READING

ทำยังไงให้ลูกไม่รู้สึกว่าพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน (...

ทำยังไงให้ลูกไม่รู้สึกว่าพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน (แม้จะแอบมีลูกคนโปรดอยู่ในใจก็ตาม)

รักลูกไม่เท่ากัน

ปัญหาที่พบมากในครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน คือการที่คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามทำให้ลูกและคนอื่นๆ เชื่อว่า พ่อแม่ไม่เคย รักลูกไม่เท่ากัน และลูกทุกคนจะต้องได้รับทั้งความรักความใส่ใจอย่างเท่าเทียมกันเสมอ

แม้ความจริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย หากพ่อแม่จะ รักลูกไม่เท่ากัน หรือแอบมีลูกคนโปรดอยู่ในใจ ดังที่ Paul Hokemeyer, LMFT, PhD, นักบำบัดโรคเกี่ยวกับการแต่งงานและครอบครัวในแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า “การมีลูกคนโปรดไม่ได้ทำให้คุณเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดี และก็ไม่ได้หมายความว่าคุณรักลูกอีกคนน้อยลง”

แต่ออกจะเป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับลูกเกินไปสักหน่อย เพราะลูกที่รู้สึกว่าได้รับความรักจากพ่อแม่ไม่เท่ากับพี่น้องในครอบครัว มักมีแนวโน้มว่าจะเกิดปัญหาตามมามากกว่าคนอื่นๆ ทั้งพฤติกรรมที่มีต่อพี่น้อง รวมถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อพ่อแม่ รวมถึงพฤติกรรมไม่ดี ที่อาจติดไปใช้กับผู้อื่นด้วย

ในขณะเดียวกันการเป็นลูกคนโปรดของคุณพ่อคุณแม่ ก็อาจก่อให้เกิดปัญหา ที่มาจากการเลี้ยงดู เช่น ได้รับการตามใจมากเกินไป ทำให้ลูกมีแนวโน้มเป็นเด็กเอาแต่ใจ หรือมีความมั่นใจในทางที่ผิด

แต่ถึงอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดกับการแอบมีลูกคนโปรดในใจ เพราะสิ่งสำคัญคือการที่คุณพ่อคุณแม่สามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีกับลูกและทุกคนในครอบครัว และแสดงให้ลูกเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่ให้ความเท่าเทียมและมีความยุติธรรมให้ลูกๆ ด้วยพฤติกรรมของตัวเอง ดังนี้

1. ยอมรับความรู้สึกของตัวเอง

FavoriteKid_web_1

นักวิจัยชาวอเมริกันจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย พบว่า 70% ของพ่อแม่ที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคนมักจะมีลูกคนที่รักมากกว่าลูกคนอื่น งานวิจัยนี้ยังยืนยันว่า ตามธรรมชาติแล้วพ่อแม่จะรักลูกไม่เท่ากัน พ่อแม่ทุกคนมีสองมาตรฐาน แต่เป็นเรื่องยากที่พ่อแม่จะกล้ายอมรับตัวเองรักลูกไม่เท่ากัน

แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิด เพราะมันเป็นเรื่องปกติที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะเข้ากับลูกคนใดคนหนึ่งได้ดีกว่า แต่ถึงอย่างนั้นต้องไม่ลืมที่จะพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์กับลูกคนอื่นๆ ด้วย

2. ให้เวลากับลูกแต่ละคนเสมอ

FavoriteKid_web_2

คุณพ่อคุณแม่อาจจะชอบใช้เวลากับลูกคนโปรดมากเป็นพิเศษ นั่นอาจเป็นเพราะลูกเชื่อฟังและมีความสนใจคล้ายกับคุณพ่อคุณแม่ จึงสามารถเล่นหรือใช้เวลาอยู่ด้วยกันได้อย่างราบรื่น

แต่ในขณะเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่ก็จำเป็นต้องใช้เวลากับลูกคนอื่นในแบบเดียวกัน เช่น คุณแม่ใช้เวลาสอนพี่คนโตทำการบ้านวันละครึ่งชั่วโมง ก็ควรมีเวลาครึ่งชั่วโมงให้กับลูกคนอื่นๆ โดยเท่าเทียมกัน

นอกจากนั้น ควรมีการจัดสรรวันพิเศษอย่างน้อยเดือนละครั้ง สำหรับลูกแต่ละคน โดยให้ลูกเป็นคนเลือกกิจกรรมที่จะทำกับคุณพ่อคุณแม่ตามที่ตัวเองต้องการ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าทุกคนจะได้รับสิทธิและความเอาใจใส่จากคุณพ่อคุณแม่เหมือนๆ กัน

3. เข้าใจตัวตนและความแตกต่างของลูก

FavoriteKid_web_3

ธรรมชาติของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน แม้แต่เด็กเล็ก บางคนช่างพูดช่างเจรจา แต่บางคนพูดน้อย และชอบนั่งทำกิจกรรมของตัวเองเงียบๆ คุณพ่อคุณแม่จึงควรทำความเข้าใจตัวตนของลูกแต่ละคนตั้งแต่ยังเล็ก และยอมรับความแตกต่างของลูกอย่างตรงไปตรงมา ไม่เอนเอียง ไม่บังคับฝืนใจว่าทุกคนจะต้องมีลักษณะนิสัยและความชอบไปในทิศทางเดียวกัน และไม่ทำการเปรียบเทียบลูกแต่ละคน เพราะนอกจากจะทำให้ลูกรู้สึกกดดันตัวเองแล้ว ยังสร้างความรู้สึกแปลกแยกระหว่างพี่น้องอีกด้วย

4. ตัดสินอย่างยุติธรรม

FavoriteKid_web_4

เรื่องปกติที่จะเกิดกับครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน ก็คือลูกทะเลาะกันเอง แม้จะไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ก็เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสำคัญ และหาสาเหตุของการทะเลาะกันเพื่อแก้ไข เช่น พี่น้องมีของเล่นไม่เหมือนกันจึงอิจฉาและผิดใจกัน หรือลูกบางคนอยากได้ความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ จึงแสดงพฤติกรรมไม่น่ารักกับพี่น้อง ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการทะเลาะกันระหว่างพี่น้อง คุณพ่อคุณแม่ควรตัดสินปัญหาอย่างมีเหตุผล ไม่ใช้ความรู้สึกเป็นตัวชี้นำหรือเข้าข้างลูกคนใดเป็นพิเศษ เพราะจะทำให้ความน่าเชื่อถือของคุณพ่อคุณแม่ลดลง และยิ่งตอกย้ำความรู้สึกของลูกที่ว่าคุณพ่อคุณแม่รักลูกไม่เท่ากันให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปด้วย

อ่านบทความ: 6 วิธีสร้างพื้นฐานความสัมพันธ์ ไม่ให้พี่น้องทะเลาะกันจนคุณพ่อคุณแม่ปวดหัว
อ้างอิง
verywellfamily
parents

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST