เมื่อลูกยังเล็ก คงเป็นเรื่องธรรมดาที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องคอยประคบประหงมและเลี้ยงดูอย่างทะนุถนอม ลูกอยากได้อะไรก็อยากจะเอาใจหามาให้ ไม่ตำหนิเมื่อลูกทำความผิดหรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
แต่เมื่อลูกโตขึ้น ความเคยชินของคุณพ่อคุณแม่ทำให้เผลอดูแลและปกป้องลูกเหมือนเด็กๆ โดยไม่ทันคิดว่า การเอาใจหรือการประคบประหงมลูกมากเกินไป นอกจากไม่มีประโยชน์แล้ว ยังมีผลร้ายต่อพฤติกรรมและอุปนิสัยของลูกตอนโตด้วย
วันนี้เราจะชวนคุณพ่อคุณแม่มาสอดส่องดูพฤติกรรมของเจ้าตัวน้อยที่บ้านว่าเริ่มส่งสัญญาณของการเป็นเด็กที่ถูกคุณพ่อคุณแม่เอาใจมากเกินไปหรือยัง
1. ลูกยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ลองให้ลูกทำหรือช่วยเหลือตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นต่อบล็อก หรือให้ลูกลองเดินไปเล่นกับเพื่อนใหม่ แต่ลูกก็งอแง ถอดใจ และไม่อยากทำตั้งแต่ยังไม่ทันได้เริ่ม
อาการแบบนี้อาจเกิดขึ้นกับเด็กๆ ได้ก็จริง แต่ถ้าลูกใช้วิธีงอแงและหาทางล้มเลิกทุกครั้งที่ต้องลงมือทำอะไรด้วยตัวเอง นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าที่ผ่านมา คุณพ่อคุณแม่อาจจะคอยโอ๋และเอาใจลูกมากเกินไป ทำให้ลูกไม่กล้าและไม่อยากลองทำอะไรด้วยตัวเองอีกต่อไป
2. ลูกไม่สามารถจัดการกับความผิดหวัง

เด็กที่ได้รับการเอาใจและประคบประหงมมากเกินไป จะไม่สามารถจัดการกับความรู้สึกผิดหวังหรือผิดพลาดของตัวเองได้ มักจะรู้สึกวนเวียนอยู่กับความผิดพลาด ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ และไม่ค่อยกล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง
เป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่พยายามปกป้องลูกจากความรู้สึกเสียใจและมากเกินไป จนลูกไม่มีวิธีรับมือกับความผิดหวัง
3. ลูกขอความช่วยเหลือบ่อย

ลูกติดนิสัยร้องเรียก หรือร้องขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ตลอดเวลา แม้จะอยู่ในวัยที่ควรจะช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว แต่ก็ยังชอบและไม่อยากทำอะไรด้วยตัวเอง
4. ไม่กล้าทำอะไรด้วยตัวเองคนเดียว

เด็กที่โตมากับการเอาใจและประคบประหงมมากเกินไป มักจะหวาดระแวงเมื่อต้องทำอะไรตามลำพัง หรือริเริ่มทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่กล้าอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีคุณพ่อคุณแม่คอยให้ความช่วยเหลือ ส่งผลให้กลายเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง และไม่รู้วิธีปรับตัวเข้าสังคมต่อไป
COMMENTS ARE OFF THIS POST