READING

ลูกซุ่มซ่าม: 4 วิธีรับมือเมื่อลูกเป็นเด็กซุ่มซ่าม...

ลูกซุ่มซ่าม: 4 วิธีรับมือเมื่อลูกเป็นเด็กซุ่มซ่าม

ลูกซุ่มซ่าม

เด็กวัยเตาะแตะ อาจมีพฤติกรรม เดินสะดุด เดินหกล้ม ชนของ ชนนั่นชนนี่ ทำข้าวของหล่น ตกแตกเสียหาย หรือเรียกง่ายๆ ก็คือคุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่า ลูกซุ่มซ่าม

ความจริงแล้ว การที่ ลูกซุ่มซ่าม เกิดจากพัฒนาการตามช่วงวัยของลูกที่ระบบประสานสัมพันธ์ของร่างกายที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่  พร้อมกับสมองส่วนที่ใช้ควบคุมการเคลื่อนไหวทำงานได้ไม่เต็มศักยภาพ ทำให้บางครั้งเด็กเล็กมักถูกมองว่าซุ่มซ่าม ชอบทำอะไรเสียหาย หรือมีเรื่องให้ต้องเจ็บตัวอยู่เสมอ

แต่ถึงอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรปล่อยให้ลูกซุ่มซ่ามจนติดเป็นนิสัย หรือไม่รู้จักระมัดระวังตัวเองและสิ่งของรอบตัว เพราะอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของลูกต่อไปได้

รู้อย่างนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่จะรับมือหรือแก้ปัญหาลูกซุ่มซ่ามตามช่วงวัยได้อย่างไร เรามีเคล็ดลับดีๆ มาบอกค่ะ

1. คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตกใจเกินกว่าเหตุ

clumsy_web_1

เด็กเล็กมักจะวิ่งแล้วหกล้ม เดินแล้วชนโต๊ะ หรือเกิดอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ได้เสมอ แต่สัญชาติญาณของคุณพ่อคุณแม่ ก็ย่อมกลัวว่าจะเกิดอันตรายขึ้นกับลูกเป็นธรรมดา

แต่ถึงอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรแสดงความตกใจ หรือโวยวายใส่ลูก เพราะอาจจะยิ่งทำให้ลูกตกใจ กลัว และประหม่าที่จะทำอะไรด้วยตัวเอง จนอาจเกิดความผิดพลาดมากขึ้น สิ่งคือคุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือตั้งสติ ถามอาการและความรู้สึกของลูก เช่น ลูกตกใจหรือเปล่า เจ็บมากไหม อย่าลืมชื่นชมเมื่อลูกจัดการกับความซุ่มซ่ามของตัวเองได้ เช่น ลูกเก่งมากที่ล้มแล้วลุกขึ้นเล่นต่อได้ และอย่าลืมให้กำลังใจให้ลูกระมัดระวังตัวเองมากขึ้น

2. ไม่ซ้ำเติมความผิดพลาดของลูก

clumsy_web_2

นอกจากจะตกใจและกลัวว่าจะเกิดอันตรายขึ้นกับลูกแล้ว บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะเผลอดุและเสียงดังใส่ลูก เพราะตกใจหรือไม่พอใจที่ลูกซุ่มซ่ามและทำข้าวของเสียหาย

แต่การดุหรือต่อว่าในสิ่งที่ลูกไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น อาจกลายเป็นการตอกย้ำความผิดพลาดของลูก ทำให้ลูกผิดหวังในตัวเอง ไม่อยากลองทำหรือหยิบจับอะไรด้วยตัวเอง เพราะกลัวว่าจะเกิดความผิดพลาด และถูกคุณพ่อคุณแม่ตำหนิหรือต่อว่าเอาได้

3. ไม่กล่าวโทษคนอื่น

clumsy_web_3

คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องแสดงความรักและเป็นห่วงลูกด้วยการกล่าวโทษคนอื่น เวลาที่ ลูกซุ่มซ่าม จนเกิดความบาดเจ็บเสียหาย เช่น โทษคุณครูที่ดูแลลูกไม่ดีพอ หรือโทษสิ่งของที่อยู่ผิดที่ผิดทางจนทำให้ลูกเกิดอุบัติเหตุได้ เพราะนอกจากจะทำให้ลูกไม่ได้เรียนรู้ความผิดพลาดแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังให้ลูกชอบโยนความผิดให้ผู้อื่นอีกด้วย

ดังนั้น แทนที่คุณพ่อคุณแม่ลองเปลี่ยนเป็นสอนให้ลูกรู้จักระมัดระวังและมีสติในการทำอะไรมากขึ้น ก็จะช่วยให้ลูกลดความซุ่มซ่ามลงได้ค่ะ

4. หาสาเหตุอื่นที่มีผลต่อซุ่มซ่ามของลูก

clumsy_web_4

หากคุณพ่อคุณแม่รู้สึกลูกโตมากพอที่จะต้องรู้จักดูแลตัวเอง รักษาข้าวของ แต่ทำไมลูกยังคงว่ซุ่มซ่าม และมีแนวโน้มว่าจะซุ่มซ่ามจนเกิดความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าเป็นอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมอื่นๆ ของลูก และปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาสาเหตุของพฤติกรรมซุ่มซ่ามว่ามีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ลูกมีปัญหาทางการมองเห็น, มีปัญหาทางสรีระร่างกายที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย, ปัญหาเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้น (ADHD), โรคความผิดปกติของพัฒนาการประสานงาน (Dyspraxia or Developmental Coordination Disorder – DCD), ออทิสติก (ASD), หรือแม้แต่ปัญหาทางด้านสุขภาพจิตหรือไม่

อ้างอิง
Kidspot
HD สุขภาพดี เริ่มต้นที่นี่

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST