READING

เมื่อลูกเป็นเด็กขี้ขโมย! 4 วิธีจัดการแบบไม่ทำร้ายจ...

เมื่อลูกเป็นเด็กขี้ขโมย! 4 วิธีจัดการแบบไม่ทำร้ายจิตใจลูก

คงไม่มีพ่อแม่คนไหนรู้สึกดีเมื่อรู้ว่าลูกของเราได้มีนิสัยและกลายเป็นเด็กที่ชอบขโมยของของคนอื่น

แม้ว่าการขโมยของนั้น หากเกิดขึ้นในเด็กโตจะถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่จำเป็นต้องว่ากล่าวตักเตือน แต่สำหรับเด็กเล็กแล้ว การหยิบฉวยสิ่งของคนอื่นมาโดยไม่ได้รับอนุญาตอาจเป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ เพราะเด็กเล็ก อาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องการเป็นเจ้าของไม่เข้าใจเรื่องการซื้อขาย รวมถึงไม่เข้าใจผลเสียของการหยิบของของคนอื่นมาโดยไม่ได้รับอนุญาต

ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกกลายเป็นเด็กลักขโมยของคนอื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ การค่อยๆ สอนและตั้งรับเมื่อลูกทำผิดพลาดด้วยความประนีประนอม ย่อมเป็นวิธีที่ดีกว่าการดุด่าว่ากล่าว หรือลงโทษอย่างรุนแรง

ลองมาดูกันว่า คุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีรับมือกับปัญหาหรือป้องกันไม่ให้ลูกมีนิสัยลักขโมยได้อย่างไรบ้าง

1. สอนลูกให้รู้จักความซื่อสัตย์จากหนังสือนิทาน

Stealingchild_web_1

บางครั้งการลักขโมยของเด็ก อาจเกิดจากความไม่ซื่อสัตย์ที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ เช่น เจอเงินหล่นอยู่ที่พื้น เด็กไม่รู้ว่าของใคร จึงเข้าใจว่าสามารถเก็บมาเป็นของตัวเองได้

ดังนั้นการสอนให้ลูกรู้จักความซื้อสัตย์ จึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม และการสอนผ่านการเล่าหรืออ่านนิทานให้ฟัง ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ลูกเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะนิทานจะมีการยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เข้าใจง่าย ทำให้ลูกมีต้นแบบและพร้อมที่จะทำตัวตามตัวอย่างนั้น

ความซื่อสัตย์ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยป้องกันให้ลูกไม่โกหกและไม่ลักขโมยของของคนอื่นได้

2. สอนลูกให้รักษาสิ่งของ

Stealingchild_web_2

ลองให้ลูกมีหน้าที่ในการเก็บรักษาของใช้หรือของเล่นด้วยตัวเองดูค่ะ เพราะนี่เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกเข้าใจว่าสิ่งของต่างรอบตัวมีความสำคัญกับตัวเองอย่างไร และทำให้รู้ว่าสิ่งของของผู้อื่นก็สำคัญเช่นกัน

เมื่อสอนให้ลูกรู้จักเก็บรักษาสิ่งของของตัวเองแล้ว ลูกจะเข้าใจว่าการมีคนมาหยิบของเขาไปโดยไม่ได้รับอนุญาต จะส่งผลเสียหรือทำให้ลูกรู้สึกอย่างไรบ้าง ดังนั้นการสอนให้ลูกเคารพสิทธิ์การเป็นเจ้าของของคนอื่น และขออนุญาตก่อนหยิบของคนอื่นทุกครั้ง จะทำให้ลูกเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น

3. หากเผลอหยิบของคนอื่นไปแล้วต้องนำมาคืนและขอโทษ

Stealingchild_web_3

หากลูกของคุณพ่อคุณแม่เผลอหยิบหรือลักขโมยสิ่งของคนอื่นมาแล้ว สิ่งสำคัญคือการนำสิ่งของดังกล่าวกลับไปคืนเจ้าของ โดยคุณพ่อคุณแม่จะต้องให้ลูกมีส่วนร่วมรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ ด้วยการเป็นคนคืนสิ่งของนั้นด้วยตัวเอง พร้อมขอโทษหรือ แสดงออกถึงความเสียใจ รู้สึกผิด และจะไม่ทำอีก

4. พูดคุยถามถึงเหตุผล

Stealingchild_web_4

ถ้าลูกของคุณพ่อคุณแม่ เริ่มมีพฤติกรรมหยิบของคนอื่นมาโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการถามเหตุผลหรือแรงจูงใจของลูก เพราะหากรู้สาเหตุก็ย่อมหาวิธีแก้ไขได้ดีกว่าการดุด่าหรือทำให้ลูกรู้สึกอับอายต่อหน้าคนอื่น

นอกจากนั้นการพูดคุยถามถึงเหตุผล ยังทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่กำลังต้องการให้ความช่วยเหลือ และไม่ทอดทิ้งเมื่อเขาทำผิดอีกด้วย

อ้างอิง
verywellfamily
familyeducation
positivediscipline

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST