READING

Recap: M.O.M คลับ (แม่) เมาท์ #4 สารพันปัญหา ลูกไป...

Recap: M.O.M คลับ (แม่) เมาท์ #4 สารพันปัญหา ลูกไปโรงเรียน x ครูเม-เพจตามใจนักจิตวิทยา

M.O.M ชวนคุณพ่อคุณแม่มาพูดคุยแลกเปลี่ยน ถามตอบปัญหา แบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน ตั้งวงเป็น ‘M.O.M คลับ (แม่) เมาท์ คุยทุกเรื่องรอบลูก’ พร้อมแขกรับเชิญที่จะมาร่วมพูดคุยในประเด็นต่างๆ รอบตัวพ่อแม่ลูก

อีกไม่กี่เดือน เด็กน้อยหลายบ้านกำลังจะไปโรงเรียนครั้งแรก เด็กหลายคนอาจต้องเปลี่ยนโรงเรียนเมื่อขึ้นชั้นเรียนใหม่และในเซสชั่นที่ 4 ชวนคุณพ่อคุณแม่ร่วมฟังแนวทางปรับตัวปรับใจของทั้งเด็กและพ่อแม่ในวันที่ลูกเริ่มเข้า หรือย้ายโรงเรียน กับ ‘ครูเม-เมริษา ยอดมณฑป’ เจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ได้เข้าฟังเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา  เรามีสรุปคำถามคำตอบที่น่าสนใจจากห้องสนทนามาให้ติดตามกันค่ะ

RECAP_3_1

Q: เรามักจะเคยได้ยินว่าเด็กไม่ควรไปโรงเรียนก่อน 3 ขวบ เป็นเรื่องจริงไหม และถ้าลูกต้องไปโรงเรียนก่อน 3 ขวบ จะเตรียมตัวอย่างไร

A: ถ้ามีเหตุจำเป็น เช่น พ่อแม่ทำงานประจำ หรือกังวลว่าฝากลูกไว้กับคนอื่นแล้วลูกจะต้องถูกเลี้ยงด้วยหน้าจอ การพาลูกไป Pre-school ก็ย่อมดีกว่า

Q: สังเกตว่า ลูก (ป.1) ชอบนั่งเหม่อเวลาทำการบ้าน อยากรู้ว่า แม่จำเป็นต้องคอยประกบลูกตอนทำการบ้านตลอดเวลาหรือไม่

A:
สังเกตว่าลูกมีทักษะในการจดจ่อมากแค่ไหน ถ้าลูกทำอะไรคนเดียวนานๆ ไม่ได้ อาจจะใช้วิธีบอกลูกว่าให้ลูกนั่งทำไปก่อน และอีกห้านาทีคุณแม่จะมาดูใหม่ แบบนี้ไปเรื่อยๆ

สร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่มีสิ่งรบกวนให้ลูก

ควรตกลงกับลูกว่าเราจะใช้เวลาทำการบ้านกี่นาที โดยทั่วไป การบ้านของเด็ก ป.1 ควรใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที ถ้านานกว่านั้นแปลว่ามันเริ่มยากหรือมากเกินความสามารถของเขา ก็เป็นสาเหตุที่ลูกนั่งเหม่อได้

Q: อยากให้ลูกเล่าเรื่องที่โรงเรียนให้ฟัง ควรทำอย่างไร
A:

ลองเปลี่ยนจากการถามที่เฉพาะเจาะจง เป็นการชวนลูกคุย ลูกจะก็มีความสบายใจที่จะเล่ามากกว่า เช่น ถ้าขึ้นรถมาด้วยความเงียบ คุณแม่อาจจะเริ่มเล่าก่อนว่าวันนี้แม่ทำอะไรมาบ้าง วันนี้มาเจออะไรสนุกๆ มาบ้าง แล้ววันนี้ลูกมีอะไรสนุกบ้าง
เลือกช่วงเวลาที่ลูกจะพูดคุยมากขึ้น ก็คือเวลาก่อนนอน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายเขาผ่อนคลาย

Q: มีแพลนว่าจะพาลูกแฝดวัย 1 ขวบ 10 เดือน ไปเข้าโรงเรียน แต่ลูกมักจะร้องไห้เวลาอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย เลยกังวลว่าถ้าไปโรงเรียนลูกจะร้องไห้

A:
ต้องยอมรับว่าวัย 1 ขวบ 10 เดือน ยังปรับตัวและเรียนรู้เรื่องการแยกจากไม่ได้ เพราะการช่วยเหลือตัวเองยังไม่สมบูรณ์ เขายังต้องการความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่
คุณพ่อคุณแม่สามารถชดเชยให้ลูกได้ด้วยการกอดและสัมผัสด้วยความอบอุ่นมากขึ้น พาไปทำกิจกรรมที่ลูกชอบมากขึ้น

Q: ลูกแฝดเข้าโรงเรียน ควรอยู่ห้องเดียวกันหรือไม่

A:
ข้อดีของการได้เรียนห้องเดียวกัน คือ เด็กจะมีความมั่นใจว่ามีคนที่เขาคุ้นเคยอยู่ด้วย และมีคนคอยซัปพอร์ตอารมณ์ซึ่งกันและกัน แต่ข้อเสียคือ ลูกอาจถูกเปรียบเทียบกันเอง และยึดติดกันเองมากขึ้น
ข้อดีของการแยกห้องเรียน คือเด็กจะได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ ได้ลองปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนใหม่ ได้ลองทำอะไรด้วยตัวเอง ส่วนข้อเสียต้องใช้เวลาในการปรับตัวมากขึ้น

RECAP_3_2

Q: คิดว่าลูกอายุ 7 ปี มีความเชื่อมั่นในความคิดตัวเองมากเกินไป เช่น ถ้าเขาประเมินว่าตัวเองทำไม่ได้ ก็จะมั่นใจว่าทำไม่ได้แน่ๆ และไม่ยอมลองทำ

A:
เด็กที่ปฏิเสธการลองทำอะไรใหม่ๆ ไม่ได้เป็นเพราะความมั่นใจในความคิดตัวเอง แต่เป็นเพราะเขาไม่มั่นใจในศักยภาพของตัวเอง ไม่เชื่อว่าตัวเองจะสามารถทำได้
ควรทำให้ลูกรับรู้ศักยภาพของตัวเองเพิ่มกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย ดนตรี ศิลปะ และงานอดิเรกให้ลูกได้ลองทำ
ความเชื่อมั่นของเด็กจะเกิดจากการได้ทำซ้ำจนเกิดความชำนาญ
ถ้างานของลูกยากเกินไป พ่อแม่ควรช่วยด้วยการย่อยงานออกเป็นชิ้นเล็กๆ ให้เขารู้สึกประสบความสำเร็จกับงานชิ้นเล็กๆ เขาจะได้มีกำลังใจมากขึ้น

RECAP_3_3

Q: ผู้ปกครองของเด็กที่โรงเรียนบอกว่า ลูกเราวัย 5 ขวบครึ่ง ชอบเล่นกับเพื่อนแรงๆ และชอบตะคอกใส่เพื่อน ควรสอนลูกอย่างไร
A:
ลองให้ลูกทำกิจกรรมที่สอนให้รู้จักใช้แรงอย่างเหมาะสม เช่น โยนบอลลงตระกร้า ทอยลูกเต๋า แล้วเขาก็จะสามารถควบคุมแรงและร่างกายเมื่อต้องหยิบจับสิ่งของหรือจับผู้อื่นได้
การคุยกับลูก ควรใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวล เพื่อให้ลูกสบายใจที่จะเล่าพฤติกรรมของตัวเองให้ฟัง เมื่อฟังแล้วไม่ควรทำโทษหรือโกรธลูก แต่ให้ใช้วิธีกอด และขอบคุณที่ลูกยอมเล่าให้ฟังแล้ว
พ่อแม่สามารถสอนให้ลูกรู้จักความอ่อนโยนได้ผ่านการเล่านิทานให้เขาฟัง และเป็นตัวอย่างให้เขาเห็น

RECAP_3_4

Q: ลูกอายุ 4 ขวบ เป็นเด็กเงียบๆ ชอบจำพฤติกรรมรุนแรงที่เห็นมาจากโรงเรียนมาทำกับตุ๊กตาที่บ้าน เป็นเรื่องผิดปกติหรือไม่

A:
การที่เขาไม่ใช้อารมณ์รุนแรงกับผู้อื่นแต่เล่นกับตุ๊กตา ถือว่าเป็นการระบายความรู้สึกอัดอั้นตันใจที่เขาพบมา ตราบใดที่เขาไม่ผิดกฎสามข้อของการอยู่ร่วมกัน คือ ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำร้ายตัวเอง และไม่ทำลายข้าวของ ก็สามารถทำได้
ถ้าสังเกตว่าลูกมีปัญหา คำถามไม่ควรเป็น ‘ทำไม’ หรือ ‘เพราะอะไร’ แต่ลองเปลี่ยนเป็นถามว่าอยากให้แม่ช่วยอะไรไหม แล้วค่อยถามว่าเกิดอะไรขึ้น

RECAP_3_5

Q: ลูกอายุ 2.5 ปี อยากให้ลูกเข้าโรงเรียนอนุบาลทางเลือก แต่ติดปัญหาเรื่องการเดินทาง เลยเปลี่ยนให้ลูกเข้าโรงเรียนแนววิชาการที่ใกล้บ้าน เป็นการตัดสินใจที่ดีไหม และกังวลว่าควรให้ลูกเริ่ม Pre-school ก่อนไหม

A:
การเรียน Pre-school ไม่ได้การันตีว่าลูกจะสามารถปรับตัวเข้ากับโรงเรียนได้ง่าย การเตรียมความพร้อมตั้งแต่ที่บ้านมีผลต่อเด็กมากกว่า
ความพร้อมในการเข้าโรงเรียนของเด็ก ขึ้นอยู่กับความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้น การฟัง และการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่
เด็กเล็กส่วนมากจะใช้เวลา 70 เปอร์เซ็นต์ที่บ้าน และ 30 เปอร์เซ็นต์ที่โรงเรียน เพราะฉะนั้น การเลือกโรงเรียนใกล้บ้าน เพื่อให้ลูกได้ใช้เวลากับพ่อแม่มากที่สุดจะเป็นประโยชน์กับเด็กมากกว่า


Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST