READING

ลูกเป็นโรคซึมเศร้าหรือแค่เศร้าซึม...

ลูกเป็นโรคซึมเศร้าหรือแค่เศร้าซึม

โรค ‘ซึมเศร้า’ และอาการ ‘เศร้าซึม’ เป็นผลที่เกิดจากปัญหาทางสุขภาพจิตใจที่คล้ายกันจนแทบแยกไม่ออก ยิ่งในเด็กด้วยแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมว่าลูกอยู่ในภาวะเศร้าซึม และยอมรับหากลูกกำลังป่วยด้วยโรคซึมเศร้า เพื่อหาทางรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

 

‘โรคซึมเศร้า’ คือโรคทางจิตเวชที่แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทั้งทางร่างกาย จิตใจ เช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ วิตกกังวล หรือหดหู่ตลอดเวลา ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานเกินสองสัปดาห์ขึ้นไป

ในขณะที่ ‘อาการเศร้าซึม’ เกิดจากความเครียดหรือวิตกกังวล มีอาการคล้ายโรคซึมเศร้าที่ส่งผลในระยะสั้น บางครั้งความเครียดในระดับที่พอดีก็มีข้อดีคือช่วยกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาในชีวิตได้

นอกจากอาการภายนอกที่คล้ายกันจนแทบแยกไม่ออกแล้ว อีกหนึ่งสาเหตุที่เด็กที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดจากคุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจ ไม่เปิดใจยอมรับ เข้าใจไปเองว่าลูกอ่อนแอ ดื้อ หรือเรียกร้องความสนใจเท่านั้น  ผลที่ออกมาจึงพบได้ว่ามีเด็กที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจำนวนไม่น้อยอาการรุนแรงถึงขั้นลงมือทำร้ายตัวเองได้

M.O.M ลองรวบรวมความแตกต่างระหว่างโรคซึมเศร้ากับอาการเศร้าซึม ให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตลูกตัวเองกันค่ะ

1. เศร้าซึมเป็นเรื่องชั่วคราว แต่ซึมเศร้าอยู่กับเรานาน

depressed_web_1

อาการเศร้าซึม: ลูกมีอาการเศร้าเพียงชั่วคราว อาจเกิดได้จากการโดนคุณพ่อคุณแม่ดุ แต่จะกลับมาร่าเริงใหม่ เมื่อได้ทำในสิ่งที่ชอบ ยกตัวอย่างเช่น ดูการ์ตูน เตะบอล

โรคซึมเศร้า: ในภาวะซึมเศร้ารุนแรงสังเกตได้จาการเห็นลูกซึม เปิดการ์ตูนให้ดูหรือพาไปทำกิจกรรมที่ชื่นชอบก็ไม่ทำให้รู้สึกดีขึ้นนานเกินสองสัปดาห์ถึงหนึ่งเดือน หรือมีอาการดีขึ้นบ้างบางช่วง แต่ก็จะกลับมาเศร้าและหดหู่ในระยะยาวต่อไป

2. เศร้าซึมรู้สาเหตุ แต่ซึมเศร้าอาจหาสาเหตุไม่ได้

depressed_web_2

อาการเศร้าซึม: ลูกมีสาเหตุของความเศร้าชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น เศร้าเพราะโดนแม่ดุ เศร้าเพราะญาติเสีย หรือเศร้าเพราะคิดถึงบ้าน เป็นต้น

โรคซึมเศร้า: ไม่สามารถระบุสาเหตุแน่ชัด ในเด็กบางคนอาจเกิดหลังจากที่ลูกมีหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจรุนแรง เช่น อุบัติเหตุหรือถูกทำร้าย แต่ในเด็กบางคนสามารถเป็นโรคซึมเศร้าจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง และหาสาเหตุของความเศร้าไม่ได้

3. เศร้าซึมทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ แต่ซึมเศร้าทำให้ทุกสิ่งหยุดชะงัก

depressed_web_3

อาการเศร้าซึม: ลูกสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แม้จะมีความกังวลหรือเศร้าซึมปนอยู่บ้าง แต่อาการนั้นจะไม่กระทบคุณภาพชีวิตของลูกมากเกินไป

โรคซึมเศร้า: ความเศร้าจะรบกวนชีวิตประจำของลูก ทำให้กิจวัตรประจำวันของลูกหยุดชะงัก เช่น นอนไม่หลับหรือนอนหลับทั้งวัน กินน้อยหรือมากเกินไป ไม่พูดคุย และขาดเรียนบ่อยผิดปกติ

4. เศร้าซึมยังรู้สึกตัวเองมีค่า แต่ซึมเศร้ารู้สึกตัวเองไร้ค่า

depressed_web_4

อาการเศร้าซึม: เมื่อลูกทำผิด และถูกตำหนิ ลูกอาจรู้สึกแย่ และคิดว่าตัวเองต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ทำลงไป แต่ความผิดนั้นจะไม่ทำให้ลูกรู้สึกตัวเองไร้ค่า หรือตำหนิตัวเองอย่างถาวร

โรคซึมเศร้า: ลูกมักตำหนิหรือโทษตัวเองอย่างรุนแรง คิดว่าตัวเองไม่มีค่าจนถึงขั้นทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตายได้

5. เศร้าซึมอยากเล่าปัญหา แต่ซึมเศร้าอยากอยู่คนเดียว

depressed_web_5

อาการเศร้าซึม: ลูกจะรู้สึกสบายใจเมื่อได้เล่าปัญหาหรือความทุกข์ให้ครอบครัวหรือคนรอบข้างฟัง

โรคซึมเศร้า: สังเกตได้ว่าลูกจะหลีกหนีสังคม แยกตัวเองจากครอบครัวและเพื่อน และไม่อยากเล่าปัญหาของตัวเองให้คนอื่นฟัง

6. เศร้าซึมรับมือกับปัญหา แต่ซึมเศร้ารู้สึกหมดหวัง

depressed_web_6

อาการเศร้าซึม: ลูกอาจรู้สึกว่าปัญหาที่เข้ามากมายเกินรับไหว แต่ก็พยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ผ่านพ้นไปได้ และกลับมาเป็นเด็กที่ร่าเริง

โรคซึมเศร้า: สังเกตได้ว่าลูกจะรู้สึกสิ้นหวังกับปัญหา ไม่รู้ว่าจะจัดการกับปัญหาอย่างไร หรือทำไปเพื่ออะไร

7. เด็กเศร้าซึมเคลื่อนไหวร่างกายปกติ แต่ซึมเศร้าเคลื่อนไหวร่างกายช้าลง

depressed_web_7

อาการเศร้าซึม: ลูกสามารถพูด คิด เรียนหนังสือและเคลื่อนไหวร่างกายได้ปกติ แต่อาจมีปัญหาด้านสมาธิและความจำในระยะสั้น หรือเฉพาะช่วงเวลาที่เครียด

โรคซึมเศร้า: ลูกพูด คิด เรียนหนังสือและเคลื่อนไหวร่างกายช้าลง สมาธิสั้น และหลงลืมมากขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

 

 

 

อ้างอิง
Today.line
Nuuneoi
Honestdocs

 


Panitnun W.

'แพม' ไม่มีลูกเป็นของตัวเอง แต่รักเด็กเป็นชีวิตจิตใจ ว่างไม่ได้ต้องหาคลิปเด็กมาดู ถ้าได้ดูคลิปเด็กก่อนนอนนี่คือจะฟินมาก และที่ชอบมากอีกอย่างคือ แซลมอน ความฝันคือ ถ้ามีเงินจะเปิดฟาร์มแซลมอน

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST