READING

สอนลูกให้เข้าใจประชาธิปไตย: 5 ทริคปลูกฝังประชาธิปไ...

สอนลูกให้เข้าใจประชาธิปไตย: 5 ทริคปลูกฝังประชาธิปไตยให้เจ้าตัวน้อย

สอนลูกให้เข้าใจประชาธิปไตย

“ประชาธิปไตยเริ่มต้นจากครอบครัว”

ในเวลาที่สังคมไทยกำลังตื่นตัวและให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก การ สอนลูกให้เข้าใจประชาธิปไตย จึงเป็นหนึ่งในเรื่องพื้นฐานที่คุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่เริ่มทำได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก

นพ. ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย จิตแพทย์และกรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลมนารมย์ เผยว่า การ สอนลูกให้เข้าใจประชาธิปไตย ควรเริ่มตั้งแต่ลูกยังเล็ก แม้ว่าเด็กเล็กอาจจะไม่สามารถเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่สร้างสภาพแวดล้อมให้เป็นประชาธิปไตย และพยายามสอดแทรกเกร็ดความรู้เรื่องสิทธิและความเท่าเทียม ให้เป็นเรื่องใกล้ตัวและอยู่ในชีวิตประจำวันของลูก ก็จะทำให้ลูกค่อยๆ ซึมซับและเข้าใจความเป็นประชาธิปไตยได้ดีเมื่อเติบโตขึ้น

M.O.M จึงได้รวบรวม 5 ทริคเล็กๆ ที่พ่อแม่รุ่นใหม่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมประชาธิปไตยให้ลูกเรียนรู้ได้อย่างกลมกลืนและเข้ากับชีวิตประจำวันมาฝากค่ะ

1. ยอมรับการเปิดโหวต และตัดสินด้วยเสียงข้างมาก

Democracy_web_1

การรับฟังเสียงข้างมากเป็นบทเรียนพื้นฐานของประชาธิปไตย และเป็นเรื่องเด็กๆ สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก เพียงคุณพ่อคุณแม่เปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกบางสิ่งบางอย่างในบ้านอยู่เสมอ เช่น เลือกเมนูอาหารเย็น เลือกกิจกรรมในวันหยุด และยอมรับการตัดสินด้วยเสียงข้างมาก เช่น พ่อกับลูกโหวตว่าอยากไปทะเลในวันหยุด แม่ก็ยินดีตามนั้น เท่านี้ก็จะช่วยให้ลูกเข้าใจความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแล้วค่ะ

2. เปิดโอกาสให้ลูกตั้งคำถาม

Democracy_web_2

สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นหัวใจสำคัญของสังคมประชาธิปไตย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ถามในสิ่งที่สงสัย และรับฟังการแสดงความคิดเห็นของลูก ก่อนที่จะพูดคุยและอธิบายเหตุผลให้ลูกฟังอย่างใจเย็น

3. มอบหมายหน้าที่ให้ลูกรับผิดชอบบ้าง

Democracy_web_3

การรู้หน้าที่ของตัวเอง เป็นหนึ่งในกระบวนการประชาธิปไตยที่มีผลดีกับเด็กๆ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มฝึกให้ลูกรู้จักหน้าที่ของตัวเองด้วยการมอบหมายงานเล็กๆ น้อยๆ ในบ้านให้ลูกรับผิดชอบ เช่น รดน้ำต้นไม้ จัดที่นอนตัวเอง หรือเก็บของเล่นเข้าที่ เมื่อลูกรู้จักหน้าที่ของตัวเองแล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่าแต่ละคนมีภาระหน้าที่แตกต่างกัน และเรียนรู้ที่จะเคารพในหน้าที่ของผู้อื่นมากขึ้น

4. ตั้งประเด็นดีเบตกันในครอบครัว

Democracy_web_4

การตั้งประเด็นหนึ่งขึ้นมา แล้วให้สมาชิกในครอบครัวพูดคุยและแสดงความคิดเห็น เพื่อหาทางออกหรือแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยอาจเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ลูกสามารถมีส่วนร่วมได้เต็มที่ เช่น บ้านเราควรจะมีสัตว์เลี้ยงแล้วหรือยัง นี่ก็เป็นอีกทางที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะลูกจะมีโอกาสได้รับฟังมุมมองและเหตุผลที่หลากหลาย กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเอง และยอมรับในข้อสรุปด้วยเหตุผล

5. ตั้งกฎเหล็กในครอบครัว

Democracy_web_5

การสร้างกฎในครอบครัว เป็นการจำลองให้ลูกรู้จักปฏิบัติการกติกาในสังคม โดยคุณพ่อคุณแม่ควรตั้งกฎอย่างมีเหตุผล และคุณพ่อคุณแม่ต้องปฏิบัติตามกฎนั้นอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน เพื่อแสดงถึงความเท่าเทียมและเสมอภาค

ทั้งนี้ กฎนั้นอาจเริ่มจากข้อตกลงเล็กๆ น้อยๆ ในครอบครัว หากใครไม่ปฏิบัติตามกฎก็จะมีโทษเล็กๆ เช่น กฎคือห้ามดูโทรทัศน์หลังสี่ทุ่ม หากทำผิดข้อตกลงพรุ่งนี้จะต้องงดการดูโทรทัศน์ทั้งวัน หรือต้องทำความสะอาดบ้านเป็นการทดแทน ก็ยังได้

 

เลือกตั้งคืออะไร ? : สอนลูกให้เข้าใจความหมายของการ ‘เลือกตั้ง’ และหน้าที่ ‘พลเมือง’

 

อ้างอิง
thaihealth
ParentsLeague
RebekahGienapp

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST