READING

‘อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก’ คืออะไร ทำไมเด็กต้องได้...

‘อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก’ คืออะไร ทำไมเด็กต้องได้รับการคุ้มครอง และผู้ใหญ่อย่างเราควรรู้อะไรบ้าง

เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวและดำเนินคดี โดยในจำนวนนั้นมีเยาวชนอายุ 14 ปี และ 15 ปี ถูกควบคุมตัวไป ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเพื่อดำเนินคดีในศาลเยาวชนต่อไป

จากเหตุการณ์นี้ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มพูดถึง ‘อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก’ (Convention on the Right of the Child) ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศ ที่มีประเทศตกลงเข้าร่วมมากถึง 196 ประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นการสัญญาและตกลงว่าเด็กทุกคนจะได้รับการคุ้มครองและดูแลโดยเท่าเทียมกัน

ประเทศไทยได้ทำการเซ็นสัญญาอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยมีสาระสำคัญคือ รัฐบาลไทยจะต้องมีภาระผูกพันที่จะดำเนินการให้เด็กทุกคนในประเทศไทยได้รับสิทธิตามอนุสัญญา และรายการความคืบหน้าของการดำเนินการต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ตามระยะเวลาที่กำหนด

ด้วยเหตุนี้ เราจึงอยากชวนคุณพ่อคุณแม่ มาทำความรู้จักกับ ‘อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก’ เพื่อความเข้าใจในประโยชน์และมองเห็นความสำคัญของการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กๆ ทั่วโลกให้มากขึ้น

• ความหมายของ คำว่า ‘เด็ก’

โดยทั่วไป เด็ก หมายถึงบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี (เว้นแต่กฎหมายของบางประเทศ ที่กำหนดเกณฑ์อายุบรรลุนิติภาวะไว้เป็นอย่างอื่น)

• ความสำคัญของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

อนุสัญญานี้เป็นข้อตกลงฉบับเดียวที่กำหนดสิทธิของเด็กอย่างครอบคลุมทั้งสิทธิพลเมือง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งหมายความรวมถึงเด็กทุกคน ทุกสถานการณ์ และในทุกชุมชนของทุกประเทศ โดยไม่มีเงื่อนไข และยังเน้นย้ำให้สิทธิของเด็กทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน และมีความเท่าเทียมกัน (ที่มา)

• สาระสำคัญของสิทธิเด็กที่ผู้ใหญ่ต้องรู้

อนุสัญญาฯ ประกอบด้วยเนื้อหา 54 ข้อ แบ่งเป็นสาระสำคัญเรื่องสิทธิของเด็ก 4 ด้าน คือ

1. สิทธิในการมีชีวิต

ConventionRight_web_1

สิทธินี้จะเริ่มขึ้นตั้งแต่เด็กลืมตาดูโลก พวกเขาจะต้องได้รับการปกป้องและคุ้มครองจากคนในครอบครัว ได้รับการจดทะเบียนเกิด มีชื่อ และมีสัญชาติ รวมถึงรัฐต้องเอื้อสิ่งจำเป็นให้เด็กเติบโตได้อย่างแข็งแรง สมบูรณ์ และมีความสุข

2. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง

ConventionRight_web_2

เด็กทุกคนจะต้องได้รับการปกป้องจากการถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การค้าประเวณี ขัดขวางการเข้าถึงการศึกษา ฯลฯ แม้คนที่กระทำจะเป็นพ่อแม่ของเด็กเองก็ไม่สามารถทำได้

ซึ่งหากเด็กพบเจอกับปัญหาดังกล่าวไปแล้ว รัฐก็มีหน้าที่ในการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจให้เด็กสามารถกลับคืนสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรี รวมถึงเด็กจะต้องได้รับการช่วยเหลือจากกระบวนการทางกฏหมายเพื่อความยุติธรรม

3. สิทธิในด้านพัฒนาการ

ConventionRight_web_3

เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาและการพัฒนาการที่ดีมีคุณภาพ โดยมีพ่อแม่เป็นผู้คอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำ เติบโตอย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต

หากเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เช่น เด็กพิการ ก็ต้องได้รับการดูแลให้มีความสุข ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมที่ทำให้เขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต

4. สิทธิในการมีส่วนร่วม

ConventionRight_web_4

แม้จะเป็นเด็กแต่ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งในสังคม ดังนั้นแล้วเขามีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างเสรี มีสิทธิ์เรียกร้องและปกป้องชีวิตและความเป็นอยู่ โดยเฉพาะหากเรื่องนั้นมีผลกระทบโดยตรงต่อเด็กและเยาวชน และไม่ริดรอนสิทธิของผู้อื่น ซึ่งภาครัฐมีหน้าที่ต้องเอื้ออำนวยและส่งเสริมการแสดงความคิดเห็นของเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ระดับชุมชนเป็นต้นไป มีพื้นที่ในการให้เด็กได้ใช้ศักยภาพตนเอง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้

 

นอกจากนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถดาวน์โหลดและอ่านรายละเอียด อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ของ Unicef Thailand

อ้างอิง
unicef
senate
thaichildrights
ohchr

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST