READING

วิธีรับมือโรคสมาธิสั้น (ADHD) ของลูก และความซนจนคุ...

วิธีรับมือโรคสมาธิสั้น (ADHD) ของลูก และความซนจนคุณไม่รู้จะทำอย่างไรดี

เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นควรพบแพทย์ให้อาการดีขึ้นก็จริง แต่คุณพ่อคุณแม่ก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน เช่น วิธีการเลี้ยงดู ซึ่งอาจช่วยปรับพฤติกรรมลูกได้

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ที่ลูกสมาธิสั้น ควรทำความเข้าใจกับธรรมชาติของโรค และพยายามหาข้อดีเล็กๆ น้อยๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ถ้าลูกไม่อยู่นิ่ง กระตือรือร้น อยากทำกิจกรรมตลอดเวลา ก็พาเขาไปเล่นกีฬานอกบ้าน หรือถ้าอยู่ที่โรงเรียน ก็ให้ช่วยงานคุณครู เช่น หยิบของให้ เป็นต้น

 

 

การดูแลเบื้องต้นที่ผู้ปกครองทำที่บ้านเองได้ทุกวัน เพื่อลดอาการสมาธิสั้นของลูก เช่น

– ไม่ให้ลูกอยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานเกินไป เช่น พยายามเลี่ยงไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์หรือเกม พออายุมากกว่า 2 ขวบถึงอนุญาตให้เล่นประมาณ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน

– สร้างวินัยให้ลูก เช่น จัดสรรเวลากิน นอน และเล่นให้ชัดเจน เพื่อฝึกให้ลูกควบคุมตัวเอง และรู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร

 

และถ้าจะให้ดีกว่านั้น ก็อาจต้องปรับทัศนคติและพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก ดังนี้

1. มีสติและใช้คำพูดเชิงบวก

ADHD_kids_1

แทนที่จะทำให้บ้านมีแต่กฎ หรือมีแต่คำสั่งว่าห้ามทำนู่นนี่ ลองเปลี่ยนมาตามใจลูกดูบ้าง แต่ต้องทำตามเงื่อนไขที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งไว้

 

ตัวอย่าง

(ผิด) คุณแม่: อย่ากวนตอนคุณแม่กับคุณพ่อคุยกันนะคะ

(ถูก) คุณแม่: รอแป๊บนึงนะคะ แล้วคราวหน้าถ้าหนูอยากคุยกับคุณพ่อคุณแม่ หนูควรจะเรียก “คุณแม่คะ คุณพ่อคะ” ก่อนนะคะ

หรือ

(ผิด) คุณแม่: เลิกงอแงเลยนะคะ

(ถูก) คุณแม่: จะเอาอะไรก็ค่อยๆ พูดดีๆ กับคุณแม่นะคะ

2. ให้คะแนนพฤติกรรมที่ดี

ADHD_kids_2

เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมักไม่สนใจรางวัลที่ต้องใช้เวลานาน เพราะเขารอให้ถึงเวลานั้นไม่ได้ หรือลืมเป้าหมายที่ต้องการไปเสียก่อน

ดังนั้น ควรสร้างแรงจูงใจให้ลูกร่วมมือกับคุณ ด้วยการสะสมรางวัลแบบง่ายๆ เห็นผลลัพธ์ได้ทันที โดยอาจวาดภาพให้เขาเห็นว่า ถ้าสะสมคะแนนถึงเป้าหมายแล้วจะได้อะไร เช่น ถ้าเล่นกับสัตว์เลี้ยงเบาๆ หรือนั่งนิ่งๆ บนโต๊ะอาหารได้ตลอดมื้อ เท่ากับ 2 คะแนน และถ้าทำได้ 10 คะแนน จะได้การ์ตูนเล่มใหม่ทันที ซึ่งจะได้ผลมากกว่าให้ลูกรอรางวัลนานๆ

3. จับเวลาตอนทำกิจกรรมต่างๆ

ADHD_kids_3

เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะถูกสิ่งรอบข้างรบกวนง่าย ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมตัวไปโรงเรียน หรือเสียสมาธิในห้องเรียนก็ตาม ลองจับเวลาเพื่อเตือนลูกว่าตอนนี้ต้องโฟกัสที่งานไหน โดยอาจบอกเขาว่า “ลูกต้องแต่งตัวหรือทำการบ้านหน้านี้ให้เสร็จก่อนเสียงนาฬิกาดังนะคะ”

จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยกันสังเกตและวางแผนว่า ลูกอดทนและมีสมาธิต่อเรื่องไหนมากน้อยเท่าไร แล้วจัดสรรเวลาให้ลูกทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเหมาะสม

4. จัดสรรให้ทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

ADHD_kids_4

อย่าออกคำสั่งเป็นชุดกับลูกที่สมาธิสั้น เพราะพวกเขาทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกันไม่ได้ และการรับข้อมูลทุกอย่างด้วยการบอกเพียงครั้งเดียว ยังยากเกินความสามารถของลูก

เพราะฉะนั้น บอกเขาว่าคุณต้องการให้เขาทำอะไร ณ เวลานั้น ทีละอย่าง เช่น

ก่อนลูกจะเล่นของเล่น: “ถ้าจะเล่นของเล่น ก็ควรปิดทีวีก่อนนะคะ”

ขณะลูกเล่นของเล่น: “เล่นของเล่นทีละชิ้นนะคะ” หรือ “เก็บของเล่นชิ้นแรกให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยเล่นอีกชิ้นนะคะ”

5. เป็นตัวอย่างให้ลูก

ADHD_kids_5

ไม่ต้องอธิบายรายละเอียดคำสั่งหรือกิจกรรมใหม่ๆ แต่สาธิตหรือทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น และอธิบายด้วยข้อความที่เข้าใจง่าย รวบรัด และชัดเจน เพราะลูกจะตีความและเข้าใจง่ายกว่า และลองทำตามได้

คุณอาจต้องทวนซ้ำข้อความเหล่านั้น แต่ย้ำกับตัวเองเสมอว่า ต้องพูดให้ช้าและชัด เข้าใจง่าย และต้องใจเย็น มีสติ ถ้าลูกยังทำตามไม่ได้สักทีก็ต้องอดทน ทำซ้ำให้ลูกเห็นเรื่อยๆ ให้ลูกได้พัฒนาตัวเอง

6. เล่นสนุกอย่างนุ่มนวล

ADHD_kids_6

เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมักถูกกระตุ้นง่าย เมื่ออยู่ร่วมกับเพื่อนฝูงหรือคนแปลกหน้าหลายคน ซึ่งอาจวุ่นวายขนาดย่อมๆ เลย

เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้ลูกเล่นสนุกตามธรรมชาติของเด็ก การชวนเพื่อนสนิทลูกมาเล่นด้วยกันที่บ้าน อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะคุณพ่อคุณแม่ดูแลได้ทั่วถึงมากกว่า

7. สร้างมุมหลบภัยให้ลูก

ADHD_kids_7

เลือกสักมุมของบ้านเป็นจุดสงบของลูก พยายามให้เป็นพื้นที่เรียบร้อย สบายตา เพื่อช่วยลดความขุ่นเคืองในใจของเขา ถ้าลูกอารมณ์ไม่ดีหรือไม่มีสมาธิ ให้พาเขาไปสงบสติและจัดการอารมณ์ ก่อนจะควบคุมตัวเองไม่ได้

8. ปล่อยให้ธรรมชาติช่วยจัดการบ้าง

ADHD_kids_8

เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมักมีวิธีต่อรองที่ชาญฉลาดตามสไตล์พวกเขา การบอกว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ อาจยิ่งทำให้เสียเรื่องไปกันใหญ่ ดังนั้น ลองยอมให้บางพฤติกรรมเกิดขึ้น และให้ธรรมชาติเป็นตัวจัดการ นอกจากลูกจะผ่อนคลายแล้ว คุณพ่อคุณแม่จะได้ไม่เครียดเกินไปด้วย

เช่น ถ้าลูกยืนยันว่าจะไม่กินข้าวกลางวัน เพราะอยากไปวิ่งเล่น ก็ปล่อยให้เขาไปเล่นเถอะ แล้วลูกจะรู้เองว่าถ้าเกิดหิวขึ้นมาตอนบ่าย ต้องรอจนถึงมื้อเย็นกว่าจะได้กินข้าว แล้วเขาจะเรียนรู้เองโดยธรรมชาติว่า ไม่ควรอดข้าวกลางวัน

 

และอย่าลืมว่า เมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียนแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องปรึกษาคุณครูตลอด เพื่อให้ลูกปรับตัวและเรียนพร้อมกับเพื่อนๆ ได้ เพราะสำหรับเด็กที่สมาธิสั้นแล้ว การปรับพฤติกรรมบางอย่างของคนรอบข้างและตัวเองช่วยเขาได้มาก ทุกฝ่ายจึงสำคัญกับการเยียวยาอาการเด็ก

ซึ่งวิธีรับมือทุกข้อที่กล่าวมา สามารถประยุกต์ใช้ร่วมกันระหว่างครูและพ่อแม่ได้

 

เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวนะคะ


Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST