READING

4 เทคนิคสอนลูกให้เป็นคนที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (emp...

4 เทคนิคสอนลูกให้เป็นคนที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) ตั้งแต่ยังเล็ก

empathy

ช่วงปฐมวัยของลูก หนึ่งในพฤติกรรมที่มักจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องกุมขมับอยู่บ่อยๆ ก็คือ การยืดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ หรือ empathy นึกถึงตัวเองเป็นหลัก และต้องการการตอบสนองอย่างเร่งด่วน

การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นหนึ่งในทักษะชีวิตที่สำคัญ เพราะเด็กที่รู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่นจะสามารถควบคุมอารมณ์ มีความอดทนอดกลั้น มีความสามารถด้านการปรับตัว มีฐานจิตใจมั่นคงเพียงพอที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลง ช่วยทำให้ลูกมีจิตใจที่ดี มีพลังเชิงบวกทำให้คนรอบข้างรู้สึกปลอดภัย สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ในขณะเดียวกัน ก็จะเป็นที่รัก โดนกลั่นแกล้งน้อยลง และเมื่อลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะสามารถเข้าใจตัวเองและผู้อื่นได้ดี เป็นคนที่มีความสุขมากขึ้น ปล่อยวางความเครียดได้ง่ายขึ้น มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน สามารถรับมือกับความขัดแย้งต่างๆ ได้

คุณพ่อคุณแม่และทุกคนในครอบครัว จึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับลูกมีพื้นฐานการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้เป็นอย่างดี และเริ่มปลูกฝังทักษะนี้ให้ลูกได้ตั้งแต่ยังเล็ก ด้วย 4 เทคนิคต่อไปนี้

1. โอบกอด และบอกรักกันเสมอ

empathy_web_1

เมื่อลูกรู้สึกปลอดภัยและเป็นที่รัก ลูกก็จะเปิดโอกาสให้ตัวเองได้แสดงความรัก และความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น ในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ต้องเป็นแบบอย่างในการยอมรับและเห็นคุณค่าความรู้สึกของคนอื่น

โดยเฉพาะความรู้สึกของลูก ถึงแม้ลูกจะยังเล็กมาก แต่การแสดงให้ลูกเห็นว่า คุณพ่อคุณแม่เข้าใจและเห็นอกเห็นใจ เมื่อลูกเศร้า ไม่พอใจ ทุกข์ใจ ผิดหวัง หรือแม้กระทั่งต้องการช่วยเหลือ ด้วยการโอบกอดและถามลูกด้วยท่าทีและน้ำเสียงที่ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยทุกครั้ง

ตัวอย่าง: ถ้าลูกร้องไห้เพราะความไม่พอใจบางอย่าง ไม่ต้องรีบทำให้ลูกหยุดร้อง คุณพ่อคุณแม่แค่ย่อตัวลงให้อยู่ในระยะสายตาของลูก โอบกอดแล้วแสดงออกถึงความเข้าใจ เช่น บอกว่าลูกคงกำลังรู้สึกแย่ แม่จะช่วยลูกได้ยังไงดี

2. ชวนลูกตั้งชื่อความรู้สึก

empathy_web_2

หลายๆ ครั้งที่ลูกแสดงความเกรี้ยวกราดเวลารู้สึกไม่พอใจ นั่นเป็นเพราะลูกยังไม่รู้จักอารมณ์ของตัวเอง จึงไม่สามารถควบคุมอารมณ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ของตัวเอง ด้วยการชวนลูกตั้งชื่อให้ความรู้สึกของตัวเอง เช่น อารมณ์และอาการแบบนี้ ชื่อว่า โกรธ กรีดร้องแบบนี้ ชื่อว่า ไม่พอใจ กระโดดโลดเต้นไม่หยุดแบบนี้ชื่อว่า มีความสุขล้นปรี่

ตัวอย่าง: ลูกกระโดดไปกระโดดมา หรือพยายามจะวิ่งในที่สาธารณะ อาจจะทำให้ผู้อื่นเกิดความไม่พอใจ หรือไปชนคนอื่นจนล้มได้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าไปห้ามไม่ให้ลูกวิ่งในทันที ก็จะเสียบรรยากาศได้ ลองเปลี่ยนเป็นเข้าไปโอบกอดหรืออุ้มลูก แล้วพูดว่า วันนี้ลูกพลังเยอะจังเลย เป็นเพราะลูกกำลังมีความสุขมากเลยใช่ไหม แต่ถึงอย่างนั้น ลูกก็ต้องระวังไม่วิ่งชนคนอื่นด้วยนะ

3. ตั้งคำถามปลายเปิดระหว่างอ่านนิทานด้วยกัน

empathy_web_3

เป็นวิธีที่ง่ายและใช้ได้กับทุกเหตุการณ์ เมื่อโลกของตัวละครที่ลูกชอบ สะท้อนความรู้สึกและการกระทำบางอย่าง ลูกจะสามารถเรียนรู้และเกิดความเห็นอกเห็นใจตัวละครในนิทานได้ง่าย และนำมาปรับใช้ในชีวิตจริงต่อไปได้

ตัวอย่าง: ระหว่างอ่านนิทานเล่มโปรด ลองถามลูกว่า แพนด้ารู้สึกเศร้ามาก เพราะนกกาหยิบของเล่นไปโดยไม่บอก ลูกคิดว่าจะทำยังไงให้แพนด้ารู้สึกดีขึ้นได้บ้าง

4. เสริมทักษะด้วยกิจกรรม ‘คนใจดี อยู่ทางนี้หนึ่งคน’

empathy_web_4

 เล่นกับลูกด้วยการจำลองสถานการณ์ เน้นให้ลูกเห็นว่า ความใจดี นั้นมีประโยชน์ต่อตัวเองและคนอื่นยังไงบ้าง เพื่อทำให้ลูกเรียนรู้ถึงจุดเริ่มต้นของการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้ที่จะเมตตาตัวเอง แม้ว่าลูกอาจจะยังไม่เข้าใจในช่วงแรก แต่เมื่อทำซ้ำและทำบ่อยๆ ลูกก็จะซึมซับ และจดจำพฤติกรรมออกมาใช้ในเวลาต่อมาได้เอง

ตัวอย่าง: สถานการณ์แก้วใบโปรดของคุณแม่หายไป คุณพ่อเลยเสนอไอเดียว่า อยากให้เด็กน้อยใจดีคนนี้เป็นผู้ช่วยเหลือ เพราะคิดว่าลูกน่าจะจำได้ดีว่าแม่วางแก้วไว้ที่ไหน

และไม่ว่าลูกจะช่วยหาเจอหรือไม่ ก็ให้กล่าวขอบคุณในความใจดีที่ลูกเต็มใจช่วยเหลือ สิ่งนี้จะทำให้หัวใจดวงน้อยของลูกพองโต และพร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะอื่นๆ ต่อไป

ที่มา
todaysparent.
goodstart

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST