READING

โรคแพ้นมวัวในทารก: เรื่องไม่เล็กที่คุณแม่มือใหม่ไม...

โรคแพ้นมวัวในทารก: เรื่องไม่เล็กที่คุณแม่มือใหม่ไม่ควรมองข้าม

โรคแพ้นมวัวในทารก

เมื่อลูกเข้าสู่วัยหย่านมแม่ หรือช่วงอายุประมาณ 6 เดือน คุณแม่อย่างเราก็เริ่มมองหาอาหารที่ช่วยเสริมพัฒนาการ และมีคุณประโยชน์เทียบเท่านมแม่ อย่างนมผง หรือนมวัว แม้นมวัวจะมีสารอาหารที่จำเป็นต่อพัฒนาการของเด็กวัยหย่านม แต่ก็ไม่ใช่สำหรับเด็กทุกคน

งานวิจัยจาก National Center for Biotechnology Information (NCBI) เว็บไซต์ที่รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพ และการแพทย์ทั่วโลก เผยว่าเด็กช่วงวัยก่อน 1 ปีประมาณ 6% มีอาการแพ้นมวัว หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า ‘โรคแพ้นมวัวในทารก’ (Cow’s Milk Allergy in Babies)

โรคแพ้นมวัวในทารก คืออะไร

โรคแพ้นมวัวในทารก เกิดจากระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายยังไม่คุ้นชินกับโปรตีนซึ่งเป็นส่วนประกอบของนมวัว ทำให้ทุกครั้งที่ลูกดื่มนมวัวเข้าไป ร่างกายจึงพยายามต่อต้าน และปล่อยสารฮีสตามีน (Histamine) หรือสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ออกมานั่นเอง

โดยโปรตีนในนมวัว ที่มักทำให้เกิดการแพ้ ได้แก่ เคซีน (casein) และเบต้า-แล็กโตโกลบูลิน (beta-lactoglobulin) และเมื่อมีการซักประวัติ ทารกที่มีอาการแพ้โปรตีนในนมวัว มักจะมีพ่อหรือแม่ที่เกี่ยวข้องกับโรคภูมิแพ้มาก่อน

อาการแพ้นมวัวในทารก

อาการแพ้นมวัวมีหลายระดับตั้งแต่น้อยจนถึงขั้นรุนแรง โดยอาการอาจเกิดขึ้นทันทีหลังดื่มนมเข้าไป หรือหลังจากนั้นไปหลายชั่วโมง ในทารกบางรายเกิดอาการแพ้ล่าช้าไปเป็น 7-10 วันก็มี

ทารกที่มีอาการแพ้นมวัวหลายระบบในร่างกายจะทำงานผิดปกติ ซึ่งเราสามารถสังเกตอาการของลูกได้จาก 3 ส่วนหลักๆ ดังนี้

1. อาการทางผิวหนัง ได้แก่ อาการคัน ผื่นแดง ผื่นลมพิษ (อาจจะขึ้นเฉพาะจุด หรือทั่วทั้งร่างกาย) หรืออาการบวม โดนส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก และรอบดวงตา

2. อาการในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อาการบวมที่ริมฝีปาก ลิ้น หรือเพดานปาก กินอาหารได้น้อยลง อาเจียน ปวดท้อง เมือกในอุจจาระ จุกเสียด หรือท้องเสีย

3. อาการในระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ อาการคัดจมูก มีน้ำมูก ไอ จาม หายใจเสียงดังกว่าปกติ หรือหายใจถี่

วิธีรับมือเมื่อลูกแพ้นมวัว

สิ่งแรกที่ควรทำเมื่อพบว่าลูกมีอาการแพ้นมวัว คือปรึกษากุมารแพทย์ หรือหมอเด็ก เพื่อวินิจฉัยโรคเบื้องต้น หากคุณหมอพบว่ามีอาการแพ้นมวัวขั้นรุนแรง โดยปกติทารกจะถูกส่งต่อไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน เพื่อทำการตรวจเลือด และทดสอบในเชิงลึกต่อไป

ในกรณีที่ทารกไม่ได้มีอาการแพ้ที่รุนแรง คุณหมอจะแนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกที่มีโปรตีนนมวัว เช่น นมผงและนมวัว แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังไม่สบายใจสามารถคุยกับคุณหมอ เพื่อส่งลูกไปพบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันได้เช่นเดียวกัน

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่อย่างเราสามารถช่วยลูกได้ คือการเลือกนมที่มีสารอาหารเทียบเท่านมวัว เช่น นมถั่วเหลืองหรือนมแพะ ที่มีสารอาหารไบโอแอคทีฟ คอมโพเนนท์ (Bioactive Components) จากธรรมชาติ ซึ่งมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของเด็ก และยังย่อยและดูดซึมง่ายอีกด้วย

สุดท้ายหากพบว่าลูกมีอาการแพ้นมวัว สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำ คือมีสติ และไม่เครียด เพราะถ้าเราเข้าใจถึงสาเหตุ อาการ และวิธีการรับมืออย่างถูกต้อง เพราะโดยทั่วไปแล้ว เมื่อลูกโตขึ้นอาการของโรคแพ้นมวัวจะสามารถหายขาดไปได้แน่นอนค่ะ

อ้างอิง
National Center for Biotechnology Information (NCBI)
KidsHealth
WedMD
theAsianparent

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

COMMENTS ARE OFF THIS POST