READING

Dysfunctional Family : 5 ธงแดง เรากำลังเป็นพ่อแม่บ...

Dysfunctional Family : 5 ธงแดง เรากำลังเป็นพ่อแม่บกพร่องในหน้าที่อยู่หรือไม่

Dysfunctional family

เวลาที่คุณพ่อคุณแม่ ได้ยินคำพูดที่ว่า‘ครอบครัวไม่ใช่เซฟโซน’ จากเด็กๆ รุ่นใหม่ แล้วคงจะสะท้อนความรู้สึกบางอย่างจิตใจได้ไม่น้อย โดยเฉพาะถ้าคำนั้นถูกพูดโดยลูกของเราแล้วละก็ ย่อมทำให้ต้องกลับมาทบทวนว่าเราเป็นพ่อแม่ที่ทำอะไรผิดพลาดหรือบกพร่องเป็นแน่

Dysfunctional family หรือ ครอบครัวบกพร่องในหน้าที่ เป็นคำนิยามที่ใช้อธิบายถึง ครอบครัวที่เต็มไปด้วยการละเลย ไม่ใส่ใจ เต็มไปด้วยสถานการณ์ที่ตึงเครียดและกดดันลูกอยู่เสมอ

ครอบครัวที่บกพร่องในหน้าที่มักมีวิธีการเลี้ยงดูลูกแบบผิดๆ และแทนที่ครอบครัวจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูกก็กลับกลายเป็นตรงข้าม เราจึงอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาสำรวจสถานะของครอบครัวว่าเริ่มเป็น Dysfunctional family และเช็ก 5 ธงแดง แห่งสัญญาณอันตรายว่าคุณกำลังเป็นพ่อแม่ที่บกพร่องในหน้าที่อยู่หรือไม่

1. ละเลยสิ่งพื้นฐานของลูก

Dysfunctional_web_1

ความบกพร่องที่สำคัญที่สุดของการเป็นพ่อแม่ก็คือการละเลยในเรื่องพื้นฐานของลูก เช่น ไม่ได้ใส่ใจเรื่องโภชนาอาหารของลูก ไม่ดูแลความสะอาดทางร่างกายและเสื้อผ้า รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ที่ลืมสังเกตความผิดปกติทางพฤติกรรม ที่มาจากปัญหาทางจิตใจของลูกด้วย

2. ตามใจลูกทุกเรื่อง

Dysfunctional_web_2

พ่อแม่ที่ตามใจ ไม่กล้าห้าม หรือตักเตือนเมื่อลูกทำเรื่องผิดพลาด อาจดูเหมือนเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกต้องการ แต่ความจริงแล้ว การตามใจลูกมากเกินไปอาจเท่ากับการปล่อยปละละเลย และการให้อิสระมากเกินไป อาจกลายเป็นความไม่รอบคอบ ลืมที่จะระมัดระวังจนเกิดอันตรายและอาจทำให้ลูกมีการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้

3. ห้ามลูกทุกเรื่อง

Dysfunctional_web_3

ตรงข้ามกับการตามใจมากเกินไป ก็คือคุณพ่อคุณแม่ที่ห้ามและการสร้างขอบเขตกับลูกมากเกินไป เช่น การห้ามลูกไปไหนมาไหนกับเพื่อน ไม่อนุญาตให้ลูกไปทัศนศึกษาหรือทำกิจกรรมที่โรงเรียน สิ่งนี้จะทำให้ลูกรู้สึกตึงเครียด แม้คุณพ่อคุณแม่จะคิดว่าการเข้มงวดกับลูกคือการทำหน้าที่พ่อแม่ที่ถูกต้อง แต่ความจริงแล้วลูกที่ถูกห้ามหรือตีกรอบขอบเขตมากเกินไป อาจทำให้ลูกขาดทักษะที่สำคัญในการดำรงชีวิต ไม่รู้วิธีแก้ปัญหา ไม่กล้าคิด และไม่กล้าตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองอีกด้วย

4. ไม่แสดงความรู้สึกให้ลูกเห็น

Dysfunctional_web_4

คุณพ่อคุณแม่บางคนเข้าใจว่า การเป็นผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ที่ลูกเคารพรัก ต้องไม่แสดงความรู้สึก ความอ่อนแอ หรือความในใจออกมาให้ลูกเห็น เช่น ไม่แสดงออกว่ารักลูกมากเกินไป ไม่ร้องไห้ให้ลูกเห็น และไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเองต่อหน้าลูก

แต่ความจริงแล้ว การไม่แสดงความรู้สึกให้ลูกเห็นเสียเลยอาจทำให้ความสัมพันธ์และความผูกพันในครอบครัวระหว่างพ่อแม่ลูกเต็มไปด้วยความห่างเหิน ลูกก็จะไม่กล้าแสดงความรู้สึกของตัวเองให้คุณพ่อคุณแม่รู้ เกิดเป็นความโดดเดี่ยวในจิตใจ เก็บกด และอาจนำไปสู่การมีความมั่นใจในตัวเองต่ำด้วย

5. ให้ความรักแบบมีเงื่อนไข

Dysfunctional_web_5

บางครั้งการตั้งรางวัลอาจเป็นการกระตุ้นเพื่อให้ลูกมีไฟในการลุกมาทำในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ เป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้ฝึกและต่อรองกับลูกได้ แต่หากคุณพ่อคุณแม่ใช้การต่อรองและสร้างเงื่อนไขกับลูกเป็นประจำ หรือทำจนเป็นนิสัย อาจทำให้ลูกเข้าใจว่า หากต้องการความรัก ลูกต้องทำตามที่คุณพ่อคุณแม่บอก ต้องทำให้สำเร็จ หรือต้องทำตามเงื่อนไขของคุณพ่อคุณแม่บอกเท่านั้น

หากคุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีนี้กับลูกเป็นประจำ อาจทำให้ลูกรู้สึกไม่มีคุณค่าในตัวเอง ขาดความมั่นใจ กลัวความผิดพลาด และกดดันตัวเอง เพราะกลัวว่าจะไม่เป็นที่รักของคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง

 

4 พฤติกรรมการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ที่ทำให้ลูกเติบโตอย่างมีความสุข
อ้างอิง
Mental Health America
Psychologs

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

COMMENTS ARE OFF THIS POST