การกินอาหารถือเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญของร่างกายมนุษย์ ถ้าให้พูดเป็นคำที่คุ้นเคยก็คือ การกินอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต แข็งแรงสมวัย และสารอาหารยังช่วยซ่อมแซมร่างกายในส่วนที่สึกหรอการฝึกให้ลูกกินอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนจึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามทำให้สำเร็จ เพราะเด็กเล็กมักจะเลือกกินอาหารที่ตัวเองคุ้นเคยและรสชาติถูกปากเท่านั้น
และสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากฝึกให้ลูกเป็นเด็กกินง่าย เรามีเทคนิคดีๆ มาช่วยให้คุณพ่อคุณแม่มีวิธีสอนลูกเป็นนักกินที่ดีมาฝากกันค่ะ
1. ไม่กดดันลูกมากจนเกินไป
ความกดดันไม่ใช่สิ่งที่เด็กๆ ต้องการ แม้แต่เรื่องอาหารการกินที่ดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าลูกไม่อยากกิน หรือเคยกินแล้วไม่ชอบรสชาติ ไม่ประทับใจในรูปร่างหน้าตา ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ลูกยอมกินอาหารนั้นอีก
เราไม่ได้บอกให้คุณพ่อคุณแม่ยอมแพ้หรือตามใจลูกเสมอไปนะคะ แต่การกดดันไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด เพราะจะยิ่งสร้างความเครียดและทำให้ต่อต้านการกิน มีอคติกับการกินอาหารนั้นๆ มากขึ้นดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรลองเปลี่ยนจากการออกคำสั่งหรือบังคับให้ลูกกินอาหารที่ลูกไม่ชอบ เป็นการปรับเปลี่ยนเมนู พัฒนารสชาติ หรือแม้แต่ทำอาหารให้รูปแบบที่น่าสนใจ และให้เวลาลูกค่อยๆ เปิดใจให้อาหารนั้นอีกครั้งค่ะ
2. พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องอาหารด้วยกัน
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้ว่าโลกเรามีอาหารการกินที่หลากหลาย อาหารแต่ละท้องถิ่นก็มีความแตกต่างตามสภาพภูมิประเทศ เศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่ฤดูกาล
การพูดคุยเพื่อให้ลูกได้ทำความรู้จักกับความหลากหลายของอาหารบนโลก จะช่วยจะเสริมสร้างให้ลูกมีความสนใจเรื่องอาหาร อยากเปิดใจลิ้มลองรสชาติที่หลากหลายไม่ใช่เพียงที่ชอบหรือคุ้นเคย อีกทั้งยังทำให้เขาเห็นถึงประโยชน์ของอาหารอีกด้วย
3. มีตัวเลือกให้กับลูกมากขึ้น
คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้ลูกต้องกินอาหารเมนูเดิมทุกวัน หรือฝืนใจให้ลูกกินอาหารที่ไม่ชอบบ่อยเกินไป
การจะช่วยให้ลูกมีพฤติกรรมการกินที่ดีขึ้น หนึ่งในนั้นคือการสร้างตัวเลือกให้กับลูกบ้าง เช่น ให้ลูกได้เลือกเองว่าพรุ่งนี้มื้อเช้าลูกอยากกินอะไร ระหว่างไข่ดาว หมูทอด หรือข้าวต้มกุ้งร้อนๆ การให้ลูกได้เลือกเมนูที่ตัวเองอยากกินบ้าง จะช่วยให้ลูกกินอาหารได้มากขึ้น
4. พาลูกเข้าครัวช่วยเป็นลูกมือ
การกินอาหารจะดูเป็นเรื่องน่าสนุกและใกล้ตัวมากขึ้น หากลูกได้เข้าครัวช่วยคุณพ่อคุณแม่ลงมือทำอาหารด้วยตัวเองบ้าง เพราะลูกจะได้เห็นวิธีการของเมนูแต่ละอย่างว่าทำอย่างไรบ้าง มีวัตถุดิบอะไรบ้าง การได้มีส่วนร่วมในการทำอาหาร จะทำให้ลูกอยากกินอาหารมากขึ้น รวมถึงการเปิดใจและอยากลองใช้วัตถุดิบใหม่ๆ ในการทำอาหารมากขึ้น
5. เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก
นิสัยการกินของคุณพ่อคุณแม่ ถ่ายทอดถึงลูกได้เสมอ หากคุณพ่อคุณแม่เป็นคนเลือกกิน ลูกก็มักจะเรียนรู้วิธีการเลือกกินอาหารหรือเขี่ยอาหารที่ไม่ชอบออกจากจานของตัวเองเสมอ
หากคุณพ่อคุณแม่เป็นคนชอบกินขนมจุบจิบ กินน้ำอัดลม กินของไม่มีประโยชน์ ก็ไม่แปลกที่ลูกจะมีพฤติกรรมการกินไม่ต่างกันนะคะ
6. อย่าใช้อาหารเป็นรางวัลหรือการลงโทษ
การลงโทษลูกด้วยมื้ออาหาร ไม่ว่าจะเป็นการสั่งงดอาหาร เมื่อลูกทำผิดหรือการให้รางวัลลูกเป็นอาหารที่ลูกชอบแต่ไม่มีประโยชน์หรือมีโทษกับร่างกาย อาจทำให้ลูกเข้าใจว่าอาหารที่ได้เป็นรางวัลมีคุณค่ามากกว่าอาหารที่ควรกินตามปกติ เช่น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้ลูกอมเป็นรางวัลเพื่อต่อรองให้ลูกกินผัก เพราะลูกจะเข้าใจว่าลูกอมเป็นอาหารที่มีความสำคัญและพยายามหาโอกาสกินด้วยตัวเองบ่อยๆ
7. จดบันทึกเมนูอาหารเกี่ยวกับลูก
การจดบันทึกเมนูอาหารการกินของลูกในแต่ละวัน ถือเป็นตัวช่วยชั้นที่ดีจะทำให้เห็นภาพมากขึ้นว่าลูกนั้นมีพฤติกรรมการกินอาหารอย่างไร เช่น ชอบเมนูไหน ไม่ชอบเมนูไหน แพ้อาหารอะไร หรือกินแล้วมีปฏิกิริยากับร่างกายลูกอย่างไรบ้าง ซึ่งนอกจากจะทำให้ระมัดระวังการกินของลูกแล้ว เรายังสามารถนำข้อมูลเหล่านี้รังสรรเมนูอาหารที่ตรงใจกับลูกและมีประโยชน์มากขึ้นอีกด้วย
8. อ่านหนังสือนิทานเกี่ยวกับอาหาร
นิทานเป็นตัวช่วยที่ดีที่จะทำให้เด็กเข้าใจเรื่องต่างๆ ได้ง่ายขึ้น การอ่านหนังสือนิทานเกี่ยวกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทำอาหาร พฤติกรรมการกินอาหาร หรือแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่นำมาทำอาหารล้วนมีผลให้ลูกรู้สึกสนใจการกินอาหาร หรืออยากจะลองทำอาหารตามที่ได้เห็นในหนังสือนิทาน และรู้สึกสนุกกับการกินอาหารมากขึ้น
COMMENTS ARE OFF THIS POST