ปัญหาของคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน เพราะอยากให้ลูกมีพี่น้องที่คอยช่วยเหลือและดูแลกันไปเรื่อยๆ ก็คือ ต้องคอยระมัดระวังไม่ให้ลูกแต่ละคนรู้สึกว่า พ่อแม่ลำเอียง ได้
เพราะการปล่อยให้ลูกคิดว่าว่า พ่อแม่ลำเอียง หรือรักลูกไม่เท่ากัน จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการ การเรียนรู้ สภาพจิตใจและอารมณ์ เช่น ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เก็บกดเสี่ยงต่อการป่วยทางใจ โรคซึมเศร้า และยังเป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องอีกด้วย
เพื่อป้องกันไม่ให้คุณพ่อคุณแม่เผลอทำให้ลูกรู้สึกว่า พ่อแม่ลำเอียงและรักลูกแต่ละคนไม่เท่ากัน เรามาเตือนตัวเองและหาทางแก้ไขหากที่ผ่านมาเคยทำให้ลูกคนใดคนหนึ่งรู้สึกได้รับความรักน้อยกว่าลูกคนอื่นกันดีกว่าค่ะ
1. เข้าใจความแตกต่างของลูกแต่ละคน
คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจว่าลูกแต่ละคนย่อมมีนิสัยใจคอ บุคลิก ความชอบ และความถนัดที่แตกต่างกัน ถึงแม้จะเลี้ยงดูด้วยวิธีเดียวกัน สภาพแวดล้อมเดียวกัน ก็ไม่ควรเอาความแตกต่างของลูกแต่ละคนมาเปรียบเทียบ หรือทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ชอบลูกคนไหนมากกว่า แต่ควรแสดงความเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างของลูกทุกคน เพื่อให้ลูกรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง และไม่เปรียบเทียบตัวเองกับพี่น้อง
2. ส่งเสริมกิจกรรมของลูกทุกคนอย่างเท่าเทียม
คุณพ่อคุณแม่ควรให้การสนับสนุนความชอบของลูกทุกคน โดยไม่ยัดเยียดหรือบังคับให้ลูกต้องชอบหรือทำอะไรเหมือนกันทุกอย่าง เพราะนอกจากจะทำให้ลูกบางคนอึดอัดใจแล้ว ยังเป็นการปิดกั้นโอกาสที่จะเรียนรู้และพัฒนาในสิ่งที่ตัวเองชอบ รวมถึงความรู้สึกน้อยใจที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากคุณพ่อคุณแม่เหมือนลูกคนอื่น และรู้สึกว่าไม่ได้รับความรักอย่างเท่าเทียมอีกด้วย
3. มีเวลารับฟังและให้คำปรึกษากับลูกทุกคน แม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องเล็กน้อย
คุณพ่อคุณแม่หลายคนมักใส่ใจและให้ความสำคัญกับลูกคนที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด และเผลอละเลยลูกคนที่แข็งแรง เข้มแข็ง และดูแลตัวเองได้ แต่ความจริงแล้ว ลูกทุกคนต้องการเวลา และการรับฟังจากคุณพ่อคุณแม่ ไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นเรื่องใหญ่หรือสำคัญเท่านั้น แต่คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงให้ลูกเห็นว่า พ่อแม่มีเวลาสำหรับทุกเรื่องของลูกๆ ทุกคนเสมอ
4. ตัดสินลูกด้วยความเป็นกลาง
ครอบครัวที่มีลูกหลายคน มักมีการทะเลาะกันระหว่างพี่น้อง ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยทำตัวเป็นกรรมการคอยห้ามและตัดสินหาทางออกให้อยู่เสมอ
สิ่งที่ควรระวังก็คือคุณพ่อคุณแม่ ไม่ควรตัดสินลูกจากการคาดเดา หรือกำหนดกฎเกณฑ์ตายตัว เช่น พี่ต้องยอมให้น้องเสมอ หรือน้องห้ามดื้อกับพี่เสมอ และไม่ควรใช้ความอคติส่วนตัว และไม่เข้าข้างใครเป็นพิเศษ รวมถึงบางครั้ง คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องตัดสินว่าใครถูกใครผิด แต่ควรเป็นคนกลางที่เข้าไปเพื่อช่วยปรับความเข้าใจระหว่างพี่น้อง เพื่อลดปัญหาการทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ลำเอียงได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST