READING

อย่าให้ ‘ความคาดหวัง’ ของพ่อแม่ ทำร้ายลูก...

อย่าให้ ‘ความคาดหวัง’ ของพ่อแม่ ทำร้ายลูก

คงไม่มีคุณพ่อคุณแม่คนไหนไม่เคยตั้งความหวังกับลูก ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังในพัฒนาการด้านต่างๆ เช่น เมื่อลูกอายุ 6 เดือนควรจะเริ่มคลาน หรือเมื่ออายุ 1 ขวบลูกควรจะเริ่มหัดพูดและหัดเดินได้

แท้จริงแล้ว ความคาดหวังที่พ่อแม่มีต่อลูกก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่น้อย เพราะมีส่วนทำให้ลูกมีความพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จมากขึ้น มองไม่เห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากงานวิจัยของต่างประเทศกล่าวว่า การที่เด็กจะประสบความสำเร็จและภาคภูมิใจในตัวเองได้ จากความคาดหวังและผลักดันของพ่อแม่ที่จะทำให้ลูกพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ

แต่เมื่อลูกโตขึ้น ความคาดหวังที่มากและหนักหน่วงเกินไป ก็อาจแปรเปลี่ยนและส่งผลร้ายทำให้ลูกรู้สึกกดดัน เพราะบางครั้ง ความคาดหวังของพ่อแม่อาจสูงเกินความสามารถของลูกไปบ้าง เช่น พ่อแม่หวังอยากให้ลูกสอบวิชาคณิตศาสตร์ได้คะแนนดี แต่ไม่ได้สังเกตว่า ความเป็นจริงแล้ว ลูกไม่ชอบและไม่เก่งวิชาคณิตศาสตร์ แต่เมื่อรู้ว่าพ่อแม่คาดหวัง ก็จะทำให้ลูกมีความเครียดและกดดัน กลัวจะสอบได้คะแนนน้อย และความกดดันที่มากเข้าก็อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา

M.O.M รวบรวมข้อคิดดีๆ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจและปรับทัศนคติที่มีต่อคำว่าความคาดหวังในตัวลูกไปด้วยกันค่ะ

1. อย่าเอาความต้องการของพ่อแม่ไปคาดหวังในตัวลูก

expectations_web_1

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนำความต้องการของตัวเองไปฝากความหวังไว้กับลูก เช่น คุณแม่เคยเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง ก็คาดหวังให้ลูกเรียนเก่ง หรือคุณพ่อเคยอยากเล่นกีฬาเก่ง ก็เลยคาดหวังให้ลูกเล่นกีฬาเก่งเหมือนกัน

ก่อนอื่น คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจว่าความเก่ง ความฉลาด และทักษะของลูกเป็นเรื่องเฉพาะตัว พ่อแม่อาจจะส่งเสริมและสนับสนุนลูกได้ แต่ไม่ควรคาดหวังว่าลูกจะประสบความสำเร็จตามที่ต้องการทุกอย่าง

2. พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าเด็กทุกคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

expectations_web_2

มนุษย์ทุกคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และนั่นก็หมายถึงลูกของคุณพ่อคุณแม่ด้วย ดังนั้นลูกอาจชอบหรือถนัดในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น เช่น พ่อแม่คาดหวังให้ลูกเก่งวิชาวิทยาศาสตร์เหมือนญาติพี่น้องคนอื่น แต่ลูกอาจชอบและมีความถนัดด้านศิลปะมากกว่า การคาดหวังและพยายามทำให้ลูกชอบเรียนวิทยาศาสตร์จะกลายเป็นความกดดัน เพราะเมื่อลูกต้องเรียนหรือทำในสิ่งที่ไม่ถนัด ลูกจะรู้สึกถูกลดทอนคุณค่าของตัวเอง

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรมองหาสิ่งที่ลูกถนัด แล้วผลักดันในด้านนั้น เพราะเมื่อลูกได้ทำสิ่งที่ชอบและสำเร็จได้จากการสนับสนุนของคุณพ่อคุณแม่ ลูกจะรู้สึกภาคภูมิใจ มั่นใจในตัวเองมากขึ้น และอยากจะพัฒนาตัวเองต่อไป

3. คาดหวังเป็นระยะสั้นๆ ก็พอ

expectations_web_3

จริงอยู่ที่ความคาดหวังเป็นสิ่งที่เลี่ยงกันไม่ได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรระมัดระวังให้เป็นไปอย่างพอดี ไม่ตึงเกินหรือหย่อนเกินไป และที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างก็คือ พ่อแม่ไม่ควรคาดหวังกับลูกในระยะยาวมากเกินไป เช่น คาดหวังว่าลูกจะต้องเรียนหมอตั้งแต่ลูกยังเด็ก และพยายามพูดหรือแสดงความคาดหวังของตัวเองออกมาให้ลูกรับรู้ การทำแบบนี้ไม่ดีต่อลูกเป็นอย่างมาก เพราะระหว่างการเติบโตของลูก เขาอาจค้นพบว่าตัวเองไม่ได้อยากเรียนหมอ เมื่อสิ่งที่ลูกต้องการไม่ตรงกับความคาดหวังของพ่อแม่ ก็จะทำให้ลูกรู้สึกกดดัน ไม่มีความสุข และอาจทำให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวไม่ดีอีกด้วย

4. มีความคาดหวังที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง

expectations_web_4

สิ่งที่ละเลยไปไม่ได้เลยคือพื้นฐานของความเป็นจริง เด็กจะมีพัฒนาการค่อยเป็นค่อยไปตามช่วงวัย เช่น คุณพ่อคุณแม่อาจคาดหวังว่าลูกจะไม่ร้องไห้งอแงเมื่อไปโรงเรียนวันแรก แต่ธรรมชาติของเด็กที่ไม่เคยแยกจากพ่อแม่หรือไปโรงเรียนมาก่อนย่อมต้องการและโหยหาคุณพ่อคุณแม่เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นหากลูกจะร้องไห้งอแงบ้างก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ หรือแม้แต่การคาดหวังว่าเมื่อลูกเข้าโรงเรียนแล้ว จะต้องดูแลตัวเองรับผิดชอบตัวเองได้อย่างดี ก็อาจเป็นการคาดหวังที่เกินความสามารถของลูกในช่วงวัยนั้นๆ

ดังนั้นความคาดหวังที่ดีควรจะตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เหมาะสมกับลูก ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยหรือความถนัดของลูก ถ้าพ่อแม่คาดหวังในตัวลูกอย่างพอดี ความคาดหวังนั้นจะเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้เด็กประสบความสำเร็จได้อย่างมีความสุขและภาคภูมิใจไปกับมัน ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกก็จะดีด้วยเช่นกัน

อ้างอิง
qz
livestrong
albertonrecord
theconfidentmom

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST