คุณพ่อคุณแม่คงทราบดีว่า สภาวะอารมณ์เครียด เศร้า ผิดหวัง และท้อแท้ เป็นสิ่งที่แม้จะพยายามแต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เสมอไป ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับอารมณ์เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ
แต่สำหรับเด็กๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการจัดการอารมณ์ของตัวเองมากพอแล้ว การมีคุณพ่อคุณแม่เป็นที่พึ่งทางจิตใจ หรือ Emotional Support ให้กับลูกจึงเป็นหน้าที่สำคัญของคุณพ่อคุณแม่ไม่น้อยไปกว่าการดูแลสุขภาพทางกายของลูก
Emotional Support หมายถึง การเป็นที่พึ่งทางอารมณ์และจิตใจให้กับคนที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับจิตใจ หรือมีอารมณ์ที่ไม่มั่นคง การมีคุณพ่อคุณแม่คอยช่วยให้การสนับสนุนทางจิตใจ จะช่วยให้ลูกเติบโตขึ้นอย่างคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง พร้อมที่จะเผชิญและรับมือกับสภาพอารมณ์ของตัวเองได้
ดังนั้น เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถเป็นที่พึ่งทางใจและดูแลจิตใจลูกได้อย่างเหมาะสม เรามี 4 เทคนิคดีๆ มาบอกให้คุณพ่อคุณแม่เตรียมตัวไปพร้อมกันค่ะ
1. สัญญาณ SOS เข้าไปช่วยเหลือลูกทันที
เวลาผู้ใหญ่มีเรื่องกระทบจิตใจ อาจสามารถจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองได้ แต่สำหรับเด็กๆ อารมณ์ด้านลบเป็นเรื่องยากที่จะจัดการด้วยตัวเองได้ คุณพ่อคุณแม่จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ลูกสามารถรับมือกับอารมณ์และความรู้สึกด้านลบของตัวเองได้ดีขึ้น ด้วยหลักการ SOS ดังนี้
• S (Safe Zone) คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับลูก ไม่ควรตัดสินหรือมองว่าเรื่องของลูกเป็นเรื่องไร้สาระหรือเป็น ‘เรื่องแค่นี้’
• O (Observe) เพราะเด็กไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกและอารมณ์แง่ลบของตัวเองได้ดีเท่ากับผู้ใหญ่ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตการณ์ว่าลูกกำลังมีพฤติกรรมที่บ่งบอกว่ากำลังต้องการความช่วยเหลือทางใจหรือไม่ เช่น ลูกหงุดหงิดง่าย ชอบเก็บตัว มีการกินและการนอนที่ผิดปกติ และมีพฤติกรรมถดถอย
• S (Self Worth) สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ของคนที่กำลังมีอารมณ์ด้านลบ คือการ เห็นคุณค่าของตัวเอง (self worth) เพราะคนที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเองอาจเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่โรคทางจิตเวชได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกรู้สึกว่ากำลังเผชิญปัญหาตามลำพัง
2. ให้เวลาลูกได้เล่า
Jennifer Priem ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ศึกษาด้านการสื่อสารและความเครียด ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเป็นที่พึ่งทางจิตใจไว้ว่า การแนะนำคนที่กำลังจมอยู่กับความทุกข์ว่าให้ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ อาจยิ่งทำให้อีกฝ่ายไม่สบายใจ อึดอัด และยิ่งรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ผิดที่จะรู้สึกเศร้าเสียใจได้
เพราะฉะนั้น เมื่อลูกรู้สึกหม่นหมอง การเป็นที่พึ่งทางจิตใจ ที่ได้ผลดีคือ ให้เวลาลูกได้เล่าเรื่องราวและระบายความรู้สึกออกมาโดยไม่จำเป็นต้องเน้นการแก้ปัญหาหรือตั้งใจหาทางออกให้ลูกมากเกินไป จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ค่อยใช้คำพูดปลอบใจเพื่อแสดงให้ลูกเห็นว่าความเศร้าเสียใจ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ อาจจะยกตัวอย่างเหตุการณ์ให้ลูกดูว่าคุณพ่อคุณแม่ก็เคยเสียใจและรู้สึกแบบเดียวกันกับลูก
3. ปลอบโยนและเตือนสติ
บางครั้งการเป็นที่พึ่งทางจิตใจให้กับใครสักคน นอกจากการรับฟังแล้ว การปลอบโยนและเตือนสติก็เป็นเรื่องสำคัญ คุณพ่อคุณแม่จึงควรพยายามใช้คำพูดที่ทำให้ลูกรู้สึกสบายใจ แต่ในขณะเดียวก็เตือนสติเพื่อให้ลูกยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และทำให้ลูกรู้สึกว่าลูกไม่ได้กำลังแก้ไขปัญหาอยู่คนเดียว
4. ไม่กระตุ้นอารมณ์ด้านลบแก่ลูก
คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมว่ากรอบประสบการณ์ของลูกยังน้อยเกินกว่าจะเข้าใจว่าปัญหาที่เจอเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่แค่ไหน ดังนั้นเมื่อรู้ว่าลูกกำลังมีปัญหาหรือเรื่องเศร้าในใจ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรกระตุ้นอารมณ์ด้านลบของลูกด้วยการคาดคั้นหรือกดดันให้ลูกต้องแก้ปัญหาในทันที เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดและไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่รับรู้เมื่อเกิดปัญหาครั้งต่อไปได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST