READING

4 วิธีสอนให้ลูกเข้าใจการประนีประนอม (compromise)...

4 วิธีสอนให้ลูกเข้าใจการประนีประนอม (compromise)

การประนีประนอม (compromise) เป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่จะทำให้คนเราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข เพราะการรู้จักประนีประนอมทำให้เราสามารถเจรจา ต่อรอง หรือปรับตัวเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงหรือกระทบกระทั่งกันให้เจ็บช้ำน้ำใจ

ดังนั้น การประนีประนอมจึงเป็นทักษะหนึ่งที่เด็กๆ ควรเรียนรู้และเข้าใจ เพื่อนำไปปรับใช้ในสถานการณ์ที่เหมาะสมในชีวิตประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้งที่อาจเป็นต้นเหตุของการใช้กำลังต่อไปได้แต่คุณพ่อคุณแม่จะสอนให้ลูกรู้จักความประนีประนอมได้ด้วยวิธีใดบ้าง เราลองมาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันค่ะ

1. ไม่ปิดกั้นการเถียงของลูก

compromise_web_1

คุณพ่อคุณแม่ส่วนมากมักจะไม่ชอบใจนักเวลาที่ลูกเถียง เพราะเข้าใจว่าเป็นการแสดงออกถึงความดื้อรั้นและไม่เชื่อฟังของลูก แต่ความจริงแล้ว การรับฟังในสิ่งที่ลูกเถียงด้วยความสงบนิ่งและใจเย็นดูบ้างก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายค่ะ

เพราะในอีกด้านหนึ่งการโต้เถียงเป็นการแสดงออกว่าลูกรู้จักคิดและต้องการวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ด้วยเหตุผล เช่น ลูกเถียงเพราะไม่เข้าใจว่าทำไมทำไมคุณพ่อคุณแม่ถึงไม่อนุญาตให้เขาถึงทำสิ่ง ดังนั้น การรับฟังลูกจะทำให้คุณพ่อคุณแม่หาทางอธิบายและเจรจาให้ลูกเข้าใจเหตุผลของตัวเองและหาทางออกที่เป็นจุดที่ทั้งสองฝ่ายพอใจร่วมกันได้ เช่น การเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอย่างอื่น หรือแทนที่ลูกจะทำสิ่งนั้นคนเดียวก็ลองให้คุณแม่เป็นผู้ช่วยคอยดูแลอยู่ใกล้ๆ

2. สอนให้ลูกเข้าอกเข้าใจผู้อื่น

compromise_web_2

การสอนให้ลูกมีความเข้าอกเข้าใจ ทำได้โดยการบอกให้ลูกลองคิดถึงมุมมองของคนอื่น เช่น ถ้าลูกตกอยู่ในสถานการณ์อย่างนั้น หรือโดนกระทำอย่างนั้น ลูกจะรู้สึกอย่างไร และถ้าเป็นคนไปทำอย่างนั้นกับเพื่อน คิดว่าเพื่อนจะรู้สึกอย่างไร  การพูดให้ลูกรู้จักคิดและตอบคำถามเกี่ยวกับความรู้สึกของคนอื่น จะทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะเข้าใจจิตใจคนอื่นมากขึ้น นำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจคนอื่นและรู้จักประนีประนอม แทนที่จะสนใจทำเพื่อให้ได้ความต้องการของตัวเองฝ่ายเดียว

3. คิดแบบ win-win และพร้อมที่จะยอมแพ้

compromise_web_3

การสอนให้ลูกคิดแบบ win-win หรือชนะทั้งคู่จะช่วยให้เด็กๆ เข้าใจการประนีประนอมได้ เพราะการคิดแบบ win-win คือการพยายามหาทางออกที่จะทำให้ทุกฝ่ายพอใจ

แต่ถึงจะเรียกว่าวิธีการแบบ win-win แต่แท้จริงแล้วมันคือการที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องรู้จักที่จะยอมแพ้หรือยอมลดความต้องการของตัวเองลงบางส่วน เพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์ เช่น พี่น้องที่ตกลงกันไม่ได้ว่าจะดูการ์ตูนเรื่องที่พี่หรือน้องต้องการ ก็ไม่จำเป็นต้องทะเลาะกันเพื่อแย่งสิทธิ์การเป็นคนเลือกการ์ตูน แต่คุณพ่อคุณแม่อาจจะยื่นข้อเสนอว่าเราจะดูการ์ตูนด้วยกันทั้งสองเรื่อง และถ้าวันนี้ดูเรื่องของใคร พรุ่งนี้ก็จะดูเรื่องของอีกคนร่วมกัน

4. ฝึกให้ลูกรู้จักแสดงออกความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

compromise_web_4

บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะเผลอคิดและตัดสินใจอะไรไปโดยไม่ทันนึกว่าลูกจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจนั้นๆ หรือมักจะคิดว่าความเห็นของลูกเป็นเรื่องเล็กน้อยและไม่สำคัญ ทำให้ลูกไม่มีโอกาสได้ฝึกแสดงความคิดเห็นของตัวเอง เมื่อลูกรู้สึกไม่พอใจและไม่เห็นด้วยกับคุณพ่อคุณแม่ ก็มักแสดงออกเป็นความก้าวร้าวและต่อต้าน ดังนั้น การถามความคิดเห็นของลูกก่อนการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเขา จะช่วยให้ลูกได้แสดงความรู้สึก บอกความต้องการของตัวเอง เรียนรู้ความต้องการของคนอื่นและรู้จักหาวิธีประนีประนอมร่วมกันได้

อ้างอิง
familytimes
patch
familyeducationalpharesourcecenter

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST