หากคุณพ่อคุณแม่เคยเห็นแนวทางการสอนลูกเรื่องสิทธิส่วนตัวและการกำหนดขอบเขต แล้วคิดว่าเป็นเรื่องที่เด็กๆ อาจจะเข้าใจได้ยาก หรือลังเลว่าควรรอให้ลูกโตขึ้นอีกหน่อย
แต่ความจริงแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่ม สอนลูกเรื่องสิทธิส่วนตัว ได้ตั้งแต่ยังเล็ก ผ่านวิธีง่ายๆ เช่น การพูดคุยและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ลูกเรียนรู้เรื่องขอบเขตและสิทธิของตัวเอง รวมถึงเข้าใจถึงสิทธิของคนอื่นอย่างเป็นธรรมชาติ
• สิทธิส่วนตัว คือสิทธิพื้นฐานของทุกคน ที่ควรได้รับการเคารพในสิทธินั้น โดยปราศจากการรบกวนหรือการล่วงละเมิด เช่น สิทธิในร่างกาย ความรู้สึก ความคิดเห็น และพื้นที่ส่วนตัว
• การกำหนดขอบเขต คือการสร้างเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างตัวเองกับผู้อื่น เพื่อปกป้องสิทธิส่วนตัวรวมถึงความรู้สึกของตัวเองไม่ให้ถูกล่วงละเมิด โดยการบอกให้ผู้อื่นรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ยอมรับได้และอะไรที่ไม่สามารถยอมรับได้ เช่น เด็กๆ ควรรู้จักกำหนดขอบเขตในร่างกายของตัวเองด้วยการกล้าปฏิเสธไม่ให้ใครเข้ามาสัมผัสตัวหรือทำให้รู้สึกไม่สบายใจได้
ทำไมพ่อแม่ถึงควร สอนลูกเรื่องสิทธิส่วนตัว ตั้งแต่เด็ก ?

การสอนเรื่องสิทธิส่วนตัวและการกำหนดขอบเขตให้ลูกตั้งแต่เล็ก จะช่วยให้ลูกรู้จักเคารพตนเองและผู้อื่น ป้องกันการถูกล่วงละเมิด และมีพัฒนาการทักษะทางสังคมที่ดี แล้วสิทธิส่วนตัวและขอบเขตที่คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกตั้งแต่ยังเล็กมีอะไรบ้าง มาทำความเข้าใจไปพร้อมกันนะคะ
1. สอนให้ลูกเข้าใจว่าร่างกายของเราคือของเรา

คุณพ่อคุณแม่ควรเน้นย้ำให้ลูกเข้าใจว่าร่างกายของลูกเป็นของลูกเพียงคนเดียว ไม่ควรมีใครมาทำอะไรกับร่างกายของลูก หากลูกไม่ยินยอม แม้แต่คุณพ่อคุณแม่ ญาติ พี่น้อง หรือคุณครู ก็ต้องให้เกียรติ และเคารพในสิทธิ์ของลูกด้วยเช่นกัน
2. สอนให้ลูกเข้าใจพลังของคำว่า ‘ไม่’

คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกกล้าปฏิเสธ หรือกล้าพูดคำว่า ‘ไม่’เมื่อรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ชอบ หรือไม่อยากทำอะไร และสอนให้เคารพคำว่า ‘ไม่’ ของผู้อื่นเช่นกัน
การฝึกฝนทั้งสองด้านนี้จะช่วยให้ลูกเติบโตเป็นผู้ที่มีความมั่นใจในตนเองและเคารพการตัดสินใจของผู้อื่น
3. สอนให้ลูกให้ความสำคัญกับขอบเขตที่มองไม่เห็น

นอกเหนือจากขอบเขตทางร่างกายแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนเรื่องขอบเขตทางอารมณ์และพื้นที่ส่วนตัว โดยเปรียบเทียบให้ลูกเห็นว่าทุกคนมี ‘วงกลมพิเศษ‘ ล้อมรอบตัว เป็นสัญลักษณ์แทนพื้นที่ของความรู้สึก ความคิด และพื้นที่ส่วนตัว หากคำพูดหรือการกระทำของใครที่ทำให้ลูกเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ เสียใจ โกรธ หรือหวาดกลัว เป็นเพราะเขากำลังล้ำเส้นขอบเขตของลูก ลูกควรพูดหรืออธิบายให้เขาเข้าใจ หรือรีบหาทางบอกคุณพ่อคุณแม่ก็ได้
4. สอนให้ลูกกล้าที่จะขอความช่วยเหลือ

คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกให้เข้าใจว่าการขอความช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องน่าอาย หากมีใครทำอะไรให้เขารู้สึกไม่สบายใจ กลัว หรือสับสน ลูกควรขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ทันที
ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องสร้างความสัมพันธ์หนักแน่น มั่นคง และทำให้ลูกไว้วางใจ เพื่อให้ลูกรู้สึกปลอดภัยที่จะเล่าเรื่องต่างๆให้ฟัง โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำหนิหรือตัดสินจากคุณพ่อคุณแม่
5. จำลองสถานการณ์ให้ลูกลองรับมือจริง

การสร้างสถานการณ์จำลองเสมือนจริงเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการสอนเรื่องสิทธิส่วนตัวและการกำหนดขอบเขตให้เด็กๆ ช่วยเสริมความมั่นใจให้ลูกก่อนเจอสถานการณ์จริง เช่น เมื่อมีคนมาขอจับมือลูกจะทำยังไง หรือเมื่อเพื่อนชวนเล่นอะไรที่ลูกไม่อยากเล่น หรือทำอะไรที่ลูกไม่เต็มใจ ลูกจะมีวิธีปฏิเสธอย่างไรได้บ้าง
COMMENTS ARE OFF THIS POST