READING

พัฒนาการทางบุคลิกภาพของเด็กวัย 0-12 ปี ตามหลักการข...

พัฒนาการทางบุคลิกภาพของเด็กวัย 0-12 ปี ตามหลักการของ Erik Erikson

Erik Erikson (1958-1963) เป็นนักจิตวิทยาและจิตวิเคราะห์ ผู้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้พัฒนาการของเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นวัยแห่งการเรียนรู้และพยายามทำความเข้าใจสิ่งรอบตัว และเราจะเข้าใจพฤติกรรมเด็กได้ เมื่อเราศึกษาการอบรมเลี้ยงดู สภาพสังคม และความเป็นอยู่ของเด็ก ส่วนเด็กจะสามารถพัฒนาบุคลิกภาพได้ดีหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่พวกเขาพบเจอในแต่ละช่วงวัยนั่นเอง

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือถ้าเด็กได้รับการตอบสนองที่ดีและเหมาะสมกับช่วงวัยของตัวเอง เด็กก็จะมีพัฒนาการทางบุคลิกภาพที่ดีและสามารถพัฒนาต่อไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ได้

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงควรทำความเข้าใจในพัฒนาการแต่ละช่วงวัยของเด็ก ก็เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ในการเติบโตทุกช่วงวัยของเขา

M.O.M จึงชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจกับทฤษฎีพัฒนาการบุคลิกภาพของ Erik Erikson ที่เกี่ยวข้องกับเด็กตั้งแต่วัย 0-12 ปี เพื่อเป็นแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่นำไปปรับใช้กับการเลี้ยงลูกในช่วงวัยต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

วัย 0-2 ปี เวลาแห่งการพัฒนาความไว้วางใจ (Trust vs. Mistrust)

ErikErikson_web_1

ในช่วงวัยนี้เด็กจะมีความสุข และกิจกรรมเกี่ยวกับการกิน หากได้รับความรัก ความอบอุ่น อาหาร การดูแลเอาใจใส่อย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ ก็จะเกิดความไว้วางใจในตัวคนที่ดูแล เช่น เมื่อลูกรู้สึกหิวคุณแม่ก็ให้กินนม หรือเมื่อรู้สึกไม่สบายตัวก็มีคุณพ่อคอยอุ้ม

แต่ถ้าเด็กในช่วงวัยนี้ไม่ได้รับความรักและการดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร เด็กก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ปลอดภัย หวาดกลัว และไม่มีคนที่ทำให้รู้สึกไว้วางใจได้ ถ้าหากไม่ได้รับการแก้ไขตั้งแต่วัยนี้ ก็จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการในช่วงวัยอื่นๆ ต่อไป

วัย 2-3 ปี เวลาแห่งการพัฒนาในการเป็นตัวของตัวเอง (Autonomy vs. Doubt and Shame)

ErikErikson_web_2

เด็กในช่วงวัยนี้จะมีพัฒนาการทางร่างกาย โดยเฉพาะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้น เริ่มเรียนรู้ที่จะควบคุมร่างกายให้เคลื่อนไหวเป็นอิสระมากขึ้น ทำให้เด็กรู้สึกว่าสามารถทำในสิ่งที่ต้องการได้

หากเด็กวัยนี้ได้รับอิสระในการตัดสินใจ แม้จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคุณพ่อคุณแม่ เช่น ฝึกช่วยเหลือตัวเองง่ายๆ  ก็จะทำให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกเป็นตัวของตัวเอง และภูมิใจในตัวเองมากขึ้น

แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่บังคับหรือเข้มงวดให้ลูกวัยนี้ให้ทำสิ่งต่างๆ มากเกินไป ก็จะทำให้ลูกเกิดความสงสัยและไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเองเอง จนอาจมีพฤติกรรมถดถอย (Regression) ได้

วัย 3-5 ปี วัยแห่งการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ (Initiative vs. Guilt)

ErikErikson_web_3

ความคิดสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งของทักษะทางสมองที่สำคัญต่อการเติบโตและการใช้ชีวิต ซึ่งถ้าลูกได้รับการส่งเสริมให้เป็นเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์เต็มที่ ด้วยการให้ลูกได้ลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง เช่น แต่งตัวเอง ประดิษฐ์สิ่งของหรือของเล่นตามจินตนาการของตัวเอง ก็จะช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และช่วยให้ลูกมีความเป็นภาวะผู้นำ (leadership skill) มากขึ้น

แต่หากคุณพ่อคุณแม่บังคับและเข้มงวดกับลูกวัยนี้มากเกินไป ลูกมักจะเกิดความระแวง ไม่กล้าทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น หรือเสนอความคิดใหม่ๆ เพราะกลัวว่าคุณพ่อคุณแม่จะดุ ส่งผลให้ลูกกลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองและไม่สามารถแสดงความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองออกมาได้เต็มที่

วัย 6-12 ปี วัยแห่งการพัฒนาความขยันหมั่นเพียร (Industry vs. Inferiority)

ErikErikson_web_4

ช่วงวัยเด็กตอนปลายก่อนก้าวเข้าสู่การเป็นวัยรุ่นเต็มตัว เป็นช่วงวัยที่เด็กจะมีความอยากรู้อยากเห็นในสังคมและสิ่งแวดล้อมของตัวเองมากขึ้น เช่น เริ่มให้ความสนใจกับรูปร่างหน้าตา การเปรียบเทียบ หรือเริ่มสนใจเรื่องราวของเพศตรงข้าม และมักแสดงออกว่าเขามีความสามารถไม่ต่างจากผู้ใหญ่เท่าไรนัก

หากลูกได้รับการสนับสนุนให้ลงมือทำอะไรด้วยตัวเองจนสำเร็จ เช่น ปลูกผัก ตั้งแต่เพาะเมล็ด ดูแลรดน้ำ จนเก็บผักมาทำอาหารกินได้ เขาก็จะมีความภาคภูมิใจ และรู้สึกดีต่อตัวเองมากขึ้น

ในทางตรงกันข้าม หากเด็กในวัยนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนให้มีความพยายาม ไม่ได้รับกำลังใจ หรือความเข้าใจจากคุณพ่อคุณแม่ ก็จะเกิดความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า เก่งไม่พอ และล้มเลิกความพยายามได้ค่ะ

อ้างอิง
simplypsychology
trueplookpanya
baanjomyut

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST