า เด็กๆ จะรู้สึกสนใจดนตรีมากขึ้น เมื่อดนตรีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของพวกเขา

ดังนั้นการสร้างสภาพแวดล้อมให้ลูกเข้าถึงเพลงและดนตรีได้ง่าย เช่น เปิดเพลงระหว่างทำกิจวัตรประจำวัน มีกิจกรรมที่ชวนลูกร้องเพลงหรือเต้นเข้าจังหวะในบ้าน จะช่วยให้ลูกซึมซับกับดนตรีและเสียงเพลง สนใจความแตกต่างของจังหวะ หรือเสียงของเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ และอยากทำความรู้จักดนตรีให้ดียิ่งขึ้น

2. ร้อง เล่น และเต้นด้วยกัน

playingmusical_web_2

เมื่อลูกเริ่มสนใจเสียงเพลง ด้วยการฮัมเพลงแบบไม่เป็นภาษา เริ่มร้องตามเพลงที่ชอบฟังอยู่บ่อยๆ หรือเคาะจังหวะด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้จังหวะนี้ช่วยกระตุ้นลูกได้ด้วยการชวนลูกเปิดเพลงแล้วร้อง เล่น และเต้นไปด้วยกัน

หรือเพิ่มความสนุกด้วยการทำเครื่องดนตรีง่ายๆ จากอุปกรณ์ที่หาได้จากในบ้าน หรือหากในบ้านมีเครื่องดนตรีอยู่แล้ว ก็หยิบขึ้นมาเล่นกับลูกหรือจะลองให้ลูกได้สัมผัสกับเครื่องดนตรีของคุณพ่อคุณแม่ดูบ้าง เพียงเท่านี้ก็จะทำให้วันธรรมดาของลูกกลายเป็นวันแห่งการเรียนรู้ด้านดนตรีได้

3. มีเครื่องดนตรีชิ้นแรกให้ลูก

playingmusical_web_3

คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าสำหรับเด็กเล็ก อาจจะยังไม่พร้อมและไม่ถึงเวลาที่จะมีเครื่องดนตรีเป็นของตัวเองจริงจัง แต่หากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่า ลูกมีความสนใจดนตรี และชื่นชอบเครื่องดนตรีประเภทไหนเป็นพิเศษ ก็สามารถส่งเสริมลูกได้ด้วยการทดลองให้ลูกมีเครื่องดนตรีชิ้นแรก โดยเริ่มจากเครื่องดนตรีของเล่น หรือของจริงที่ราคาไม่แพงมากเพื่อประเมินความสนใจที่แท้จริงของลูกก่อนได้ก็ยังได้

Cucciardo ประธานสมาคมครูดนตรีแห่งชาติ ของประเทศสหรัฐอเมริกา ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเล่นเครื่องดนตรีตามวัยเอาไว้ว่า เด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป สามารถให้ลองเล่นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า เช่นขลุ่ยและคลาริเน็ต แต่ยังไม่ควรให้ลูกเล่นเครื่องดนตรีที่ทำจากทองเหลืองก่อนที่ฟันแท้ของลูกจะขึ้น

รวมถึงสามารถให้ลูกเริ่มเรียนเปียโนเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กให้แข็งแรงและมีความคล่องแคล่วในการใช้มือและนิ้วได้ ส่วนเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายอื่นๆ อาจเหมาะกับเด็กที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไปมากกว่า

4. ให้กำลังใจและชมเชยเมื่อลูกพยายามได้ดี

playingmusical_web_4

เมื่อลูกเริ่มเต้นไปกับจังหวะของดนตรี หรือเริ่มจับเครื่องดนตรีเล่นด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเต้นคร่อมจังหวะ การเป่าขลุ่ยที่ไม่มีเสียงออกมา หรือการพยายามดีดกีต้าร์ด้วยนิ้วมือที่เล็กจนแทบไม่เกิดเสียงดนตรีออกมา

 คุณพ่อคุณแม่ควรให้กำลังใจและชมเชยที่ลูกมีความพยายามและตั้งใจ เพื่อให้ลูกรู้สึกมั่นใจในตัวเอง กล้าที่จะเล่นและพัฒนาตัวเองต่อไป

อ้างอิง
parents
parents
parents

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST