การอบรมสั่งสอนให้ลูกเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมเหมาะสมกับการดุลูกเป็นของคู่กัน เพราะที่คุณพ่อคุณแม่ดุ ก็เพื่อให้ลูกเกิดการเรียนรู้และแก้ไข ดุเพื่อให้ลูกเข้าใจว่าไม่ควรทำความผิดซ้ำอีก แต่การดุหรือตำหนิลูกไม่ถูกวิธี จะส่งผลให้ลูกสูญเสียความเชื่อมั่นและไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง อีกทั้งยังลดคุณภาพความสัมพันธ์ภายในครอบครัวอีกด้วย
ดังนั้นเมื่อคุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องดุ สั่งสอนหรือตักเตือนลูกก็ต้องมีวิธีทำอย่างเหมาะสม เพื่อให้ลูกเชื่อฟัง และไม่ทำร้ายจิตใจและความรู้สึกของลูก
1. ตำหนิที่การกระทำ ไม่ใช่ที่ตัวลูก
คุณพ่อคุณแม่ควรตำหนิที่การกระทำของลูก ไม่ใช่ตำหนิที่ตัวลูก ยกตัวอย่างเช่น “แม่ไม่ชอบที่ลูกแกล้งน้อง” หรือ “แม่ไม่ชอบที่ลูกพูดคำหยาบ” ทำให้ลูกรับรู้ว่า การกระทำนี้คุณพ่อคุณแม่ไม่ชอบ ไม่ยอมรับ และจะปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น
ในทางกลับกัน หากคุณพ่อคุณแม่ตำหนิที่ตัวลูกโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น “ทำไมเป็นเด็กเกเรแบบนี้” หรือ “ลูกแย่มากที่พูดจาแบบนี้” จะส่งผลให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่รักของพ่อแม่ เป็นเด็กไม่ดี ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ท้อแท้ สูญเสียความมั่นใจ และไม่อยากปรับปรุงตัวเองต่อไป
2. หลังจากดุแล้ว บอกสิ่งที่อยากให้ลูกทำ
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อลูกคนโตลงมือตีน้อง แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะบอกกับลูกว่า ห้ามตีน้อง ลองบอกทางแก้ปัญหาให้ลูก เช่น “ลูกไม่จำเป็นต้องตีน้อง ต่อไปนี้ถ้าน้องทำอะไรให้หนูไม่พอใจให้มาบอกแม่” เพราะการห้ามลูกโดยไม่บอกวิธีการแก้ปัญหา เมื่อลูกไม่พอใจน้อง ก็จะตีน้องอีก
3. อย่าดุลูกขณะที่กำลังหงุดหงิด
ลูกจะรู้สึกแย่กับความหงุดหงิดและอารมณ์โกรธของคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้นหากรู้สึกหงุดหงิดควรบอกกับลูกว่า “ตอนนี้แม่หงุดหงิดมาก เดี๋ยวแม่จะไปทำอย่างอื่นก่อน หายโกรธแล้ว แม่จะมาคุยเรื่องนี้กับหนูอีกที” นอกจากลูกจะไม่ต้องรับอารมณ์ของคุณแม่แล้ว ยังได้เรียนรู้วิธีการจัดการกับความโกรธอีกด้วย
4. รับฟังเหตุผลและถามความคิดเห็นในมุมมองของลูก
อย่ารีบตัดสินหรือตำหนิลูกโดยที่ไม่เปิดใจรับฟังคำอธิบายหรือเหตุผลของลูก เพราะจะทำให้ลูกต่อต้านและไม่อยากอธิบายอะไรให้คุณฟังอีก แต่ควรใช้วิธีพูดคุย ถามลูกว่าถ้าเกิดทำผิดซ้ำ จะให้มีวิธีการตักเตือนหรือลงโทษอย่างไร เพื่อให้ลูกคิดถึงผลเสีย วิธีแก้ไข และรับผิดชอบในความผิดของตัวเอง
5. ไม่ดุลูกต่อหน้าคนอื่น
เพราะจะทำให้ลูกเสียหน้า ขาดความมั่นใจ รู้สึกอาย และรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ให้เกียรติ นอกจากนี้ยังทำให้ลูกรู้สึกว่า คำสอนของคุณพ่อคุณแม่ไม่มีความหมาย เพราะลูกจะไม่เข้าใจและไม่รับฟังในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พยายามสอน แม้ว่าจะเป็นคำสอนที่ดีขนาดไหนก็ตาม
COMMENTS ARE OFF THIS POST