READING

ลูกพูดช้า: 5 สาเหตุทำไมลูกวัยเตาะแตะออกเสียงได้ แต...

ลูกพูดช้า: 5 สาเหตุทำไมลูกวัยเตาะแตะออกเสียงได้ แต่ไม่ยอมพูด

ลูกพูดช้า

ลูกพูดช้า เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สร้างความกังวลใจให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ไม่น้อย เพราะนอกจากจะอยากได้ยินลูกออกเสียงคำง่ายๆ ให้ชื่นใจแล้ว แต่โดยทั่วไปเมื่อลูกอายุได้ 9-10 เดือน ก็ควรจะเข้าสู่ช่วงวัยที่เริ่มออกเสียงเป็นคำง่ายๆ เช่น แม่ หรือ หม่ำๆ ได้ นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่เฝ้ารอจะได้เห็นพัฒนาการนี้ของลูกอย่างใจจดจ่อ

และเมื่ออายุได้ 2-3 ปี ลูกจะค่อยๆ พัฒนาคลังคำศัพท์จนสามารถเรียบเรียงเป็นประโยคที่ไม่ซับซ้อนได้ เช่น พ่อไปไหน แม่ทำอะไร แต่เมื่อ ลูกพูดช้า หรือไม่สามารถพูดและสื่อสารกับคนอื่นได้ตามเกณฑ์ที่ควรเป็น ก็ย่อมทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่สบายใจเป็นเรื่องธรรมดา

ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยว่า เด็กวัยหัดพูด 1 ใน 12 คน หรือร้อยละ 8.33 มีพัฒนาการด้านการออกเสียง และการพูดช้ากว่าเกณฑ์ปกติ ซึ่งอาจส่งผลต่อทักษะการสื่อสารและการเข้าสังคมในอนาคตได้

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพัฒนาการของลูกวัยหัดพูดอย่างใกล้ชิด และเรียนรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้ลูกพูดช้า เพื่อแก้ไขเบื้องต้น ก่อนที่จะนัดปรึกษาแพทย์ และหาวิธีส่งเสริมพัฒนาการด้านการพูดของลูกต่อไป

1. กระบวนการรับภาษาผิดปกติ

speechdelays_web_1

ความผิดปกติของการรับภาษา คือ สภาวะที่ลูกไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พูด หรือสื่อสารด้วย เนื่องจากกระบวนการทำงานของระบบประสาทและสมองที่ทำหน้าที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าทั้ง 5 รูปแบบ ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และการสัมผัส ทำงานช้ากว่าปกติ เป็นเหตุทำให้ลูกมีความสามารถในการเชื่อมโยงคำกับความหมายลดลง

หากสังเกตเห็นว่าลูกมีอาการตอบสนองต่อคำพูดของคุณพ่อคุณแม่ช้าผิดปกติบ่อยๆ สามารถช่วยลูกได้ด้วยการพูดคำเดิมซ้ำบ่อยๆ และหารูปภาพ หรือแสดงท่าทางประกอบการพูด เพื่อส่งเสริมให้ลูกสามารถเชื่อมโยงคำกับความหมายได้ดียิ่งขึ้น และเมื่อลูกเข้าใจสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สื่อสาร ก็จะพยายามตอบสนองด้วยคำพูดมากขึ้นเช่นกันค่ะ

2. ภาวะลิ้นติด (tongue tie)

speechdelays_web_2

คือ ภาวะที่ลิ้นติดกับพื้นปากด้านล่าง เพราะมีพังผืดใต้ลิ้นมากเกินกว่าปกติ ส่งผลให้ลูกไม่สามารถเคลื่อนไหวลิ้น หรือขยับปากได้ตามปกติ จึงทำให้การออกเสียง หรือการพูดเป็นเรื่องยาก

หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีภาวะลิ้นติด ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะนอกจากภาวะนี้จะส่งผลต่อการพูดแล้ว ยังทำให้ประสิทธิภาพในการกินอาหาร หรือดูดขวดนมของลูกลดลงด้วย

3. มีปัญหาการได้ยิน

speechdelays_web_3

การได้ยินส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการพูดของลูก เพราะเมื่อได้ยินเสียงไม่ชัดเจนก็จะทำให้กระบวนการสร้างคำเกิดได้ยากขึ้น และมีความผิดเพี้ยนจากปกติ เมื่อลูกออกเสียงได้ไม่ชัดเจน และเกิดความสับสนในความหมายของแต่ละคำก็จะทำให้พัฒนาการด้านการพูดของลูกน้อยช้ากว่าปกติ

4. ขาดการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม

speechdelays_web_4

ลูกวัยหัดพูดจะสามารถสื่อสารออกมาด้วยคำพูดได้ต่อเมื่อได้มีปฏิสัมพันธ์ หรือฟังบทสนทนาจากคนรอบข้าง หากไม่มีคนรอบข้างคอยกระตุ้นหรือพูดคุยด้วยบ่อยๆ ก็จะทำให้ลูกไม่ได้เรียนรู้การได้ยินและออกเสียงตามคำพูดคนอื่น

จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ควรแบ่งเวลาจากการทำงานมาพูดคุย หรือเล่นกับลูกบ่อยๆ โดยเลือกใช้น้ำเสียงที่เป็นมิตร และไม่เสียงดังจนเกินไปด้วยนะคะ

5. ความรุนแรงในครอบครัว

speechdelays_web_5

Joy D. Osofsky นักจิตวิทยาและพัฒนาการเด็ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยว่า ทารกที่เติบโตในครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรง ทะเลาะ หรือมีปากเสียงกันในครอบครัวบ่อยๆ มีแนวโน้มที่พัฒนาการด้านการพูดและการสื่อสารจะล่าช้ากว่าทารกที่เติบโตในครอบครัวที่อบอุ่น

ดังนั้น ไม่ใช่แค่คำพูด น้ำเสียง หรือท่าทางที่มีต่อลูกเท่านั้น แต่คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ความสำคัญกับการใช้น้ำเสียง และการแสดงออกในสถานการณ์ต่างๆ ของทุกคนในครอบครัวด้วย

 

อ่านบทความ: 5 วิธีที่จะช่วยให้ลูกน้อยเป็นเด็กพูดเก่ง
อ้างอิง
National Institute on Deafness and Other Communication Disorders
Therapy & Wellness Connection
healthline
SPEECHPATHOLOGY

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

COMMENTS ARE OFF THIS POST