สำนวน ‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’ อาจจะใช้ไม่ได้กับยุคปัจจุบัน แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ผู้ใหญ่ก็เริ่มเล็งเห็นแล้วว่าการตีลูกเป็นวิธีที่ผิด เพราะการทำร้ายร่างกายหรือทำให้เด็กรู้สึกเจ็บปวดและอับอาย อาจจะส่งผลต่อจิตใจและความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ภายในครอบครัว หรือความสัมพันธ์ระหว่างคุณครูกับนักเรียนก็ตาม
เมื่อเด็กทำผิดพลาดหรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ผู้ใหญ่ย่อมมีวิธีการลงโทษเป็นธรรมดา ซึ่งการลงโทษก็มีหลายระดับความรุนแรง แต่สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งก็คือการตีหรือทำร้ายร่างกายเพื่อให้เด็กหลาบจำ เพราะเป็นเรื่องยากที่เด็กจะเข้าใจเจตนาของผู้ใหญ่ได้ และความไม่เข้าใจจะส่งผลในระยะยาว เช่น ทำให้เด็กจดจำแต่ความรู้สึกและเหตุการณ์ที่ตัวเองโดนทำโทษได้ฝังใจ แต่ไม่เข้าใจและไม่จดจำเหตุผลที่ทำให้โดนทำโทษ เป็นอย่างนี้มากเข้า ก็จะส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็กต่อไป
และเมื่อผู้ใหญ่เข้าใจถึงผลเสียของการลงโทษเด็กด้วยการตี หลายประเทศจึงมีกฎหมายเพื่อป้องกันการทารุณกรรมเด็ก เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ความผิดพลาดของตัวเองด้วยความเข้าใจ
1. ประเทศสวีเดน
สวีเดนเป็นประเทศแรกที่มีกฎหมายห้ามลงโทษเด็กด้วยการตี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงโทษทางร่างกายภายในบริเวณโรงเรียน เพราะชาวสวีเดนเชื่อว่าการอบรมที่ดี จะต้องปฏิบัติด้วยความอ่อนโยน การตีถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กเกิดความอับอาย แต่การตีเด็กหากไม่รุนแรงเกินไป ก็ไม่นับเป็นความผิดทางอาญา แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นที่รู้กันว่าการตีหรือทำร้ายร่างกายเด็กเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศนี้
2. ประเทศสกอตแลนด์
สกอตแลนด์เป็นประเทศแรกในสหราชอาณาจักรที่กำหนดให้การตีเด็กเป็นความผิดทางอาญา ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลเด็ก สามารถลงโทษเด็กเพื่อสั่งสอนหรือทำให้เด็กอยู่ในระเบียบวินัยด้วยวิธีการที่เหมาะสม เช่น หากมีความจำเป็นต้องตี สามารถตีที่ตัวเด็กได้ แต่ห้ามตีหัว เขย่าตัวรุนแรง หรือใช้อุปกรณ์ในการทำร้าย เช่น ไม้หรือเชือก จะถือว่ามีความผิด และยังมีข้อห้ามในรายการทำร้ายร่างกายเพื่อลงโทษเด็กในโรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ
หากคุณพ่อคุณแม่ฝ่าฝืน ศาลจะพิจารณาโทษตามความเหมาะสม ทั้งเรื่องอายุของเด็ก ระยะเวลา หรือความถี่ในการลงโทษ และการลงโทษนั้นส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจเด็กอย่างไรบ้าง
3. ประเทศฝรั่งเศส
สมาชิกวุฒิสภาฝรั่งเศสได้มีการลงมติเห็นชอบในการร่างกฎหมาย โดยห้ามตีเด็กเพื่อสั่งสอน แต่ไม่ได้ระบุว่าถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองหากฝ่าฝืนกฎจะได้รับการลงโทษอย่างไร
ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ส่งผลให้ คู่แต่งงานใหม่ทุกคู่จะต้องแลกเปลี่ยนคำสาบานเพิ่มขึ้นอีก 1 ประโยค โดยประโยคที่พูดนั้นจะไปปรากฎบนสมุดบันทึกสุขภาพของลูกน้อยอีกด้วย
เห็นแบบนี้แล้ว… น่ารักมากๆ เลยค่ะ
4. ประเทศญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นเกิดเหตุทารุณกรรมเด็กหลายคดี จึงได้มีการลงมติเพื่อร่างกฎหมายห้ามตีเด็กขึ้น โดยห้ามคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู ทำการลงโทษเด็กทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการทำโทษเพื่ออบรมสั่งสอนหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ยังไม่ได้ระบุว่าถ้าหากฝ่าฝืนกฎจะต้องได้รับโทษอย่างไรเช่นกัน
ซึ่งกฎหมายนี้จะต้องมีทนายความและแพทย์ประจำศูนย์สวัสดิภาพเด็กในแห่งต่างๆ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและกฎหมาย เพื่อให้ความช่วยเหลือปรึกษาและช่วยเหลือความรุนแรงภายในครอบครัว
5. ประเทศเกาหลี
เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ยังมีค่านิยมลงโทษเด็กด้วยการตี แม้จะมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ก็มีบางกลุ่มที่เห็นว่ารัฐควรให้ความเป็นส่วนตัวในความเป็นพ่อแม่ และพ่อแม่ทุกคนควรมีสิทธิในการเลี้ยงลูกของตัวเอง
แต่ถึงอย่างนั้น กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการเกาหลีใต้ก็อยากจะเปลี่ยนความคิดนี้ โดยทำการยกเลิกสิทธิการตีเพื่อทำโทษเด็ก ออกจากประมวลกฎหมายแพ่ง ส่วนการตีเด็กในโรงเรียนนั้น ได้ถูกกำหนดเป็นข้อห้ามมาตั้งแต่ปี 2553
COMMENTS ARE OFF THIS POST