เด็กกับความดื้อเป็นของคู่กัน ถึงแม้พ่อแม่หลายคนจะเข้าใจและทำใจไว้แล้วว่าความดื้อก็เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการตามวัยของลูกน้อย เป็นหนึ่งในเรื่องที่พ่อแม่ต้องเผชิญ อดทน และรับมือกับความดื้อของลูก เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ เติบโต และมีพัฒนาการสมวัย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า บางครั้งลูกก็ดื้อมากเหลือเกิน… จนพ่อแม่แทบรับมือไม่ไหว
บทความนี้จะช่วยตอบความสงสัยข้องใจของพ่อแม่ว่าทำไมเด็กตัวเล็กๆ ที่เราเลี้ยงดูมากับมือ คาดหวังว่าลูกจะต้องเป็นเด็กที่ว่านอนสอนง่าย ทำไมถึงกลายเป็นเด็กดื้อแสนดื้อ เพื่อเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติความดื้อของเด็ก แล้วนำไปหาวิธีรับมือและหาทางแก้ไขความดื้อเกินพิกัดของเจ้าตัวแสบได้อย่างถูกวิธี
1. ดื้อเพราะพัฒนาการตามวัย

เมื่อลูกอายุได้ 1-2 ปี ธรรมชาติของเด็กวัยนี้คืออยากจะสำรวจและเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว และอยากแสดงความเป็นตัวเอง ผ่านการกระทำให้คนอื่นได้รับรู้ แต่บางทีการแสดงความเป็นตัวเองของเด็กอาจจะขัดกับสิ่งที่พ่อแม่ต้องการหรือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมที่จะปฏิบัติในสังคม
2. ดื้อเพราะอยากทดสอบพ่อแม่

ยิ่งคุณพ่อคุณแม่ห้าม ก็เหมือนยิ่งยุให้เขาลองทำในสิ่งตรงข้าม เพราะเด็กอยากเรียนรู้ว่าพ่อแม่จะมีปฏิกิริยาต่อเขาอย่างไร
บางครั้งคุณพ่อคุณแม่จึงควรให้เขาลองทำตามใจตัวเองและเรียนรู้จากผลลัพธ์ที่ได้ เช่น เมื่อเขาดื้อจะกินน้ำเย็นตอนที่ไม่สบาย จะทำให้เขาไอและเจ็บคอมากกว่าเดิม ลูกก็จะจดจำและเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้มากขึ้น
นอกจากนี้ลูกยังได้เรียนรู้ลิมิตการควบคุมอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ เช่น เมื่อไหร่ที่คุณเริ่มใช้เสียงแข็งกับเขา หมายความว่าพ่อกับแม่กำลังไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของเขา ลูกก็จะหยุดพฤติกรรมดังกล่าวได้
3. ดื้อเพราะไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดสอน

คำพูดบางคำที่คุณพ่อคุณแม่สอนลูก เป็นนามธรรมเกินกว่าที่เด็กในวัยของลูกจะเข้าใจได้ และเพราะความไม่เข้าใจ ทำให้เด็กไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่พ่อแม่บอกนั่นเอง
สมมติคุณพ่อคุณแม่อยากสอนให้ลูกรู้จักประหยัดอดออมเงิน แต่กลับใช้คำว่าประหยัดมัธยัสถ์กับลูก ก็เป็นคำที่ยากเกินที่เด็กจะเข้าใจได้ ดังนั้น พ่อแม่ลองเปลี่ยนไปใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย เช่น เปลี่ยนจากคำว่ารู้จักประหยัดมาเป็นการชวนลูกเก็บเงินใส่กระปุกทุกวัน
หรือทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น พร้อมอธิบายให้เขาฟังว่าการกระทำแบบนี้เรียกว่าอะไร เช่น การที่คุณแม่เลือกซื้อแต่ของที่จำเป็นและคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป แบบนี้ก็เรียกว่ารู้จักประหยัดนะคะ
4. ดื้อเพราะพ่อแม่ไม่คงเส้นคงวา

คุณพ่อคุณแม่ย่อมมีวันที่อารมณ์ดี และก็อยากจะตามใจลูกไปหมดซะทุกอย่าง แต่วันไหนที่อารมณ์ไม่ดี ลูกทำอะไรก็ขวางหูขวางตา สิ่งที่ลูกเคยขอและได้รับในวันก่อน วันนี้กลับไม่ตามใจเสียแล้ว หากพ่อแม่เป็นแบบนี้บ่อยๆ จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกสับสน และพยายามทดสอบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ด้วยการดื้อไม่เชื่อฟังพ่อแม่นั้นเอง
ดังนั้น พ่อแม่ควรแสดงพฤติกรรมสม่ำเสมอกับลูก หรือถ้าหากวันไหนจำเป็นต้องเข้มงวดหรือมีการยกเว้นให้เป็นพิเศษก็ควรอธิบายเหตุผลให้ลูกเข้าใจเสมอ
5. ดื้อเพราะความเครียด

กฎระเบียบที่เคร่งครัดมากเกินไป จนทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเครียดและไม่พอใจที่ตนเองไม่สามารถทำตามกฎระเบียบที่ถูกกำหนดมาได้ เด็กจึงเกิดพฤติกรรมต่อต้าน ดื้อ และไม่เชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่ควรเริ่มจากสร้างกฎที่เด็กทำตามได้ มีการให้รางวัลและชื่นชมเมื่อเด็กทำตามกฎได้ ก็จะช่วยให้เด็กรู้สึกดีและมีความเครียดน้อยลง พฤติกรรมดื้อรั้นไม่เชื่อฟังก็จะลดลงตามไปด้วย
6. ดื้อเพราะเลียนแบบพ่อแม่

เพราะความไม่รู้ว่าอะไรดีไม่ดี เด็กอาจจะซึมซับนิสัยดื้อรั้นมาจากพ่อแม่โดยที่พ่อแม่ก็ไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีส่วนทำให้ลูกกลายเป็นเด็กดื้อเช่นกัน
เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นคนดื้อ และไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กดื้อ พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก เวลาพูดคุยกันในครอบครัว พ่อแม่ควรเปิดใจให้กว้างเพื่อรับฟังกันและกัน พูดคุยกันด้วยเหตุผลแทนที่จะใช้อารมณ์ในการโต้เถียง
7. ดื้อเพราะเด็กไม่สบาย

เพราะความผิดปกติทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะโรคทางจิตเวช เช่น โรคสมาธิสั้น โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า ทำให้เด็กดื้อมากกว่าปกติ จนเกินกว่าที่พ่อแม่จะรับมือไหวนั้นเอง
8. Terrible Two

ภาวะดื้อตามวัย (terrible two) จะปรากฎในเด็กอายุสองขวบ โดยเด็กจะมีอาการต่อต้านทุกสิ่งทุกอย่าง พ่อแม่พูดอะไร ก็ค้านหัวชนฝาลูกเดียว เพราะเด็กวัยนี้เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น รักอิสระ และไม่ชอบให้พ่อแม่มาบังคับ
นี่เป็นธรรมชาติตามวัยของเด็กวัยสองขวบที่พ่อแม่จะต้องเผชิญ และทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อวัยของลูกเปลี่ยนไป
COMMENTS ARE OFF THIS POST