READING

เมื่อลูกชักดิ้นชักงอ เอาแต่ใจ (Temper Tantrums) คุ...

เมื่อลูกชักดิ้นชักงอ เอาแต่ใจ (Temper Tantrums) คุณพ่อคุณแม่จะทำยังไงดี

เมื่อลูกถึงวัยหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่น่าจะเคยเจอกับอาการเรียกร้องความสนใจ โวยวาย ร้องไห้ไม่หยุด และบางคนถึงกับชักดิ้นชักงอลงไปกับพื้น เพื่อเอาชนะ หรือได้ในสิ่งที่ต้องการ อาการเหล่านี้เรียกว่า Temper Tantrums ที่ทำเอาคุณพ่อคุณแม่หลายคนขยาดกับการพาลูกออกนอกบ้านมาแล้ว

 

เราเลยลองขอคำแนะนำจาก พีช—อรณิชชา เพ็ญวรรณ นักจิตวิทยาเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว มาดูกันว่า ทำไมลูกถึงแสดงออกอย่างนั้น และคุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีรับมือ เมื่อลูกเกิดแผลงฤทธิ์ขึ้นมาได้อย่างไร

เด็กแต่ละคนก็มีนิสัยใจคอและอารมณ์ไม่เหมือนกัน

TemperTantrums_web_1

เด็กแต่ละคนจะมีพื้นอารมณ์ (Temperament) ที่แตกต่างกัน ผู้ใหญ่อาจจะคิดว่าเด็กเกิดมาเป็นผ้าขาว แต่จริงๆ แล้ว เด็กเกิดมาก็เป็นผ้าสีพื้นในแบบของแต่ละคน บางคนอาจจะเป็นผ้าสีเขียว บางคนเป็นผ้าสีแดง บางคนเป็นสีชมพู

พื้นอารมณ์ของเด็กจะแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ

  1. Easy Child หรือเด็กเลี้ยงง่าย ซึ่งจะแสดงออกให้เห็นตั้งแต่ยังเป็นทารก คือเลี้ยงง่าย นอนง่าย กินง่าย
  2. Slow to Warm Up หรือเด็กที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัวมากหน่อย เช่น กว่าจะนอนต้องใช้เวลาเกลี้ยกล่อมและเตรียมใจกันระยะหนึ่ง
  3. Difficult Child เด็กเลี้ยงยาก เอาใจยากหน่อย กินยาก นอนยาก

ดังนั้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้ว่าลูกเป็นเด็กที่มีพื้นอารมณ์แบบไหน ก็ควรหาวิธีรับมือกับลูกในแบบที่เขาเป็น

รับมือกับลูกที่งอแงเพื่อเรียกร้องความสนใจ

TemperTantrums_web_2

ถ้าสังเกตเห็นว่าลูกจะงอแงในสถานการณ์นี้ซ้ำๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามตัดวงจร อย่าให้ลูกอยู่ในสถานการณ์เดิมบ่อยๆ เพราะเด็กมักจะใช้วิธีการเดิมที่เขาเคยใช้แล้วได้ผล เช่น ถ้างอแงแล้วคุณพ่อคุณแม่ยอมซื้อของเล่นที่อยากได้ให้ครั้งหนึ่ง เขาก็จะเรียนรู้ว่าเมื่องอแงแล้วจะได้สิ่งที่ต้องการ

 

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรถอยออกมาและตั้งสติดูว่า นิสัยหรือการแสดงออกของลูกที่เกิดซ้ำๆ นั้น เกิดจากพฤติกรรมของเราหรือไม่ อย่างไร เมื่อพบแล้วให้ลองหาวิธีใหม่ๆ ในการรับมือกับลูกที่เรียกร้องความสนใจดู

ถ้าลูกไม่แค่งอแง แต่มักกรี๊ดดังๆ เมื่อไม่ได้ดังใจ

TemperTantrums_web_3

โดยเฉพาะในห้างหรือสถานที่สาธารณะ จะถือว่าเป็นโอกาสทองของเด็ก เพราะเด็กรู้ว่าถ้าลองได้งอแงหรือส่งเสียงกรี๊ดออกมาต่อหน้าคนหมู่มากแล้วมักจะได้ผล เพราะคุณพ่อคุณแม่จะอาย และยอมตามใจเพื่อตัดปัญหาให้เร็วที่สุด

วิธีรับมือมีหลายวิธี เช่น ถ้าเป็นเด็กเล็กที่ยังอุ้มได้ ถ้าลูกมีท่าทีกรีดร้องและอาละวาด ให้รีบอุ้มออกไปจากตรงนั้น อาจจะพาไปนั่งสงบสติอารมณ์ในรถ เรียกว่าเป็นการไทม์เอาต์อย่างหนึ่ง โดยที่ไม่ต้องตีหรือทำโทษรุนแรง แต่ให้เด็กเรียนรู้ว่าถ้าเขางอแงและเรียกร้องความสนใจ เขาจะไม่ได้อยู่ตรงนั้นต่อ

 

แต่ขอแนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่ควรทำการตกลงกับลูกก่อนเสมอ เช่น ถ้าวันนี้หนูงอแง สิ่งที่แม่จะทำก็คือพาหนูกลับมาที่รถ และถ้ายังไม่ดีขึ้น เราจะต้องกลับบ้านทันที ถ้ามีการตกลงไว้ก่อน เด็กจะได้ไม่ตกใจในการตัดสินใจของคุณพ่อคุณแม่

แต่ถ้าเด็กโตขึ้นมาหน่อย คุณพ่อคุณแม่สามารถรับมือด้วยการไม่ให้ความสนใจพฤติกรรมเรียกร้องเหล่านั้นได้ เช่น บอกลูกว่า “เดี๋ยวไปเจอกันที่หน้าร้านนะ” หรือ “ถ้าสงบสติอารมณ์ได้แล้วเดินตามพ่อมานะ”

จากสิ่งที่คุณพีชแนะนำ ทำให้เรารู้ว่า คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกเรียกร้องความสนใจ แสดงว่าเขาเคยได้รับสิ่งที่เขาต้องการจากการกระทำนั้นๆ หรือเขากำลังทดสอบว่า ‘คุณพ่อคุณแม่จะใจอ่อนไหม’ แต่คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องใจแข็งและหนักแน่น แต่ไม่ใช่ใจร้าย และพยายามบอกตัวเองเสมอว่า ถ้าเราตามใจเขามากเกินไป ก็เหมือนการใจร้ายกับลูกทางอ้อม เพราะลูกจะติดนิสัยไปเรียกร้องและเอาแต่ใจกับคนอื่นต่อไปในอนาคต

 

M.O.M ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนค่ะ


Avatar

กำลังเรียน ป.โท เกี่ยวกับเด็ก ในสาขาที่ชื่อยาวมากสาขาหนึ่ง ชอบถ่ายรูปเป็นนิสัย และชอบไปเที่ยวในที่ที่มีดอกไม้เป็นพิเศษ มีลูกโดยไม่ได้ตั้งใจเป็นแมวและกระต่ายอย่างละตัว

RELATED POST