READING

สรุปประเด็นจากวงเสวนา ‘ทำไม เด็กอนุบาลจึงไม่ควรสอบ...

สรุปประเด็นจากวงเสวนา ‘ทำไม เด็กอนุบาลจึงไม่ควรสอบเข้า ป.1’ เวอร์ชั่นคุณแม่เขียนตามความเข้าใจ ปลอดภัยไร้ศัพท์ยาก By Nidnok

เราได้มีโอกาสไปฟังเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘ทำไม เด็กอนุบาลจึงไม่ควรสอบเข้า ป.1’ ที่จัดขึ้นโดยคณะทำงานเพื่อเด็กปฐมวัย เมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมา นับเป็นงานเสวนาที่มีวิทยากรร่วมเสวนาในระดับ ‘อเวนเจอร์ส’ ของวงการการศึกษาปฐมวัยมาไว้ในที่เดียว

ตามความเข้าใจ ผู้จัดจัดวงเสวนานี้ขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลทางวิชาการ และทางประสบการณ์ จากบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับด้านนี้อย่างแท้จริง เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่กำลังเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของสนช. และในอีกทางก็คือ เพื่อเป็นข้อมูลความรู้ ให้กับประชาชนอย่างเราๆ นี่ล่ะ ได้รับทราบถึงที่มาที่ไป เหตุผล และงานวิชาการที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันเรื่อง ไม่สอบเข้า ป.1 จะได้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และมองเห็นภาพที่กว้างกว่าแค่เรื่องการสอบหรือไม่สอบ

เมื่อฟังเสวนาจบ สิ่งที่ได้ยินจากวิทยากรทุกท่านบ่อยครั้งก็คือ ฝากให้สื่อช่วยนำข้อมูล ที่อาจจะฟังดูเข้าถึงได้ยากแบบนี้ ไปส่งต่อสู่สังคม สู่พ่อแม่ผู้ปกครอง ด้วยวิธีการที่เข้าใจได้ง่ายด้วย เพราะเรื่องนี้มันคือเรื่องของเด็ก เป็นเรื่องสำคัญของอนาคตประเทศเรา

เราในฐานะแม่คนหนึ่ง พบว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มาก บางอย่างเป็นเรื่องใหม่ที่พอได้ยินแล้วก็ตื่นเต้น บางอย่างเป็นเรื่องที่เคยได้รู้ ได้ยินมาบ้าง แต่เมื่อได้ฟังจากปากนักวิชาการตัวจริง มีหลักฐานอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ ก็ยิ่งตอกย้ำสิ่งที่เราเชื่อและยึดถือ

แม้เราจะไม่ใช่สื่อใหญ่โตอะไร แต่หากเราจะช่วยอะไรได้บ้าง เราก็อยากเล่าในมุมของแม่ให้แม่ด้วยกันฟัง เพราะเราคิดว่ามันมีประโยชน์ และอยากให้เรื่องราวเหล่านี้ได้ถูกส่งต่อไปในวงกว้างจริงๆ

เลยจะขอใช้วิธีคล้ายการสรุปเลกเชอร์สมัยเรียนมหาวิทยาลัยที่ต้องไปหาซื้อตามร้านซีรอกซ์ แน่นอนว่าทั้งชีวิตนี้ สมุดเลกเชอร์ของเราไม่เคยได้เป็นต้นฉบับซีรอกซ์ให้ใครแน่ (ถามว่าเข้าเรียนบ้างไหมดีกว่า ฮ่า) แต่พอเป็นเรื่องเด็ก เรื่องลูก เรากลายเป็นคุณแม่หน้าห้องไปแล้วเรียบร้อย ทั้งตั้งใจฟัง ตั้งใจจด เลยหวังว่าเลกเชอร์ของเราครั้งนี้จะพอส่งต่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้บ้าง อาจจะไม่ได้ใช้คำศัพท์ถูกต้องตรงเป๊ะตามหลักวิชาการ ก็อย่าถือสากันเลยนะ

 

เอาล่ะ มาเริ่มกันตรงนี้…

primary_11

ก่อนอื่นคือ มาเชื่อกันเถิดว่า ปฐมวัยนั้นสำคัญจริงๆ (นะ)

เราคงเคยได้อ่านและได้ยินกันมาเยอะ ถึงความสำคัญของการให้ความสำคัญ (ทำไมซับซ้อน) กับเด็กในช่วงปฐมวัย เอาเป็นว่าถ้าใครได้อ่านหนังสือ หรือข้อเขียนของคุณหมอประเสริฐ (นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์) หนึ่งในวิทยากรร่วมเสวนาครั้งนี้ ก็ต้องเคยได้สดับรับอ่านกันมา

เราเองก็เป็นคนที่อ่านและศึกษาเรื่องนี้อยู่พอสมควร ก็จะมีความคิดสงสัยว่ามันจริงขนาดนั้นเลยใช่ไหม หรือจะมีอะไรมาหักล้างแนวคิดนี้ได้ไหมนะ

แต่คำตอบที่ได้จากวงเสวนา จากปากของนักวิชาการ คุณหมอ และผู้มีประสบการณ์อย่างแท้จริง ทุกคนพูดตรงกันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ปฐมวัยนั้น คือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของชีวิตคนเรา เป็นความจริงแบบที่มีงานวิชาการรองรับ และได้รับการยืนยันแล้ว

แล้วปฐมวัยสำคัญอย่างไร

ตอบแบบสั้นๆ ก็คือ มนุษย์ผู้ใหญ่คนหนึ่งจะเป็นคนแบบไหน กระบวนการสร้างและหล่อหลอมให้เป็นผู้ใหญ่คนนั้น เกิดขึ้นและดับไปในช่วงปฐมวัยนี้ หมายความว่าหลังจากนี้ เราจะเปลี่ยนเป็นคนใหม่ได้ยาก สิ่งใดที่ดี สิ่งใดที่เราอยากเป็น มันมีเวลาก่อตัวขึ้นมาไม่มากนักในช่วงวัยนี้

Window of Opportunity

โอกาสเดียวที่เราจะสร้างคน มีเวลาเพียงแค่ไม่ถึงสิบปี คือตั้งแต่มนุษย์เล็กๆ อยู่ในท้องแม่ และจะสิ้นสุดที่เมื่อเขาอายุราวๆ 8-9 ปี เท่านั้น เป็นช่วงเวลาที่คนเราเริ่มก่อร่างสร้างตัวตน สร้างนิสัย สร้างความคิด ความเชื่อ และความทรงจำ ที่จะเป็นต้นทุนติดตัวไปใช้เมื่อโตขึ้น ในยามที่ชีวิตซับซ้อน มีปัญหาและอุปสรรคที่ยุ่งยากมากขึ้น ผู้ใหญ่คนนั้นจะผ่านมันไปได้อย่างไร ก็มาจากต้นทุนที่สร้างเอาไว้ตอนปฐมวัยทั้งนั้น

ฟังดูเป็นเรื่องเชื่อได้ยาก แต่มันได้รับการพิสูจน์ในทางวิชาการแล้ว คือจะพูดว่า ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ แบบนั้นก็คงได้

primary_4

โอกาสที่มีเพียงแค่ครั้งเดียว

คุณหมอศิริพร กัญชนะ (อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณะสุข และประธานโครงการบูรณาการพัฒนาการเด็กไทย) หนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนา พูดในช่วงหนึ่งของการเสวนาไว้น่าสนใจ ประมาณว่า ในชีวิตเด็กคนหนึ่ง มี One shot อยู่หลายครั้ง เช่น คุณภาพในช่วงเวลาการคลอด เมื่อคลอดแล้ว หนึ่งขวบปีแรกเด็กควรได้นมแม่ เพื่อสายสัมพันธ์และภูมิคุ้มกัน เมื่อผ่านตรงนี้ไปแล้วก็จะเรียกกลับมาไม่ได้ เมื่อโตขึ้น อายุ 3-6 ปี เขาควรได้เล่น เล่นอย่างจริงจัง เล่นเพื่อเรียนรู้ เล่นเพื่อสร้างตัวตน ถ้าพลาดแล้วก็พลาดเลยอีกเช่นกัน และเมื่อโตขึ้น 6-8 ปี จะเป็นช่วงรอยต่อ ที่เมื่อเด็กสร้างตัวตนจากการเล่นอย่างเต็มที่ มีทัศนคติที่ดีกับการเรียน เขาก็จะพร้อมเรียนรู้สิ่งที่ยากและซับซ้อนขึ้น ทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นลำดับ เป็นไปตามพัฒนาการของช่วงวัย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือเด็กเกิดความเครียดจากการไม่เข้าใจพัฒนาการ หรือความเป็นไปของแต่ละช่วงวัยของเด็ก เช่น เด็กกินนมแม่ เมื่อถึงวัยหนึ่งที่เขาโตและพร้อม ก็จะต้องเริ่มหย่านม ฝึกการดูดเพื่อดื่ม การเคี้ยวกลืน แต่บางทีเราไม่ได้ทำ นี่ก็คือการพลาด One shot อย่างหนึ่ง พอผ่านกระบวนการนี้ ก็จะเข้าสู่การฝึกการขับถ่าย ให้เด็กสามารถควบคุมตนเองได้ ถ้าพลาดตรงนี้ ก็คือพลาดอีก

และที่เป็นปัญหาที่เราพบบ่อย คือเมื่อเราพาลูกเข้าโรงเรียน ช่วงสามขวบ เด็กจะกำลังอยู่ในช่วง Seperation Anxiety คือยังไม่อยากพรากจากพ่อแม่ ซึ่งเป็นความเครียดที่เด็กต้องเจออยู่แล้ว พอมารวมกับการต้องหย่านม และฝึกเข้าห้องน้ำด้วยตัวเองอย่างกะทันหัน เพื่อความพร้อมที่จะไปโรงเรียน จึงเกิดเป็น Toxic Stress เป็นความเครียดคูณสามที่เด็กต้องเจอ ทั้งที่เราในฐานะพ่อแม่ สามารถลดโอกาสเกิดของสิ่งนี้ได้ หากเราเข้าใจเรื่องพัฒนาการเด็กมากเพียงพอ และฝึกลูกไปตามพัฒนาการของช่วงวัย โดยไม่ปล่อยปละละเลย

primary_8

Parent Education

ความรู้เรื่องการเลี้ยงเด็ก และพัฒนาการเด็ก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ คนรอบตัวเด็ก รวมไปถึงสังคมในวงกว้าง ควรจะต้องมีเพียงพอ เพราะเด็กคือลูกของสังคม เหมือนภาษิตแอฟริกันอันนึงบอกไว้ว่า ‘It takes a village to raise a child’ ในการเลี้ยงเด็ก มันเป็นงานร่วมกันของคนทั้งหมู่บ้าน

การสร้างให้เกิดองค์ความรู้เรื่องเด็กปฐมวัย ทั้งในระดับพ่อแม่ หรือคนเลี้ยง บุคลากรที่เกี่ยวข้อง และสังคมในภาพกว้าง เป็นเนื้อหาหนึ่งที่อยู่ใน พรบ. ฉบับนี้ แล้วทำไมคนที่ไม่มีลูก ถึงจะต้องมารู้เรื่องของคนมีลูก รู้เรื่องของเด็กด้วย อันนี้เราจะขอยกตัวอย่างเอง อย่างเช่น ปัญหาคนท้องไม่มีที่นั่งบนรถสาธารณะ เพียงเพราะคนทั่วไปอาจจะไม่รู้จริงๆ ถึงอันตรายจากแรงกระทบกระแทก ที่อาจเกิดกับเด็กในครรภ์ได้, ปัญหาเสียงร้อง และพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็กตามที่ต่างๆ กับวิธีการจัดการของพ่อแม่ ที่คนทั่วไปอาจถ่ายรูปแล้วเอาไปตัดสินในโลกโซเชียลฯ, ปัญหาเด็กป่วย จากการที่ผู้ใหญ่เข้าไปสัมผัสเนื้อตัว โดยไม่ได้ระมัดระวังเรื่องความสะอาด ฯลฯ ทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของพ่อแม่ เป็นสิ่งที่หากสังคมมีองค์ความรู้ในเรื่องเหล่านี้ เด็กของเราก็จะได้มีโอกาสเติบโตอย่างมีคุณภาพและสุขภาพแข็งแรง

ผศ.ดร.วรวรรณ เหมชะญาติ (จากสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) พูดเน้นประเด็นนี้ว่า พ่อแม่ต้องกลับมาทำหน้าที่เลี้ยงลูก และมีองค์ความรู้มากเพียงพอในการเลี้ยงลูก และในขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างให้เกิดความรู้ความเข้าใจกับคนทั่วไป ใส่เข้าไปในระบบการศึกษา ไม่ใช่ว่าพอมีลูกแล้วค่อยมีความรู้เรื่องเด็ก แต่ต้องเริ่มรู้ตั้งแต่เราเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ให้รู้ว่าการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพเป็นอย่างไร อะไรที่เป็นพิษและเป็นอันตรายกับเด็ก ปฐมวัยคืออะไร ฯลฯ เป็นการวางรากฐานความเข้าใจเอาไว้ในสังคม

แต่ตอนนี้เรามีความตื่นตัวเรื่องนี้น้อยมาก เพราะเราไม่ค่อยคำนึงถึงสิทธิที่เด็กควรมี

primary_6

แล้วสิ่งเหล่านี้เกี่ยวอะไรกับประเด็นการไม่สอบเข้า ป.1

ผู้อ่านหลายท่านอาจจะคิดว่า อ่านมาตั้งนานแล้วยังไม่เห็นมันจะเกี่ยวกับเรื่องการสอบหรือไม่สอบเลย อะ ใจเย็นๆ กำลังจะพาไปถึงตรงนั้นแล้ว ไคลแม็กซ์ไง ต้องมาท้ายๆ (ฮา)

เมื่อเราเข้าใจและยอมรับแล้วว่า ปฐมวัยคือช่วงเวลาสร้างคน โดยที่กระบวนการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองของเด็กในช่วงนี้ เกิดขึ้นผ่านการเล่น การเล่นคือการใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วน หยิบ จับ แกะ กด สำรวจสิ่งที่สนใจอย่างเข้มข้น ครูหรือพ่อแม่ จึงมีหน้าที่ในการให้ความสำคัญกับการเล่น ผ่านประสาทสัมผัสมากที่สุด และสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่าเพียงพอ ที่สมองส่วนหน้าของเด็ก จะเอาไปใช้งานได้ในยามที่เขาเติบโต หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า EF

และเราก็ต้องยอมรับอีกว่า ปฐมวัยเป็นวัยแห่งการสร้างตัวตน หรือ Self ที่ประกอบขึ้นจากประสบการณ์ไม่รู้จบ ที่เด็กจะได้รับผ่านการเล่นและสำรวจอย่างอิสระ การเล่นสร้างทักษะทางสังคม เด็กๆ เล่นด้วยกัน เห็นความแตกต่างระหว่างเพื่อน อาจทะเลาะเบาะแว้งแย่งของ เขาก็จะต้องพัฒนาทักษะในการจัดการสิ่งนี้ เมื่อเขาทำอะไรได้ แม้จะเล็กน้อย แต่จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นในตัวเขา ว่าเขาเก่ง เขาทำสิ่งนี้ได้ด้วยตัวเอง ความมั่นใจนี้จะติดตัวเขาไปจนโต เมื่อเจอสิ่งที่ยาก

ประสบการณ์ในวัยเด็กจะบอกเขาว่า เขาจะผ่านมันไปได้ เพราะเขามีศักยภาพมากพอ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือเด็กจำนวนหนึ่งขาด Self ไป ผ่านการเร่งเรียน และการติวเพื่อเตรียมสอบ คุณหมอที่เป็นนักจิตวิทยา และคุณหมอที่เป็นนักศิลปะบำบัด ได้แชร์เคสคนไข้ที่มาเข้ารับการบำบัด ว่าอายุของเด็กที่มาพบแพทย์นั้นเริ่มน้อยลง อยู่ที่ 3-4 ปี เป็นเด็กที่เครียดจากการไปติวสอบ จนเกิดพัฒนาการถดถอย ฉี่ราด, กินน้อย, นอนไม่หลับ อีกเคสคือพบว่า เด็กเล่นไม่เป็น ขาดจินตนาการ และชอบตะโกน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์อาการนั้นก็พบว่า ที่เขาต้องตะโกน ก็เพราะเขากลัวว่า เสียงของเขาจะไม่มีใครได้ยิน และเด็กได้ขาดตัวตนที่เขาควรจะมีไป

อีกสิ่งที่ท่านผู้ร่วมเสวนาชี้ประเด็นให้เห็นก็คือ เมื่อเรารู้แล้วว่า เราจะโตขึ้นมาเป็นแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับช่วงปฐมวัยของเรานี่เอง ดังนั้น เราจึงควรปลูกฝัง หรือลงโปรแกรมอันเป็นพฤติกรรมที่ดีให้กับเด็กวัยนี้ไว้ เช่น เราอยากได้ผู้ใหญ่ที่มีจินตนาการ แต่เราสร้างเด็กจากการกากบาทเลือกข้อที่ถูก โดยที่เราไม่มีโอกาสได้ถามเขาเลยว่าทำไมเขาถึงเลือกตอบแบบนี้, เราต้องการผู้ใหญ่ที่มีจิตสาธารณะ แต่เราสร้างเด็กจากระบบแพ้คัดออก ฉันต้องสอบเข้าให้ได้ก่อน คนอื่นค่อยว่ากัน, เราต้องการผู้ใหญ่ที่ใฝ่เรียนรู้ แต่เราสร้างเด็กผ่านการสอบให้คะแนน เมื่อเขาทำคะแนนได้ไม่ดี ก็จะเป็นการสร้าง Self ในตัวเขาว่า เขาไม่เก่ง เขาทำอะไรก็ไม่ดี

อันที่จริงก็มีความตื่นรู้ในหมู่พ่อแม่ผู้ปกครองพอสมควร เกี่ยวกับพัฒนาการที่เหมาะสม และความสำคัญของการเล่นในเด็กปฐมวัย แต่เมื่อยังมีระบบการสอบ ก็ทำให้พ่อแม่ที่แม้จะไม่ได้อยากสอบ จำเป็นต้องเตรียมลูกเพื่อเข้าโรงเรียนนั้นให้ได้ มีข้อคิดเห็นจากวิทยากรท่านหนึ่งบอกด้วยว่า กลายเป็นว่าในหมู่พ่อแม่ เกิดค่านิยมและความเชื่อที่ว่า โรงเรียนที่มีการจัดสอบ แปลว่าเป็นโรงเรียนที่ดี

ยังไม่รวมประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่นอกจากจะแต่งชุดไปรเวตหรือชุดนักเรียนแล้ว การสอบ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำ เพราะก็มีข้อเท็จจริงให้เห็นว่า เด็กที่มาจากครอบครัวที่พร้อมกว่า ก็มีโอกาสในการสอบได้มากกว่า (ผ่านการมีเงินไปลงเรียนติว หรืออื่นๆ)

นั่นจึงเป็นคำตอบที่ว่า การสอบแข่งขันในเด็กปฐมวัย ขัดขวางการก่อร่างสร้างผู้ใหญ่ที่เราอยากเห็นในอนาคตอย่างไร (หรือที่คุณหมอเดว—รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี เคยพูดเอาไว้ว่า เป็นการทารุณกรรมเด็ก)

primary_12

แล้วถ้าไม่สอบ จะทำอย่างไร

ครูหม่อม-ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร (จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล) พูดแบบติดตลกเอาไว้ว่า นี่คือคำถามแบบ Fixed Mindset คือกระบวนการคิดที่ไม่ยืดหยุ่น ซึ่งผู้ใหญ่ในยุคเราๆ เป็นกันมาก เราจึงจำเป็นต้องสร้างให้เด็กรุ่นต่อไป มี Growth Mindset หรือความคิดที่ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยน และพัฒนาได้

กลับมาที่คำถามนั้น หาก พรบ.ปฐมวัยฯ ฉบับนี้ประกาศใช้จริง และข้อที่ว่าด้วยการห้ามมิให้มีการสอบเข้าป.1 ระบุไว้ชัดเจน และต้องลงมือทำกันจริงๆ ว่าทางออกของการ ‘ไม่สอบ’ ควรจะเป็นแบบไหน

แนวทางแรก ที่อาจจะดูยุติธรรมแบบสุดโต่งไปเลย นั่นก็คือการจับฉลาก หากมีผู้สมัครเกินกว่าจำนวนที่โรงเรียนจะรับได้ ก็ดูจะเป็นแนวทางที่แฟร์ดี แต่ในทางปฏิบัติ ส่วนตัวเราคิดว่าน่าจะเกิดปัญหาพอสมควร

แนวทางที่สอง ที่น่าสนใจ ก็คือการเปลี่ยนจากการคัดเลือกผ่านการสอบแข่งขัน มาเป็นการประเมินพัฒนาการแทน

ประเทศเรามีสิ่งที่เรียกว่า DSPM หรือ คู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (Developmental Surveillance and Promotion Manual) จัดทำขึ้นโดยกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้พ่อแม่ ครู หรือผู้เลี้ยงเด็ก ได้ติดตามพัฒนาการการเจริญเติบโตของเด็กปฐมวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี 6 เดือน อย่างเต็มที่ รวมทั้งยังมีแบบฝึกทักษะ เพื่อพัฒนา IQ, EQ ,EF, Emotional Intelligence และอีกหลายทักษะอันถึงประสงค์ เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปใช้ได้จริง (สามารถโหลดมาอ่านและใช้งานได้ ตามลิงก์นี้)

การคัดเลือกเด็กเข้าโรงเรียน จึงอาจใช้การประเมินตามแนวทางที่อยู่ใน DSPM เพื่อคัดกรองเด็กที่มีพัฒนาการตามที่โรงเรียนต้องการ สิ่งที่ตามมาคือ พ่อแม่ผู้ปกครอง จึงจำเป็นจะต้องทราบว่า แล้วพัฒนาการที่สมวัยของลูกเป็นแบบไหน อะไรที่ลูกควรทำได้ (ซึ่งไม่ใช่การท่องสูตรคูณแม่เจ็ดแน่ๆ) เพื่อจะได้เตรียมลูกให้พร้อมกับการคัดเลือกของโรงเรียน

การประเมินแบบนี้ จึงไม่ได้ประเมินเพื่อแข่งขันว่าใครติดกระดุม หรือใส่รองเท้าได้เก่งกว่าใคร แต่เป็นการคัดเด็กที่สามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้ และหากมีจำนวนเกินกว่าที่โรงเรียนต้องการจะรับ ก็ค่อยใช้วิธีการจับฉลากในขั้นตอนต่อไป

แนวทางที่สาม คือการสอบพ่อแม่ จะเป็นเรื่องพัฒนาการ หรือการเลี้ยงเด็กปฐมวัยก็ได้ เพราะสิ่งที่เราจะได้ คือการที่พ่อแม่ จำเป็นต้องติวตัวเอง หาความรู้เรื่องนี้ ที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือพ่อแม่มีความรู้ความเข้าใจมากพอในการเลี้ยงลูก ให้เหมาะสมตามหลักการปฐมวัย

primary_2

ทบทวนคำว่า ‘การศึกษา’ กันใหม่ มองให้ไกลกว่าการสอบ

หนึ่งคำที่เราได้ยินจากวงเสวนา คือ ‘การศึกษามีไว้เพื่อพัฒนาคน’ จึงจำเป็นต้องเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ยที่ดี เพื่อให้เมล็ดพันธุ์แตกหน่ออ่อน และเติบโตขึ้นจนเป็นต้นไม้ที่แข็งแรง แตกกิ่งก้านไปในทิศทางของตัวเอง เพราะทุกคนไม่เหมือนกัน เด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน

เราจึงควรเปลี่ยนมุมมองใหม่ จากความคิดที่จะเตรียมเด็กให้พร้อมกับโรงเรียน เป็นการเตรียมโรงเรียนให้พร้อมรับมือเด็ก ที่เป็นเมล็ดพันธุ์ที่หลากหลาย รอการรดน้ำพรวนดินให้พวกเขาเติบโต นี่เป็นอีกสิ่งที่เราชอบมากๆ จากวงสนทนาครั้งนี้

คือทุกวันนี้ การสอบเข้าโรงเรียนมีไว้เพื่อคัดเด็กในแบบที่โรงเรียนต้องการ แต่สิ่งที่ควรเป็น คือการเตรียมผู้ใหญ่ให้พร้อมรับมือกับเด็ก นั่นคือโจทย์ใหญ่ คือความท้าทายที่บุคลากรด้านปฐมวัยควรทำให้ได้ ซึ่งเมื่อมานึกว่า หมอยังไม่สามารถเลือกคนไข้ได้เลยนะ แต่เพื่อบริหารความรู้และทักษะทางวิชาชีพ หมอก็จะต้องสามารถรับมือกับคนไข้ทุกแบบที่เดินเข้ามาในห้องตรวจได้ นี่น่าจะเป็นตัวอย่างที่เห็นภาพได้ดีสำหรับเรื่องนี้ คือ โรงเรียน และครู ก็ต้องบริหารทักษะและความรู้ เพื่อให้สามารถจัดการศึกษา ที่พัฒนาเด็กที่มีความหลากหลาย ตามธรรมชาติของเขาได้

เพราะเราต่างก็เป็นผลผลิตของระบบการศึกษาเดิม และเราก็พบว่าปัญหาทุกวันนี้ของประเทศคืออะไร ซ้ำร้าย สิ่งที่กำลังจะเกิดคือ โฉมหน้าของอนาคตจะไม่เหมือนเดิม และทำนายได้ยากด้วยว่าจะเป็นแบบไหน เราจึงจำเป็นจะต้องสร้างเด็กที่พร้อมรับมือกับอนาคต ซึ่งต้องไม่ใช่จากระบบการศึกษาเดิมที่เราเรียนกันมาแน่นอน

คุณหมอเดว เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์เมื่อครั้งไปประชุมจิตวิทยาระดับโลกที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหนึ่งในองค์ปาฐกนั้นเป็นหุ่นยนต์ ที่มาให้ความคิดเห็นว่า โลกในอนาคต หลายสิ่งที่มนุษย์เคยทำได้ จะถูกหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่

แล้วคุณหมอจึงเล่าต่อว่า ถ้าอย่างนั้น อะไรที่ทำให้คน แตกต่างจากหุ่นยนต์ นักจิตวิทยาหาคำตอบมาให้แล้ว ว่ามีอยู่ห้าอย่าง นั่นคือ จินตนาการ, จิตสำนึก, คุณธรรม, สายใยรัก และแรงบันดาลใจ ก่อนจะพูดย้ำด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นว่า

การศึกษาด้วยระบบแพ้คัดออก ตั้งแต่ระดับอนุบาลนั้น ทำลายโอกาสในการสร้างทักษะเหล่านี้ทั้งหมด เราก็คงเหลือไว้เพียงมนุษย์ ที่ทำอะไรได้ไม่ต่างจากหุ่นยนต์

 

– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –

 

เลกเชอร์จบแล้วค่ะ สิ้นสุดแต่เพียงเท่านั้น ในระดับคณะทำงานที่ผลักดันเรื่องการไม่สอบเข้า ป.1 ก็ยังจะต้องทำงานกันต่อไป โดยเอาข้อสรุปที่ได้จากวงสนทนานี้ ไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา จากท่านผู้มีอำนาจ สื่อมวลชน ก็ต้องทำหน้าที่พาสารเหล่านี้ ไปถึงผู้คนให้ได้มากที่สุด และพ่อแม่อย่างเรา ก็ต้องกลับมาคิดทบทวนกันอีกสครั้งว่า เราอยากเห็นลูกเป็นคนแบบไหน และเขาจะอยู่ในอนาคตได้อย่างไรด้วยตัวเขาเอง

สิ่งที่เราทำเมื่อกลับถึงบ้าน คือเข้าไปกอดลูกแน่นๆ เอาหน้ากากกันฝุ่นให้เขาใส่ แล้วพาออกไปเดินดูนกดูต้นไม้ด้วยกัน


Nidnok

‘นิดนก’ เป็นคุณแม่ของน้อง ณนญ / เป็นนักเขียนสาวเชิงรุก เจ้าของผลงานหนังสือ 'POWER BRIDE เจ้าสาวที่กลัวสวย' และ 'TO BE CONTINUE- โปรดติดตามตอนแต่งไป'

COMMENTS ARE OFF THIS POST