READING

สิทธิเด็ก : How to สอนลูกเข้าใจเรื่อง ‘สิทธิเด็ก’ ...

สิทธิเด็ก : How to สอนลูกเข้าใจเรื่อง ‘สิทธิเด็ก’ ฉบับเข้าใจง่าย

สิทธิเด็ก

คุณพ่อคุณแม่หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘สิทธิเด็ก’ กันมาบ้าง แต่อาจจะไม่เคยเอาเรื่องนี้มาพูดคุยกับลูกอย่างจริงจัง เพราะคิดว่าการพูดถึงสิทธิ อาจเป็นเรื่องยากและซับซ้อนเกินกว่าที่ลูกจะเข้าใจได้

สิทธิเด็ก หมายถึง สิทธิที่เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี ทุกคนจะต้องได้รับ โดยแบ่งออกเป็นสิทธิ 4 ประเภท ได้แก่

1. สิทธิที่จะมีชีวิตรอด ไม่ว่าจะเกิดมาในสภาวะใดก็ตาม

2. สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา โภชนาการ ความเป็นอยู่ และการพัฒนาด้านร่างกายและจิตใจ

3. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง ทางด้านร่างกายและจิตใจ จากการทารุณกรรม การล่วงละเมิด และการใช้แรงงานเด็ก

4. สิทธิที่จะมีส่วนร่วม ทั้งในด้านการกระทำและความคิด และการตัดสินใจที่มีผลต่ออนาคตของตนเอง

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็คงรู้สึกว่า ถึงอย่างไรการจะสอนให้ลูกเข้าใจความหมายของสิทธิเด็ก ก็คงจะเป็นเรื่องยาก M.O.M จึงได้รวบรวม 5 เทคนิค สอนลูกเข้าใจเรื่อง ‘สิทธิเด็ก’ ฉบับเข้าใจง่าย เอาไว้สร้างพื้นฐานให้ลูกเติบโตด้วยความเข้าใจความหมายของคำว่าสิทธิเด็กกันดีกว่าค่ะ

1. เคารพเสียงโหวตภายในครอบครัว

childrights_web_1

หลายครั้งที่ครอบครัวต้องตัดสินใจหรือเลือกทำกิจกรรมบางอย่าง แล้วตกลงกันไม่ได้ การเปิดโหวตและโอกาสให้ทุกคนในครอบครัวมีสิทธิเลือกสิ่งที่ต้องการจะเป็นการฝึกให้ลูกได้เรียนรู้การรับฟังความคิดเห็น และความเห็นของลูกก็มีน้ำหนักไม่น้อยไปกว่าคุณพ่อคุณแม่ จะช่วยส่งเสริมให้ลูกเข้าใจและเคารพสิทธิของคนอื่นเช่นเดียวกัน

2. Bed Time Best Time

childrights_web_2

ช่วงเวลาก่อนนอนเป็นช่วงเวลาที่ดีของคุณพ่อคุณแม่ที่จะแสดงความรัก พูดคุย เล่านิทาน หรือเปิดโอกาสให้ลูกพูดระบายความรู้สึกของตัวเอง ความรู้สึกปลอดภัยและเป็นที่รักของคุณพ่อคุณแม่จะช่วยส่งเสริมให้ลูกเข้าใจถึงสิทธิการได้รับการปกป้องคุ้มครองที่ควรได้รับจากครอบครัวและคนรอบตัว

3. พ่อแม่ต้องยุติธรรม

childrights_web_3

การกระทำสำคัญกว่าคำพูด เป็นสำนวนหนึ่งที่ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการกระทำของคุณพ่อคุณแม่ การที่ลูกจะเกิดการเรียนรู้ คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีด้วยเช่นกัน

วิธีการง่าย ๆ ที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องของการเคารพสิทธิ คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องมีความยุติธรรม เช่น เมื่อลูกเป็นฝ่ายทำผิด ก็ควรได้รับการอบรมและสอนให้ไม่ทำอีก แต่เมื่อลูกเป็นฝ่ายโดนกระทำ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรปกป้องลูกด้วยเช่นกัน

4. ครูคนแรก

childrights_web_4

เด็กทุกคนควรได้รับโอกาสในเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถทำหน้าที่เป็นครูคนแรกของลูกได้โดยไม่ต้องรอให้เป็นหน้าที่ของคุณครูที่โรงเรียน แต่สามารถช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์การเล่น การพูดคุย และการใช้เวลากับคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงการสนับสนุนและส่งเสริมให้ลูกได้เรียนรู้ตามความชอบ ความสนใจ และความถนัดที่แท้จริงของลูกอีกด้วย

5. Two choices

childrights_web_5

หากต้องเริ่มปลูกฝังเรื่องสิทธิของตัวเองให้ลูกเข้าใจ คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ใกล้ตัว โดยลองให้ลูกได้เลือกระหว่างสองทางเลือกที่คุณพ่อคุณแม่เตรียมไว้ให้ เช่น วันนี้อยากใส่เสื้อสีฟ้าหรือสีแดง อยากเล่นดนตรีหรือกีฬามากกว่า

การให้ลูกได้เลือกสิ่งสำคัญในชีวิตตัวเอง จะช่วยให้ลูกรู้ว่าตัวเองมีสิทธิและอิสระในการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำสิ่งไหน โดยต้องตั้งอยู่ในพื้นฐานของความถูกต้อง เหมาะสม และเคารพกฎระเบียบในสังคมเป็นสำคัญ

อ้างอิง 
punchng
unicef
parentline
sosthailand

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST