READING

Empty Nest Syndrome: 4 วิธีรับมือ ‘ภาวะเหงาซึม’ สำ...

Empty Nest Syndrome: 4 วิธีรับมือ ‘ภาวะเหงาซึม’ สำหรับคุณแม่ฟูลไทม์

Empty Nest Syndrome

Empty Nest Syndrome คือ อาการของคุณพ่อคุณแม่ที่รู้สึกเหงา เศร้า และเสียใจ เมื่อลูกเติบโตขึ้นถึงวัยที่ต้องออกจากบ้านไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง มักพบมากในคุณแม่วัยกลางคน โดยเฉพาะคุณแม่ที่เลี้ยงลูกเต็มเวลามานาน

อาการช่วงแรกของ Empty Nest Syndrome คุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกเศร้า เบื่อหน่าย และโดดเดี่ยว เพราะเคยมีวิถีชีวิตที่ยึดโยงกับลูกมานาน เช่น เคยต้องเตรียมอาหารเช้าให้ลูกทุกวัน ต้องคอยไปรับไปส่งทุกเช้าเย็น แต่เมื่อถึงวัยที่ลูกเติบโตพอที่จะดูแลตัวเองได้ บทบาทหน้าที่ที่พ่อแม่เคยทำก็ลดน้อยลงไปด้วย

หากการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนคุณพ่อคุณแม่ปรับตัวไม่ทัน จากภาวะเหงาซึม ก็จะกลายเป็นความเครียด วิตกกังวล และอาจเป็นสาเหตุที่อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้

ในยุคที่คุณแม่หลายคนผันตัวมาเป็นคุณแม่ฟูลไทม์และแม่บ้านเต็มตัวมากขึ้น เราอาจลืมเตรียมตัวเตรียมใจรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเมื่อลูกโตพอที่จะไม่ต้องมีคุณแม่คอยดูแลอย่างที่เคยเป็นมาก่อน

M.O.M จึงรวบรวมแนวทางรับมือภาวะเหงาซึมที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่ฟูลไทม์ในวันที่ลูกเติบโตมาฝากค่ะ

1. เปลี่ยนเป้าหมายของชีวิต

EmptyNest_web_1

ภาวะเหงาซึมมักเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่มีอายุ 40-50 ปี ที่เคยมีเป้าหมายและภาระหน้าที่เป็นการดูแลลูกและคนในครอบครัวให้ดีที่สุด แต่เมื่อลูกโตขึ้น ไม่ได้ต้องการการดูแลจากคุณแม่เหมือนก่อน ทำให้เป้าหมายของคุณแม่ฟูลไทม์ถูกลดทอนความสำคัญลงไปด้วย

การรู้จักเปลี่ยนเป้าหมายของตัวเองในเวลาที่เหมาะสมจึงเป็นเหมือนกุญแจดอกสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ไม่เชื่อคุณแม่ลองตั้งเป้าหมายที่เกี่ยวกับตัวเองมากขึ้น เช่น การออกกำลังกายดูแลสุขภาพ การพัฒนาตัวเอง หรือฝึกฝนทักษะใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความรู้สึกด้อยค่าหรือไม่มีเป้าหมายในชีวิตของคุณแม่ลงได้

2. ติดต่อกับเพื่อนเก่า

EmptyNest_web_2

ตลอดช่วงเวลาที่คุณแม่ต้องเลี้ยงลูกและดูแลครอบครัว อาจทำให้ต้องห่างหายจากการมีสังคมของตัวเอง และการพบปะสังสรรค์กับเพื่อนเก่าไปบ้าง

แต่เมื่อลูกเติบโต ก็เป็นช่วงเวลาที่ดีที่คุณแม่จะได้กลับไปติดต่อเพื่อนเก่า สร้างสังคม ทำกิจกรรม แลกเปลี่ยนความคิด และระบายความกังวลใจได้

จากรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2560 พบว่า ผู้สูงอายุในประเทศไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 4 ชั่วโมงต่อวัน โดยแอปพลิเคชันที่ผู้สูงอายุนิยมใช้มากที่สุดคือ Line รองลงมาคือ Facebook และ YouTube ตามลำดับ

นั่นแสดงให้เห็นว่า การติดต่อสื่อสารและส่งข้อความหาเพื่อนเก่า จึงเป็นอีกวิธีคลายเครียดและช่วยให้คุณแม่ที่กำลังรู้สึกเหงาซึมรู้สึกดีขึ้นได้

3. ทำงานอดิเรกที่ชอบ

EmptyNest_web_3

เมื่อลูกโตพอที่จะดูแลตัวเอง สิ่งหนึ่งที่จะหายไปจากชีวิตคุณแม่ก็คือภาระหน้าที่ที่เกี่ยวกับลูกที่คุณแม่เคยรับผิดชอบมาตลอด เมื่องานลดลง คุณแม่ก็มีเวลาว่างมากยิ่งขึ้น ถ้าหากไม่มีกิจกรรมอื่นมาทดแทน ก็จะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายได้

การมีงานอดิเรกที่ตัวเองชอบจึงเป็นทางเลือกที่ดี เพราะนอกจากจะช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายแล้ว ยังสามารถสร้างกลุ่มสังคมใหม่ๆ สร้างแรงบันดาลใจ พัฒนาทักษะของตนเอง และได้รู้จักความสามารถที่ซุกซ่อนอยู่ของตัวเองอีกด้วย

4. สร้างความสัมพันธ์กับคุณสามี

EmptyNest_web_4

เมื่อลูกโตพอที่จะดูแลตัวเองและออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น นั่นคือช่วงเวลาทองที่คุณแม่จะได้กลับมาใช้เวลาและเอาใจใส่คุณสามีมากขึ้น จากรายงานผลสำรวจพบว่าร้อยละ 63 ของคุณแม่ที่อยู่ในภาวะ ‘Empty Nest Syndrome’ กล่าวว่า พวกเธอรู้สึกกลับมาสนิทสนมกับสามีมากขึ้น

สุดท้าย อยากเป็นกำลังใจให้คุณแม่ที่กำลังเผชิญหรือเตรียมตัวที่จะเผชิญภาวะเหงาซึมเมื่อลูกเริ่มออกไปเติบโตนอกบ้าน ให้สามารถทำความเข้าใจและยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และชดเชยช่วงเวลาเหนื่อยล้าที่ยาวนานด้วยการกลับมาให้ความสำคัญกับตัวเองมากขึ้น แล้วคุณแม่ก็จะกลับมาเป็นแม่ที่มีความสุขได้อีกครั้งค่ะ

อ้างอิง
bangkokhospital
BetterUp
nso
bangkokhospital
creativethailand

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

COMMENTS ARE OFF THIS POST