READING

4 วิธีสอนลูกวัยหัดเดินให้เข้าใจเรื่องข้อห้ามและกฎร...

4 วิธีสอนลูกวัยหัดเดินให้เข้าใจเรื่องข้อห้ามและกฎระเบียบ

เด็กในวัยหัดเดิน (ช่วงวัย 2-3 ปี) ถือเป็นวัยวัยแห่งการล้มลุกคลุกคลาน เพราะพัฒนาการหลายอย่างจะเริ่มแสดงออกมาให้เห็นได้ในช่วงวัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทรงตัว เดิน วิ่ง กระโดดโลดเต้น และยังเป็นช่วงวัยที่เด็กต้องการเรียนรู้และทดสอบศักยภาพทุกด้านของตัวเอง

ด้วยความอยากรู้อยากเห็นที่เต็มเปี่ยม ทำให้พฤติกรรมของลูกวัยนี้กลายเป็นเรื่องยากสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เพราะอยู่ดีๆ ลูกก็อาจจะอยากลองขว้างปาสิ่งของ ตี จิก กระโดด วิ่งพล่าน หรือแม้แต่กรีดร้องเสียงดังขึ้นมาเฉยๆ

แต่ใช่ว่าเด็กวัยนี้จะมีแต่พฤติกรรมทำลายล้าง เพราะช่วงวัยนี้เด็กยังสามารถเริ่มเรียนรู้และทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ รวมถึงข้อตกลง และกฎระเบียบต่างๆ ได้

ดังนั้น นอกจากจะปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้และใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนเรื่องข้อตกลงและกฏระเบียบต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย

แต่จะสอนด้วยวิธีอย่างไรบ้าง เรามีเทคนิคดีๆ มาบอกค่ะ

1. กำหนดขอบเขตให้ที่ลูกทำได้

Discipline_web_1

พฤติกรรมของเด็กวัยนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการอยากทดลองว่าอะไรที่ตัวเขาทำได้และทำไม่ได้ ทำแล้วจะมีรีแอ็กชั่นจากคุณพ่อคุณแม่อย่างไร เช่น ลองรื้อตระกร้าผ้า คุ้ยกระบะของเล่น หยิบของออกมาขว้างปา

ดังนั้นแทนที่คุณพ่อคุณแม่จะคอยดุหรือคอยห้ามลูกทุกครั้ง ควรมีการสร้างข้อตกลงและกำหนดขอบเขตสิ่งที่ลูกทำได้และไม่ได้เอาไว้ เช่น ตกลงกับลูกว่าถ้าลูกอยากจะเล่นปาลูกบอล ลูกต้องออกไปเล่นที่สนามหน้าบ้าน และไม่ปาลูกบอลเข้าใส่คนอื่น สัตว์เลี้ยง หรือทำให้สิ่งของอื่นๆ เสียหาย

ที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่จะต้องมั่นคงในขอบเขตนั้นๆ ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพราะจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกอยากรู้ว่าถ้าทำผิดไปจากข้อตกลงจะได้รับผลอย่างไร ทำไมบางครั้งทำได้และทำไมบางครั้งถึงโดนห้าม ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่เข้มงวดในขอบเขตนั้นๆ มากพอ การสอนนี้ก็จะไม่ได้ผลเท่าที่ควรค่ะ

2. อธิบายให้ลูกเห็นผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น

Discipline_web_2

คุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่หลายคนคุ้นเคยที่จะดุ หรือเอ่ยปากห้าม เมื่อเห็นลูกทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และบางครั้งก็ออกคำสั่งว่าไม่ให้ทำอย่างนั้นอีก แต่ความจริงแล้วสิ่งที่จะทำให้ลูกเชื่อฟังและทำตามคำสั่งของคุณพ่อคุณแม่ได้ดีที่สุดก็คือ ทำให้ลูกเข้าใจถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาจากสิ่งนั้น เช่น อธิบายว่าที่ต้องห้ามไม่ให้ลูกเล่นปาบอลในบ้าน เพราะมันอาจจะไปโดนข้าวของตกลงมาเสียหายได้

ส่วนวิธีที่ไม่ควรทำก็คือการต่อว่าด้วยถ้อยคำรุนแรงหรือขู่ให้ลูกกลัวในสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เพราจะยิ่งทำให้ลูกขาดความเชื่อถือในตัวคุณพ่อคุณแม่ และกฎระเบียบของคุณพ่อคุณแม่ก็จะใช้ไม่ได้ผลไปด้วย

3. มีทางออกหรือทางเลือกให้ลูกเสมอ

Discipline_web_3

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำให้ลูกรู้สึกว่า ทำนั่นก็ไม่ได้ ทำนี่ก็ไม่ได้ เพราะวัยแห่งการเรียนรู้ของลูกไม่ควรถูกปิดกั้นด้วยข้อห้ามของคุณพ่อคุณแม่ และเพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกว่ากฎระเบียบทำให้อึดอึดเกินไป ดังนั้นหากจำเป็นต้องห้ามไม่ให้ลูกทำอะไรแล้วละก็ คุณพ่อคุณแม่ควรเสนอทางเลือกที่น่าสนใจหรือมีทางออกที่ดีกว่าให้ลูกเป็นการทดแทนด้วย เช่น แม่ไม่อนุญาตให้เล่นปาลูกบอลใส่สิ่งของ แต่ถ้าลูกอยากทดสอบความแม่นยำ แม่จะหาตะกร้ามาวางแล้วให้ลูกเล่นโยนลูกบอลลงไปแทนได้

4. มีบทลงโทษที่เหมาะสม

Discipline_web_4

เมื่อมีกฎกติกาที่ตกลงกันเรียบร้อย คุณพ่อคุณแม่ก็ควรมีวิธีการรับมือเมื่อลูกฝ่าฝืนหรือไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้ เช่น เมื่อตกลงกันแล้วว่าให้ลูกเล่นปาลูกบอลที่หน้าบ้านเท่านั้น ถ้าลูกฝ่าฝืนเอาลูกบอลเข้ามาปาในบ้าน คุณแม่จะเอาลูกบอลไปเก็บ และอธิบายว่าเป็นเพราะลูกทำผิดข้อตกลงอย่างไรบ้าง

สิ่งสำคัญของการตั้งบทลงโทษ คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกวิธีที่เหมาะสม ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีรุนแรง แต่ต้องเด็ดขาดและเป็นสิ่งที่ทำได้จริง เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าการเคารพกฎเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญต่อไป

อ้างอิง
verywellfamily
healthychildren
healthline

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST