READING

5 การเลี้ยงดูเชิงบวก ช่วยพัฒนาเด็กสมาธิสั้น(ADHD)...

5 การเลี้ยงดูเชิงบวก ช่วยพัฒนาเด็กสมาธิสั้น(ADHD)

ADHD

โรคสมาธิสั้น หรือ Attention Deficit Hyperactivity Disorder ( ADHD ) คือ ภาวะผิดปกติทางจิตเวช ที่ทำให้เด็กขาดความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหวของตัวเอง ทำให้มีลักษณะคล้ายเด็กซุกซน เพราะอยู่นิ่งไม่ได้ ไม่มีสมาธิ วอกแวกตลอดเวลา ไม่ค่อยโฟกัสหรือตั้งใจฟังเมื่อมีคนพูดด้วย รวมถึงการมีทักษะและพัฒนาการปรับตัวให้เข้ากับสังคมน้อยกว่าคนอื่น

การเลี้ยงดูเด็กที่มีอาการสมาธิสั้นจึงต้องใช้ทั้งความเข้าใจ ความอดทน และความใจเย็นของคุณพ่อคุณแม่มากกว่าเด็กทั่วไป

M.O.M จึงนำเทคนิคการเลี้ยงดูเชิงบวกที่ช่วยให้การดูแลลูกสมาธิสั้นเป็นไปอย่างมีศักยภาพ มาให้คุณพ่อคุณแม่ลองนำไปปรับใช้กันดูนะคะ

1. ตอบสนองลูกด้วยพฤติกรรมเชิงบวกเสมอ

พฤติกรรมเชิงบวก

การเลี้ยงลูก ADHD โดยทั่วไป คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องใช้แรงกายแรงใจไม่น้อยอยู่แล้ว แต่สำหรับลูกสมาธิสั้นนั้น คุณพ่อคุณแม่คงต้องเตรียมใจว่าจะต้องหงุดหงิดกับพฤติกรรมของลูกมากขึ้นไปอีกหลายเท่าแต่การตอบสนองลูกด้วยความเกรี้ยวกราดและดุดันนั้นไม่มีประโยชน์ ทางที่ดีคือคุณพ่อคุณแม่ควรตั้งสติและเข้าหาหรือตอบสนองลูกด้วยความใจเย็น ไม่ดุ ไม่ข่มขู่ แต่ใช่วิธีให้เวลาและใส่ใจลูกให้มากขึ้น จะเป็นการรับมือกับเด็กสมาธิสั้นได้ดีและมีประโยชน์ต่อพัฒนาการของลูกมากกว่า

2. ให้คำแนะนำลูกแบบเฉพาะเจาะจง

เฉพาะเจาะจง

บางครั้งลูกก็ต้องการคำแนะนำจากคุณพ่อคุณแม่ เพราะเขาไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่อยู่ตรงหน้าด้วยตัวเองได้ ทำให้ลูกเลือกที่จะปล่อยปัญหาไว้อย่างนั้น แล้วหันไปทำอย่างอื่นแทน โดยที่เรื่องเดิมก็ยังไม่ได้รับการจัดการให้เรียบร้อย

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและเข้าไปให้ความช่วยเหลือหรือคำแนะนำกับลูกให้ทันท่วงที โดยการให้คำแนะนำที่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรก้มตัวลงไปในระดับสายตาของลูก สบตาลูก จับมือหรือสัมผัสตัวเพื่อให้ลูกรับรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่กำลังตั้งใจพูดกับเขา แล้วค่อยๆ บอกสิ่งที่อยากให้ลูกทำ เช่น หนูไปเก็บของเล่นก่อนนะคะ แล้วค่อยมานั่งกินขนม ด้วยการเน้นคำพูดที่เฉพาะเจาะจง ใช้ข้อความที่เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน และไม่พูดนอกประเด็น เพื่อให้ลูกจับใจความสิ่งที่ต้องทำได้ง่ายและทำตามได้ทันทีค่ะ

3. ชมเชยเมื่อลูกทำได้ดี

ชมเชย

สำหรับเด็กสมาธิสั้น ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคุณพ่อคุณแม่เท่านั้น เพราะภาวะสมาธิสั้น ทำให้ลูกเป็นเด็กที่กระตุ้นได้ง่าย แต่มีสมาธิจดจ่อ หรือทำอะไรให้สำเร็จลุล่วงได้ยาก

ดังนั้นหากพบว่าลูกทำอะไรได้ดี หรือสำเร็จลุล่วงได้ตามที่ตั้งใจแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรชมเชยในความพยายามและให้กำลังใจลูกอยู่เสมอ เพราะการชื่นชมจะช่วยกระตุ้นให้ลูกเลือกที่จะแสดงพฤติกรรมที่ดีมากขึ้น

และเช่นเดียวกันกับการให้คำแนะนำ การชมเชยลูกก็ควรเป็นการชม ที่เฉพาะเจาะจง เช่น หนูทำได้ดีมากเลย ที่เก็บของเล่นทันทีที่แม่บอก ลูกจะได้เข้าใจว่าที่ตัวเองได้รับคำชมนั้นมาจากการทำอะไรแน่

4. ใช้ Time out ในเวลาที่ลูกงอแงมากเกินไป

time out

เมื่อลูกต่อต้าน งอแงโวยวาย จนไม่สามารถควบคุมอะไรได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้วิธี Time out เพื่อให้ลูกได้สงบสติอารมณ์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการลงโทษที่รุนแรงกับลูก ไม่ตะคอก ตี หรือทำให้ลูกอับอาย เพียงแต่พาลูกออกไปสงบสติอารมณ์ นั่งอยู่ข้างๆ เขาจนกว่าเขาจะรู้สึกใจเย็นขึ้น และค่อยพูดคุยว่าทำไมคุณพ่อคุณแม่ถึงทำแบบนี้ด้วยท่าทีที่สงบและใจเย็นจะเป็นผลดีกับลูกมากกว่า

5. ไม่ตอบสนองเมื่อลูกใช้พฤติกรรมที่ไม่ดีเรียกร้องความสนใจ

ไม่ตอบสนอง

เด็กสมาธิสั้นมักจะมีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ ซึ่งบางครั้งลูกอาจเลือกใช้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการแสดงออกเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่หันมาสนใจหรือตอบสนองความต้องการของเขา เช่น ขว้างปาสิ่งของ หรือส่งเสียงดังโวยวาย หากคุณพ่อคุณแม่ให้ความสนใจหรือตอบสนองเมื่อลูกมีพฤติกรรมดังกล่าว จะยิ่งทำให้ลูกเข้าใจว่าเป็นวิธีที่ใช้ได้ผล และมักนำกลับมาใช้บ่อยๆ

ดังนั้นการเพิกเฉยหรือไม่ตอบสนองเมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และสอนให้ลูกรู้ว่าควรแสดงออกอย่างไร จะช่วยสอนให้ลูกรู้ว่าพฤติกรรมที่ไม่น่ารักไม่ได้ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ตอบสนองความต้องการของลูกเสมอไป แล้วลูกก็จะลดพฤติกรรมดังกล่าวลงไปเองค่ะ

อ้างอิง
verywellfamily
webmd
parentswithconfidence

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST