READING

co-parenting: เลี้ยงลูกร่วมกันอย่างไรในวันที่พ่อแม...

co-parenting: เลี้ยงลูกร่วมกันอย่างไรในวันที่พ่อแม่ต้องแยกทาง

co-parenting

ในยุคหนึ่ง เมื่อครอบครัวไปต่อไม่ได้ เราอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า single mom, single dad หรือพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งหมายถึงคุณพ่อคุณแม่ที่ตัดสินใจแยกทางกันแล้วตกลงให้หน้าที่การเลี้ยงดูลูกเป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

แต่ปัจจุบัน เมื่อสถานะสามีภรรยาสิ้นสุดลง แต่บทบาทหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ ไม่จำเป็นต้องมอบหมายให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับผิดชอบตามลำพัง และเมื่อคุณพ่อคุณแม่เลือกความสุขของลูกเป็นที่ตั้ง จึงทำให้เกิดความสัมพันธ์ในรูปแบบ co-parenting หรือการเลี้ยงดูลูกร่วมกัน ระหว่างคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันนั่นเอง

รู้อย่างนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมองหาทางออกให้กับครอบครัว อาจจะเริ่มให้ความสนใจกับแนวทาง co-parenting เพื่อให้การแยกทางระหว่างคุณพ่อคุณแม่ ส่งผลต่อลูกอันเป็นที่รักของเราน้อยที่สุด แต่เพื่อให้การเลี้ยงดูลูกร่วมกันเกิดประโยชน์และผลดีกับลูกมากที่สุด คุณพ่อคุณแม่จะต้องเรียนรู้และเข้าใจหัวใจของ co-parenting อย่างไรบ้าง เราสรุปมาให้ดังนี้ค่ะ

1. คุณพ่อคุณแม่ต้องควบคุมอารมณ์ตัวเอง

co-parenting

ปัญหาที่สะสมระหว่างคุณพ่อคุณแม่ อาจทำให้ภายในใจคุกรุ่นไปด้วยความหงุดหงิดและโกรธเคืองซึ่งกันและกัน แต่เมื่อตัดสถานะสามีภรรยาออกไปเหลือแต่ความเป็นพ่อแม่ของลูกแล้ว ทั้งสองคนจะต้องพยายามควบคุมอารมณ์เมื่อต้องเผชิญหน้า จะไม่มีการระเบิดหรือระบายอารมณ์ใส่กันให้ลูกเห็นอีกต่อไป

และหากคุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องระบายความอัดอั้นตันใจออกมาจริงๆ ขอให้เลี่ยงไประบายกับเพื่อนสนิทหรือญาติพี่น้อง แทนที่จะแสดงความไม่พอใจหรือตำหนิอีกฝ่ายให้ลูกได้ยินนะคะ

2. สื่อสารเพื่อลดความขัดแย้ง

co-parenting

การเลี้ยงดูร่วมกันจะไม่ราบรื่นเลยหากคุณพ่อคุณแม่หลีกเลี่ยงที่จะสื่อสารเรื่องของลูก เพราะการสื่อสารที่มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์กับลูกต่างหาก ที่จะทำให้ co-parenting เป็นทางออกของครอบครัวที่แยกทางกัน เช่น ปรึกษาและหาข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการแบ่งเวลาระหว่างพ่อกับแม่ ใครเป็นคนมีอำนาจตัดสินใจเรื่องสำคัญของลูก หรือคนแรกที่จะรับมือเมื่อลูกมีปัญหา

การสื่อสารเรื่องเหล่านี้ล่วงหน้า และพูดคุยเกี่ยวกับลูกตลอดเวลา จะช่วยให้แต่ละคนรู้ขอบเขตหน้าที่รับผิดชอบของตัวเอง และลดความขัดแย้งที่จะเกิดในอนาคตต่อไปได้

3. พ่อแม่ต้องเป็นทีมเดียวกัน

co-parenting

ถึงแม้จะแยกกันอยู่ และลูกจะต้องอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ในเวลาที่แตกต่างกัน แต่หัวใจของ co-parenting ก็คือการที่คุณพ่อคุณแม่ยังคงเป็นทีมเดียวกัน มีกฎกติกาในการเลี้ยงลูกร่วมกัน ไม่ควรแบ่งแยกว่า อยู่กับแม่ทำไม่ได้ แต่อยู่กับพ่อทำได้ หรือสร้างกฎที่ขัดแย้งกันเอง เพราะจะทำให้ลูกเกิดความสับสน และเลือกให้น้ำหนักกับใครคนใดคนหนึ่งตามความชอบของตัวเอง

4. ช่วยให้การไปๆ มาๆ ของลูกเป็นเรื่องง่าย

co-parenting

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำให้การไปมาระหว่างคุณพ่อคุณแม่เป็นเรื่องยุ่งยากและวุ่นวาย แต่ควรบอกให้ลูกรู้กำหนดการหรือการนัดหมายระหว่างคุณพ่อคุณแม่ล่วงหน้าทุกครั้ง เช่น ทุกวันศุกร์คุณแม่จะไปส่งลูกที่บ้านคุณพ่อ เพื่อให้ลูกได้เตรียมตัวหรือเตรียมกิจกรรมที่อยากทำกับคุณพ่อ โดยมีคุณแม่ช่วยเป็นสื่อกลางบอกคุณพ่อให้เตรียมใช้วันหยุดกับลูกได้เต็มที่

รวมถึงเมื่อลูกกลับมาจากอีกบ้าน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรถามนำให้ลูกรู้สึกเปรียบเทียบ เช่น ลูกชอบอยู่กับคุณพ่อมากกว่าหรือเปล่า คุณแม่ดุมากเลยใช่ไหม ฯลฯ เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกกดดันและไม่สบายใจที่จะต้องไปๆ มาๆ ระหว่างสองบ้าน และทำให้การเป็น co-parenting ไม่ส่งผลดีกับลูกอีกต่อไป

 

—อ่านบทความ: ลูกจะอยู่กับใคร… ในวันที่ต้องหย่าร้าง?
อ้างอิง
HelpGuide
verywellfamily

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST