Recap: M.O.M คลับ (แม่) เมาท์ คุยทุกเรื่องรอบลูก #1 ลูกมีปัญหาหรือแม่คิดมากไป กับครูเม—เมริษา ยอดมณฑป

RECAP_1_01

1. ลูกสาวกำลังจะสามขวบ เป็นเด็กค่อนข้างตัวเล็ก กลัวว่าไปโรงเรียนแล้วจะโดนเพื่อนแกล้ง และจะสอนลูกยังไง ลูกควรตอบโต้หรือป้องกันตัวเองยังไง (เพิ่มเติมว่าปัจจุบันยังไม่เข้าโรงเรียน เวลาเล่นกับเพื่อนก็มีโดนแย่งของเล่นบ้าง)

• การที่ลูกตัวเล็กกว่าเพื่อนๆ สำคัญน้อยกว่าความแข็งแกร่งในจิตใจเขา ตัวเล็กไม่ได้แปลว่าลูกจะสู้เพื่อนไม่ได้ อย่างแรกคือเราจะไม่บอกลูกว่า ลูกตัวเล็ก หรือลูกต้องระวังเพื่อนคนนั้นคนนี้ แต่เราจะบอกให้ลูกมั่นใจว่าลูกทำได้ทุกอย่าง เพราะความมั่นใจของลูกไม่ได้อยู่ที่ขนาดตัว แต่เป็นความมั่นใจที่พ่อแม่มีให้เขา แล้วเขาจะค่อยๆ สร้างความมั่นใจในตัวเองขึ้นมา

• การเล่นและทะเลาะกันเพราะแย่งของ เป็นเรื่องปกติสำหรับเด็ก 3-6 ปี

• ถ้าลูกเล่นกับเพื่อน แล้วมีการแย่งของกันเกิดขึ้น ผู้ใหญ่ พ่อแม่ หรือคุณครูที่อยู่ตรงนั้น สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้ เช่น เข้าไปบอกว่าเราจะผลัดกันเล่นนะ คุณแม่จะช่วยดูให้ เพื่อให้ยุติธรรมกับเด็กทุกคน ไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้ลูกเป็นเด็กที่ติดการขอความช่วยเหลือ

• ก่อนไปโรงเรียน ควรเตรียมความพร้อมให้ลูกช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น ใส่รองเท้าเองได้ ใส่เสื้อผ้า กินข้าว จ่ายเงินซื้อของเองได้ เมื่อลูกช่วยเหลือตัวเองได้ ความมั่นใจจะมา

• ศักยภาพในการยืนหยัดของเด็กจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเขายังรู้สึกว่าไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

• สอนให้ลูกใช้เสียงได้ เช่น พูดให้ชัดเจนว่า ‘เรามาก่อนนะ’ หรือ ‘เรายังเล่นอยู่นะ’ ถ้าลูกทำแล้ว เพื่อนยังไม่ปล่อย ผู้ใหญ่หรือคุณครูค่อยเข้ามาช่วย

RECAP_1_02

2. ลูกอายุ 2 ขวบ 10 เดือน ชอบเรียกร้องความสนใจ ด้วยวิธีการขอไปฉี่บ่อยๆ ขอไปทุก 5 นาที ก่อนนอน น่าจะเป็นเพราะเขาไม่อยากนอน และกลายเป็นเขารู้ว่าต้องใช้วิธีนี้ เพราะเป็นวิธีที่เราเมินไม่ได้ ควรทำยังไงให้ลูกเลิกใช้วิธีนี้

• ก่อนอื่นเราต้องเช็กเรื่องพัฒนาการและร่างกายของเขาก่อน เพราะถ้าเขามีความผิดปกติทางร่างกาย แล้วเราข้ามสเต็ปไปสนใจแต่เรื่องพฤติกรรมของเขา อาจจะเกิดแผลในใจเด็กได้ เพราะงั้นต้องถามคุณแม่ว่าอาการนี้เกิดขึ้นมานานหรือยัง หรือมีความถี่แค่ไหน (คุณแม่ตอบว่า ทั้งวันจะไม่มีปัญหาเลย ยกเว้นเวลาก่อนนอน หรือเวลาที่เขารู้สึกว่าแม่ไม่สนใจ)

• วัย 2 ขวบ 10 เดือน เป็นเรื่องปกติที่เด็กจะกังวลเรื่องการขับถ่ายของตัวเอง เพราะเขายังควบคุมมันได้ไม่ดีพอ

• แต่การที่ลูกเลือกแสดงออกเฉพาะเวลาที่ต้องการความสนใจ กรณีนี้ อยากให้คุณแม่กำหนดช่วงเวลาที่มีคุณภาพให้ลูกอย่างชัดเจน เช่น ก่อนนอน หรือก่อนแม่เริ่มทำงานทุกวัน เมื่อเข้ารู้ว่าแม่จะมีเวลาให้เขาตอนไหนและมันสม่ำเสมอเป็นจังหวะเดิมๆ เขาจะรู้ว่า เขาไม่จำเป็นต้องเรียกร้องมันในเวลาอื่น

• เด็กวัย 2 ขวบ 10 เดือน ต้องการความสนใจ เพราะเขายังไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และความรู้สึกว่าต้องการพึ่งพาคุณพ่อคุณแม่ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา

• ส่วนเรื่องเข้าห้องน้ำก่อนนอน ถ้าเราบอกลูกว่า เราจะพาไปเข้าห้องน้ำก่อนนอนครึ่งชม. 1 ครั้ง และก่อนนอน 5 นาที อีกครั้ง ลูกจะลดความกังวล และรู้สึกว่าคุณแม่สนใจเขา แต่คุณแม่ต้องเป็นคนกำหนดให้เขา

• งดการดื่มน้ำก่อนนอน เพื่อไม่ให้ลูกตื่นมาเข้าห้องน้ำกลางดึก

• ถ้า 2-3 สัปดาห์ แล้วยังไม่ดีขึ้น อาจต้องปรึกษาแพทย์เรื่องกระเพาะปัสสาวะประกอบด้วย

RECAP_1_03

3. ลูกอายุ 2.8 ปี เพิ่งย้ายมาอยู่ที่สิงคโปร์เมื่อเดือนตุลา ปัญหาก็คือตอนอยู่เมืองไทย ก็พูดภาษาไทยกันมาตลอด พอย้ายมาสิงคโปร์ก็ต้องการฝึกภาษาอังกฤษให้ลูก ด้วยการที่สามีพูดภาษาอังกฤษ คุณแม่พูดไทย ปรากฏว่าลูกไม่ยอมพูดหรือตอบเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งที่เขาฟังเข้าใจ ก็เลยตัดสินใจส่งเข้าโรงเรียน แรกๆ ลูกก็ร้องไห้งอแงตามปกติ แล้วก็หาย แต่ปัญหาต่อมาก็คือ ลูกไม่ยอมกินอาหารที่โรงเรียนเลย อย่างมากก็กินน้ำเปล่านิดหน่อย ครูก็เลยให้ลองเอาอาหารจากที่บ้านไป ลูกก็ยังไม่กินอยู่ดี อาการนี้เป็นเพราะอะไร ทั้งที่เขาก็ดูแฮปปี้กับการไปโรงเรียน

• เด็กวัยที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ การที่เขาต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบใหม่ แม้ว่าเขาจะดูมีความสุข หรือสนุกกับการเล่น แต่ใจลึกๆ เขาก็ยังเป็นกังวลอยู่

• เด็กบางคน การกินอาหารจะเกิดขึ้นเมื่อเขารู้สึกสบายใจจริงๆ ซึ่งไม่ได้แปลว่าโรงเรียนไม่ดีหรือครูไม่ดี และไม่ใช่เพราะเขาไม่คุ้นกับอาหาร แต่เป็นเพราะเขาไม่คุ้นกับบรรยากาศและสถานที่ มันเป็นรูปแบบหนึ่งของการร้องไห้

• ยิ่งเข้าโรงเรียนและย้ายประเทศในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับเด็กตัวเล็กๆ

• สิ่งที่จะช่วยได้คือสร้างความคุ้นเคยกับเขาให้มากที่สุด คุณแม่อาจจะชวนออกกำลังกาย และกอดหรือสัมผัสลูกเยอะๆ ให้เขาพูดคุยเยอะๆ จะช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย แล้วเมื่อไหร่ที่ลูกสบายใจ เขาจะเริ่มกินได้เอง

• ด้วยวัย 2.8 ปี การให้น้องรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงในสถานที่นั้นๆ ก่อน อาจจะสำคัญกว่าเรื่องภาษา

• การปรับตัวของเด็กแต่ละคนใช้เวลาไม่เท่ากัน แต่ถ้ามันนานเกินไป อาจต้องปรึกษาคุณหมอ

RECAP_1_04

4. ลูกชายคนโต อายุ 3.4 ปี รู้สึกว่าลูกเพิ่งผ่าน terrible three มา เพราะตอนสองขวบเขาไม่มีปัญหาแต่เพิ่งจะมาเป็นตอนสามขวบ เราสังเกตว่าพอรู้ว่าแม่กำลังจะมีน้อง เขาก็เริ่มมีปัญหาเริ่มควบคุมอารมณ์ไม่ได้เวลาไม่พอใจ ซึ่งทั้งหมดก็ผ่านมาแล้ว แต่ตอนนี้กลายเป็นแม่มีปัญหาเรื่องควบคุมอารมณ์แทน เช่น เวลาที่ลูกงอแงเพราะเขาเหนื่อยหรือง่วง เราจะรู้สึกว่าทำไมเขาไม่ฟังเรา เราทำอะไรผิดพลาดไปหรือเปล่า

• สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือการโฟกัสว่า สิ่งที่ลูกวัยนี้ต้องการจากแม่มากๆ คือความมั่นใจว่าแม่จะรักเขาเหมือนเดิม แม้ว่าจะมีน้อง

• ทางแก้คือแสดงออก พูดคุย และย้ำเตือนให้ลูกรู้ว่า ถึงต่อไปจะมีน้อง แต่แม่ก็รักเขา และเขาจะเป็นที่รักของเราเสมอ

• เราอาจจะบ่น อาจจะปรี๊ดแตกมาทั้งวัน แต่ก่อนจบวันสัก 10 นาที ต้องมีเวลาพูดกับเขาดีๆ ก่อนที่เขาจะหลับไป

• ถ้าเราเครียดมาก อาจจะใช้วิธีเงียบ ยังไม่ต้องพูด ขอแม่สูดหายใจก่อน การเบรกตัวเอง จะช่วยให้เราไม่ต้องพูดอะไรที่มันไม่น่าฟัง

เราพยายามเงียบแล้ว แต่สีหน้ามันออก ลูกก็จะคอยถามว่าทำไมแม่ทำอย่างนี้ ทำไมแม่ไม่คุยกับเขา…

• บอกเขาว่า แม่ไม่พร้อม แม่ขอเวลานอก แต่เราสามารถตกลงกันล่วงหน้า ว่าต่อไป ถ้าใครไม่พร้อม เราจะขอเวลานอกกัน แล้วเราจะไม่ถือกัน เพราะไม่ว่าจะสีหน้าจะเป็นยังไง เด็กจะจำคำพูดสุดท้ายของเรามากกว่า

RECAP_1_05

5. ลูกเพิ่งอายุ 7 เดือน สามารถเป็นเด็กที่เอาแต่ใจได้ไหม เพราะที่ผ่านมาพ่อและแม่อยู่บ้านเลี้ยงลูกเองทั้งคู่ เวลาลูกอยากได้อะไรก็จะมีคนตอบสนองเขาทันที อยากทราบว่าจะทำให้ลูกเอาแต่ใจหรือเปล่า

• เด็กวัย 7 เดือน การเอาแต่ใจเป็นงานหลักของเขา มันไม่ใช่พฤติกรรม แต่มันเป็นเพราะเขาต้องการความสนใจมากๆ เพราะว่าเขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

• วิธีการตอบสนองต่างหากที่จะทำให้ลูกเป็นเด็กเอาแต่ใจหรือไม่

• เด็กวัยที่ยังไม่รู้ภาษา วิธีการตอบสนองที่เหมาะสม คือสอนให้เขาใช้ภาษากาย เช่น ถ้าเขาอยากได้อะไรลองให้เขาบอกด้วยการชี้ หรือจับของชิ้นนั้น

• กับเด็กวัยนี้ การสื่อสารที่ดีคือการใช้ร่างกาย เขาจะชี้ จับ หรือโผเข้าหา แปลว่าอยากให้เรากอด และถ้าเราตอบสนองเขาได้ เด็กจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าถ้าเขาใช้ภาษากายมากขึ้น คนจะตอบสนองเขาได้ดีขึ้น

• เด็กที่สื่อสารและใช้ภาษาได้ดี ก็จะพัฒนาการคิดเป็นเหตุและผล รวมถึงการควบคุมตัวเองในอนาคต

• การเอาแต่ใจมันจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กสามารถสื่อสารได้แล้ว แต่เขาไม่เลือกที่จะสื่อสาร หรือเขาใช้วิธีอื่นแทน อย่างเช่น กรี๊ดเวลาไม่พอใจ

• เวลาที่ลูกกรี๊ดเราอย่าเพิ่งรีบตอบสนองเขาทันที รอให้เขาไม่กรี๊ดแล้วค่อยให้ของชิ้นนั้น เพื่อที่ลูกจะได้เรียนรู้ว่าเขาจะได้ของสิ่งนั้นมาในตอนที่เขาไม่โวยวาย

RECAP_1_06

6. ลูก 1.5 ปี เป็นเด็กขี้กลัวมาก เจอคนแปลกหน้าก็กลัว เกาะขาพ่อแม่ หรือเจอรถเสียงดังก็วิ่งเข้าบ้าน เจอญาติในร้านอาหารเยอะๆ ก็กลัว ต้องเอามือจับพ่อแม่ไว้ตลอด เหมือนประหม่า แบบนี้ลูกมีปัญหาหรือเปล่า

• เอาตามพัฒนาการเลย คือปกติดี

• ตอนเล็กเขาไม่กลัวแต่พอตอนโตกลัว เพราะว่าเขาสามารถแยกแยะได้ว่าใครคือคนแปลกหน้า ใครคนเลี้ยงดูหลัก

• การที่เขาเจอคนที่ไม่คุ้นเคยบ่อยๆ เขาก็จะมีอาการตื่นกลัวเป็นเรื่องปกติ

• เด็กบางคนอาจมีการปรับตัวด้วยการจับมือเรา เกาะเรา แล้วก็ค่อยๆ ชะเง้อออกมาดูแปลว่าไม่ได้ตื่นกลัวจนเกินไป

• ในเด็กวัย 1.5 ปี การตื่นกลัวเป็นเรื่องธรรมดา แต่การที่เขายังจับเรา ยังอยู่ตรงนั้น โดยไม่วิ่งหนี แปลว่าเขากำลังพยายามปรับตัว

• เมื่อเข้าโรงเรียน ในอนาคตต้องให้เวลาเขาหน่อย เพราะเด็กบางคนปรับตัวช้า

• เรื่องเสียงดัง เช่น เสียงรถ ก็อาจจะเป็นเรื่องปกติ ทำให้เขาระวังตัว ไม่ไปในที่อันตราย แต่ว่าถ้าเขากลัวทุกเสียงที่เป็นอุปสรรคในชีวิต อาจจะต้องมาปรึกษาจิตแพทย์เด็กว่าลูกต้องการความช่วยเหลือด้านอื่นๆ หรือเปล่า

RECAP_1_07

7. ลูกแฝด 2.2 ขวบ เลี้ยงลูกเอง ช่วงนี้เขามีนิสัยเลือกเสื้อผ้าหนักมาก จะไม่ยอมใส่ชุดอื่น นอกจากเสื้อยืดกับเลกกิ้งสีที่เขาชอบ แต่บางครั้งเราต้องออกไปงานก็อยากให้ลูกใส่กระโปรงบ้าง ก็ไม่รู้จะหลอกล่อยังไงดี  แรกๆ เราก็ขำๆ ก็เลยเอาไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก แล้วก็มีคุณหมอที่รู้จักกันเขาทักมาบอกว่า เป็นเพราะเราตามใจลูกมากเกินไปหรือเปล่า ให้ลูกมีสิทธิ์เลือกมากไปหรือเปล่า

• ในแง่จิตวิทยา เรามองเรื่องพัฒนาการเด็กเป็นหลัก แล้วก็สิ่งที่จะเป็นอุปสรรคในชีวิตของเด็ก ถึงจะมองว่าเป็นปัญหา

• การที่ลูกเลือกเสื้อผ้า ในเชิงจิตวิทยามันก็ไม่ได้เป็นปัญหาขนาดนั้น ยกเว้นว่าลูกต้องแต่งตัวตามกาลเทศะ

• แต่ถ้ามองเรื่องกาลเทศะ พัฒนาการด้านสังคมของเด็ก กว่าเขาจะรู้และเข้าใจเรื่องกาลเทศะ ก็เมื่ออายุหกปีขึ้นไป ดังนั้นการที่ลูกจะแต่งตัวตามที่เขาชอบ ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับเด็กวัยนี้ จึงไม่น่ากังวลเท่าไหร่

• แต่เรื่องที่น่ากังวลมากกว่า คือการที่น้องยังไม่นอนในเวลานี้ (22:15 น.) มันจะส่งผลต่ออารมณ์และการซ่อมแซมร่างกาย รวมถึงพลังงานที่เขาจะใช้ในวันต่อมา

RECAP_1_08

8. ลูกชายของเพื่อน อายุ 3 ปี เป็นเด็กที่ตัวใหญ่กว่าเด็กรุ่นเดียวกัน เวลาอารมณ์ไม่ดีชอบเผลอตีเพื่อน ตีพี่เลี้ยง ซึ่งพี่เลี้ยงก็จะไม่ค่อยห้าม ยอมให้ตี แต่สุดท้ายเขาก็จะมาขอโทษนะคะ คุณแม่เขาก็เลยอ่านนิทานเกี่ยวกับเด็กขี้แกล้งให้ฟัง รีแอกชั่นของน้องคือเขาอึ้งและก็ไม่อยากอ่านอีก ทั้งที่ปกติเขาชอบนิทานมาก ปัญหาก็คือ อยากให้เขาลดพฤติกรรมแบบนี้ จะทำยังไงดี

• เด็ก 3-6 ปี ต้องการปล่อยพลัง เช่น วิ่งเล่น หรือกระโดด อย่างน้อย 2 ชม. ต่อวัน แบบไม่ต่อเนื่อง และถ้าที่โรงเรียนไม่สามารถมีกิจกรรมให้เขาใช้พลังงานได้ ที่บ้านก็อาจจะต้องเพิ่มเวลาเล่นให้กับเขา

• เพราะถ้าเด็กพลังงานเหลือ ก็จะควบคุมตัวเองได้ยากขึ้น เวลาที่เขาโกรธ ก็จะควบคุมตัวเองได้ยากขึ้นไปอีก ก็เลยแสดงออกมาด้วยการตีคนอื่น

• การตีเป็นการแสดงออกของเด็กตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่ในเด็ก 3 ปี เขาจะเริ่มรู้กติกาสังคมแล้วว่าการตีคนอื่นเป็นสิ่งไม่ควรทำ เขาถึงขอโทษ แต่เขาควบคุมตัวเองไม่ได้

• การที่ลูกตีพี่เลี้ยง มันคือการที่ไม่ว่าใครจะห้าม แต่ถ้ามีคนเดียวที่ยอมให้เขาทำพฤติกรรมนี้ได้ เขาก็จะทำแบบนั้นต่อไป ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องบอกพี่เลี้ยงว่าอย่ายอมให้ลูกเราตี ต้องจับมือเขา มองหน้าเขา พูดกับเขาว่าไม่ตีนะ

• เมื่อลูกโกรธ เราต้องอนุญาตให้โกรธ แต่ต้องหาทางออกให้เขาด้วย เช่น บอกเขาว่าเมื่อโกรธ ให้ลูกเดินออกมานะ

• เรื่องนิทาน ต้องบอกว่าไม่มีใครอยากถูกสั่งสอนทางอ้อม แม้ว่าจะเป็นนิทาน เด็กจะรู้สึกว่าถูกตำหนิ ควรเป็นการสอนแบบตัวต่อตัว คุยกับลูกตรงๆ น่าจะดีกว่า

• ถ้าอ่านนิทานแล้วเขาไม่ชอบก็ควรจะหยุด เพราะนิทานมันควรจะเป็นรางวัล ควรจะเป็นช่วงเวลาที่เด็กแฮปปี้ ถ้าไปผูกการสั่งสอนไว้กับนิทาน อนาคตเขาอาจจะเกลียดการอ่านได้

RECAP_1_09 (1)

9. มีลูกสองคน คนโตอายุ 4.1 ปี คนเล็กอายุ 1.2 ปี ลูกคนโตก่อนหน้านี้เขาไม่เคยมีปัญหา จนกระทั่งอายุประมาณสามขวบ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเรามีลูกคนเล็กหรือเปล่า แต่เขาก็เริ่มเป็นเด็กพูดยาก อะไรที่เคยทำแล้วไม่มีปัญหา เช่น ตกลงกันว่าเล่นของเล่นเสร็จแล้วจะเก็บนะ เขาก็เริ่มไม่ทำ ให้เหตุผลว่า เพื่อนที่โรงเรียนไม่เห็นทำเลย พอลูกสี่ขวบ อาการเริ่มรุนแรงมากขึ้น เช่น การปฏิเสธว่า ไม่ๆๆๆ หรือทำคนอื่นเจ็บ เหมือนเขาพยายามทำทุกอย่างที่รู้ว่าเราจะต้องบอกว่า อย่านะ อย่าทำ…

• มันคือเรื่องของการทำผิดกฎสามข้อ คือทำให้ตัวเองเดือดร้อน ผู้อื่นเดือดร้อน และทำข้าวของเสียหาย

• เราอาจจะต้องย้ำเตือนกับลูกว่า ถึงแม้ว่าที่โรงเรียนจะเป็นยังไง แต่ที่บ้าน กติกาที่เรากำหนดร่วมกันเป็นยังไง

• ถ้าเขาไม่เก็บของเล่น เราอาจจะต้องบอกเขาว่า “ถ้าหนูยังไม่เก็บของเล่น แม่จะยังไม่ให้ไปไหน ต้องเก็บให้เสร็จก่อน ถึงจะไปเล่นอย่างอื่นได้ แต่ถ้าหนูไม่เก็บคุณแม่ก็จะรอ ถ้าเกิน 10 นาที ลูกยังไม่เก็บคุณแม่จะพาเก็บนะ”

• การรอคือสิ่งที่ดีที่สุดในการสอนเด็ก

• เวลาที่สอนว่าสิ่งไหนที่ลูกไม่ควรทำ เราก็ควรบอกลูกด้วยว่าเขาทำอะไรได้บ้าง เช่น แทนที่เราจะบอกว่า อย่าทำแบบนี้คุณพ่อเจ็บ ลองบอกเขาว่า หนูกอดคุณพ่อแบบนี้สิคะ คุณพ่อจะได้ไม่เจ็บนะ

• เด็กวัย 0-6 ปี ยังต้องการการสัมผัส ต้องการการเอ็นดู การลูบหัว การสัมผัสเบาๆ การกอด ถ้าเขาได้รับสิ่งนี้บ่อยๆ เขาก็จะสัมผัสผู้อื่นได้อ่อนโยนขึ้น

• การมีน้องมีผลกับลูกคนแรกแน่ๆ ถ้าจะทำให้ลูกรู้สึกดีขึ้น ก็คือการมีเวลาให้เขาชัดเจนมากขึ้น

• คุณแม่สามารถมีช่วงเวลา date time ให้ลูก ให้เขาคิดได้เลยว่าช่วงนี้ลูกอยากทำอะไรเป็นพิเศษ เพราะถ้ามีน้องแล้วแม่ไม่ได้ใช้เวลากับเขา เขาก็อาจจะน้อยใจได้


เขาเหมือนจองแม่ไว้คนเดียวตลอดเวลา เช่น คุณแม่ต้องไปรดน้ำต้นไม้กับหนู ต้องทำนั่นทำนี่กับหนู ไม่แบ่งแม่ให้น้องเลย

• ต้องมีการกำหนดช่วงเวลาร่วมกัน คุณแม่อาจจะให้ลูกเลือกช่วงเวลา เช่น ก่อนนอน หรือกลับมาจากโรงเรียน ประมาณครึ่งชั่วโมงก็ได้ ที่ลูกอยากจะทำอะไรก็ได้

• การทำให้พี่มีความรู้สึกอยากเล่นกับน้องก็พอทำได้ เช่น สร้างพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ของเด็กโดยเฉพาะนะ ให้เขาได้เล่นอยู่ในบริเวณที่ใกล้กันมากขึ้น  เราอาจไม่ต้องบอกเขาว่า พี่ต้องเล่นกับน้องนะ แต่เป็นการจัดพื้นที่ให้เขาอยู่ร่วมกันได้

RECAP_1_10

10. เดือนหน้าลูกจะ 5 ขวบ กังวลเรื่องการไปโรงเรียน เพราะตั้งแต่สามขวบที่ลูกเข้าโรงเรียน เขาก็ร้องไห้ทุกเช้า เขาใช้เวลาปรับตัวนานมาก พอเริ่มดีขึ้นแล้วโรงเรียนต้องปิดไปนาน พอต้องกลับไปอีกครั้งก็ต้องเริ่มต้นใหม่

• ตามพัฒนาการ เด็กร้องไห้เพราะไปโรงเรียนได้ถึง 6 ปี เด็กวัยที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เต็มที่ เป็นธรรมดามากๆ ที่ลูกยังติดหรือต้องการคุณแม่

• เด็กจะลดการร้องไห้และปรับตัวจากการแยกจากได้ดีขึ้น เมื่อเขาพึ่งพาตัวเองได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

• ลองให้เขาทำกิจกรรมที่ไม่ต้องการความช่วยเหลือมาก เขาจะเลิกร้องไห้ เมื่อเขารู้สึกว่าสถานที่แห่งนี้ เขาทำอะไรด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องมีเรา

• เด็กบางคนก็ใช้เวลานานกว่าจะปรับตัวกับการไปโรงเรียนได้ เป็นเรื่องธรรมดา

RECAP_1_11

11. เป็นคุณครูประกบ ดูแลน้องหนึ่งอายุใกล้จะหกขวบแล้ว เราคิดว่าน้องเหมือนจะเรียนรู้ช้ากว่าเด็กคนอื่นในห้อง เช่น จะบอกโจทย์เลข ก็ต้องมีอุปกรณ์ประกอบให้เขาเห็น หรือเขียนตัวหนังสือกลับด้าน เราไปปรึกษาคุณครู เขาก็บอกว่าปกติของวัยนี้ อยากขอความคิดเห็นว่าปกติจริงไหม

• เรื่องพัฒนาการ การเขียนตัวเลข เด็กต้องเรียนรู้สัญลักษณ์ ก่อนรู้เรื่องสัญลักษณ์ก็ต้องรู้เรื่องจำนวน ก่อนเด็กจะเขียนตัวเลขได้ ก็ต้องมีองค์ประกอบหลายด้าน เช่น กล้ามเนื้อมัดเล็ก ว่าเขาสามารถเขียนเส้นเป็นทิศทางจากบนลงล่าง จากซ้ายไปขวาได้คล่องหรือยัง การเขียนตัวเลขเป็นเรื่องของการรู้ทิศทาง

• เด็กบางคนจะเขียนทิศทางสลับกับผู้ใหญ่ เช่น เลข 1 เราจะเขียนจากหัวลงล่าง แต่เด็กบางคนจะเขียนจากข้างล่างขึ้นบ้างบน มันก็ส่งผลต่อการจดจำทิศทาง ว่าตัวเลขนี้ต้องหันไปทางไหนกันแน่

• เด็กบางคนก็มีปัญหาเรื่องมิติสัมพันธ์ การรับรู้ที่ผิด มองภาพสลับ ก็มีผลต่อการเขียนเช่นกัน

• ถ้าเป็นไปได้ อาจลองไปฝึกฝนกับนักกิจกรรมบำบัด เพื่อปรึกษาว่าน้องมีปัญหาด้านอื่นประกอบด้วยหรือเปล่า

สำหรับเด็กทั่วไปตามพัฒนาการแล้ว อาจจะเขียนผิดพลาดได้ถึง 6 ปี

ในห้องเรียนจะมีแก๊งเด็กผู้ชาย มีหัวหน้าแก๊งที่เวลาเล่นอะไรแล้วเพื่อนก็จะเล่นตาม แต่พอมีเด็กคนหนึ่งเริ่มไม่อยากทำตามเพื่อน ก็ทำให้เกิดการทะเลาะกันในกลุ่มเขา เราควรจะทำยังไงดี

• เด็กวัย 5-6 ปี เพิ่งเรียนรู้ที่จะเล่นด้วยกัน เราสามารถนำเสนอวิธีการการเล่นด้วยกันให้เด็กได้ เช่น เข้าไปช่วยไกด์ว่ามีใครอยากเล่นแบบนี้บ้าง หรือมีใครไม่อยากเล่น เพื่อให้เขารู้วิธีที่จะประนีประนอม แล้วเขาจะเล่นกันได้ดีขึ้น

ส่วนตัวมีแบ็กกราวน์เป็น Counseling มาก่อน ก็จะค่อนข้างใจดี พอได้มาเป็นคุณครูประกบในโรงเรียนซึ่งต้องมีความเข้มงวดนิดหน่อย  บางครั้งเราก็แยกม่ค่อยออก เช่น เด็กๆ คุยจุกจิกกับเพื่อน เราก็รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องไปห้ามหรือดุเขา หรือจริงๆ มันควรจะอย่างนั้น

• ถ้าให้แนะนำ คือก่อนที่เราจะรู้ว่าอะไรเป็นปัญหาที่จะต้องเขาไปแก้  เราต้องรู้พัฒนาการเด็กในวัยที่เราดูแลก่อน ถ้าเขาไม่ได้ผิดปกติทางพัฒนาการและขัดขวางในการดำเนินชีวิต เราก็พยายามเข้าไปแทรกแซงให้น้อยที่สุด เพื่อให้เขาฝึกที่จะเติบโตด้วยตัวเอง

• ถ้าเราเข้าไปแทรกแซงทุกเรื่อง เด็กก็จะไม่ได้มีประสบการณ์ในการเรียนรู้


Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST