เมื่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงจากประเทศพม่า ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนทั้งในกรุงเทพมหานครรวมถึงหลายจังหวัด หลายคนต้องเผชิญกับเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างไม่คาดคิด โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่ยังไม่เข้าใจมากนักว่าเกิดอะไรขึ้น
สำหรับเด็กๆ แผ่นดินไหว เป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะมันเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและควบคุมไม่ได้ แรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นทำให้ทุกสิ่งรอบตัวสั่นไหว เสียงของเฟอร์นิเจอร์ที่กระทบกัน เสียงเตือนภัย หรือแม้แต่รอยแตกร้าวตามอาคารบ้านเรือน อาจทำให้ลูกตกใจและรู้สึกไม่ปลอดภัย เด็กบางคนอาจมีอาการร้องไห้งอแง หวาดกลัว และมีอาการวิตกวังกลต่อไปอีกหลายวัน
การรับมือกับความกลัวของลูกจากเหตุการณ์ แผ่นดินไหว เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับคุณพ่อคุณแม่ แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่การให้ความมั่นใจและการรับมือกับความกลัวของลูกอย่างเข้าใจ จะช่วยให้พวกลูกผ่านสถานการณ์นี้ไปได้อย่างสงบและปลอดภัย
1. อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว

คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าแผ่นดินไหวคืออะไร เช่น บอกว่าเป็นเหตุการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ และอาจเกิดขึ้นโดยที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้า แต่ถึงอย่างนั้นเราก็มีวิธีเตรียมความพร้อมที่จะรับมือภัยธรรมชาตินี้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ออกแบบมาเพื่อรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้ในระดับหนึ่ง การเตรียมกระเป๋าเป้ฉุกเฉินไว้ยามคับขัน โดยใช้การอธิบายอย่างเรียบง่ายและให้ข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสม ก็จะช่วยให้ลูกไม่รู้สึกวิตกกังวลจนเกินไป
2. มีพฤติกรรมที่มั่นคงและสงบ

เด็กๆ จะสังเกตพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ หากคุณพ่อคุณแม่แสดงพฤติกรรมที่มั่นคง สงบ และตั้งสติเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว ลูกก็จะรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่แสดงความกลัวมากเกินไป อาจจะทำให้ลูกยิ่งตกใจและไม่สามารถควบคุมสติได้ เพราะฉะนั้น การมีสติของคุณพ่อคุณแม่และทำให้ลูกเห็นว่าทุกอย่างยังอยู่ภายใต้การควบคุม และช่วยให้ลูกรู้สึกมั่นใจมากขึ้น
3. รับฟังและสนับสนุนทางอารมณ์

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองความกลัวของลูกเป็นเรื่องเล็กน้อย ถึงแม้ว่าแผ่นดินไหวอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ แต่อาจสร้างความรู้สึกไม่มั่นคงและหวาดกลัวให้กับเด็กๆ ได้มากกว่าที่คิด
การให้ความสำคัญกับความรู้สึกของลูก การรับฟังและสนับสนุนทางอารมณ์ จะช่วยให้ลูกค่อยๆ ก้าวผ่านความกลัวนี้ไปได้และไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับความกลัวนี้เพียงลำพัง
4. ให้เวลาและพื้นที่ในการฟื้นฟูอารมณ์

ความกลัวจากแผ่นดินไหวอาจจะไม่หายไปทันทีหลังจากที่เหตุการณ์เกิดขึ้น การให้เวลาลูกในการปรับตัวและฟื้นฟูอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญ คุณพ่อคุณแม่อาจจะเริ่มจากการทำกิจกรรมที่ช่วยให้ลูกผ่อนคลาย เช่น การเล่นกับลูก หรือการอ่านหนังสือนิทานร่วมกัน เพื่อให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและกลับมามีสมาธิได้
5. ‘กอด’ สยบทุกความรู้สึก

การกอดลูกในช่วงเวลาที่ลูกกำลังรู้สึกกลัวหรือวิตกกังวล จะช่วยทำให้ลูกรู้สึกถึงความอบอุ่นและความปลอดภัย การสัมผัสที่อ่อนโยนและการพูดปลอบลูก เช่น “ไม่ต้องกลัวนะ พ่อกับแม่อยู่ตรงนี้” จะช่วยให้ลูกรู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียว และสามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ การให้ความรักและความเอาใจใส่แบบนี้เป็นวิธีที่ดีในการช่วยให้ลูกฟื้นฟูอารมณ์และกลับมามีความมั่นใจอีกครั้ง
COMMENTS ARE OFF THIS POST