READING

5 แนวทางอยู่กับลูกในวันที่พ่อแม่ต้องทำงานที่บ้าน ฉ...

5 แนวทางอยู่กับลูกในวันที่พ่อแม่ต้องทำงานที่บ้าน ฉบับจับต้องได้ ทำได้จริง จากคนทำงานด้านเด็ก (4)

ในช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่หลายบ้านต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต จากการออกไปทำงานนอกบ้าน มาเป็นการนั่งทำงานอยู่ที่บ้านแทน แถมยังกินเวลายาวนานกว่าสองสัปดาห์ (หรืออาจจะมากกว่านั้น)

ขณะที่เด็กเอง ก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตเช่นกัน เด็กหลายคนที่ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงโรงเรียนเปิดเทอม ก็ต้องปรับรูปแบบมาเป็นการเรียนออนไลน์​ ส่วนเด็กที่โรงเรียนปิดเทอมก็จะว่าง ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านก็ไม่ได้ ไหนจะเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ที่ต้องการการเล่นเป็นหลัก แม้จะมีพี่เลี้ยง หรือปู่ย่าตายาย แต่เมื่อเห็นพ่อแม่อยู่ที่บ้านด้วย ก็อดจะเรียกร้อง ชวนคนที่เขารักที่สุดมาเล่นด้วยกันไม่ได้ (แต่พ่อแม่ก็ต้องทำงานไงลูก!?!)

M.O.M จึงไปขอข้อแนะนำและความคิดเห็น จากคุณครู นักจิตวิทยา และคนที่ทำงานด้านเด็ก เชี่ยวชาญด้านการเล่น การจัดกิจกรรม และเข้าใจความต้องการของเด็กๆ เป็นอย่างดี เพื่อเป็นแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่ได้นำไปปรับใช้ในช่วงเวลาที่เราต่างก็ยากลำบากกันทุกคนแบบนี้

Q: แนวทางสร้างกิจกรรมง่ายๆ สำหรับพ่อแม่และคนที่อยู่บ้านทำร่วมกับเด็กๆ ช่วงที่ออกนอกบ้านไปไหนไม่ได้เลย

ในช่วงที่มีเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย อาจจะทำให้เด็กๆ เกิดความสับสน เพราะสิ่งที่เด็กๆ เคยทำเป็นประจำอาจจะต้องหยุดหรือมีการเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญคือการสร้างกิจวัตรประจำวันใหม่ และชวนให้เด็กๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยก็จะยิ่งดี เช่น ทำตารางกิจวัตรประจำวันร่วมกันกับเด็กๆ เริ่มตั้งแต่เวลาตื่นนอน แต่งตัว กินอาหารเช้า รวมถึงกิจกรรมด้านร่างกาย ซึ่งสำคัญมากสำหรับเด็ก และยังจะช่วยให้เด็กๆ ได้มีสมาธิตั้งแต่เริ่มวัน โดยอาจเป็นการออกกำลังกายง่ายๆ เช่น เต้นตามเพลง Head, Shoulders, Knees and toes หรือวิ่งรอบสวนที่บ้าน

นอกจากนั้น ในตารางเวลาจะต้องมีเวลารับประทานอาหาร เวลาพักผ่อน (ขึ้นอยู่กับช่วงอายุ) และเวลาที่เหมาะสมสำหรับการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิที่ไม่ยาวนานเกินไป เช่น การให้เด็กๆ นั่งวาดรูปนานเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงอาจเป็นเรื่องยาก คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กแต่ละช่วงวัย เพื่อจัดกิจกรรมให้เหมาะสม

สำหรับเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่สามารถทำตารางโดยใช้รูปเพื่อช่วยอธิบายกิจกรรมต่างๆ เช่น เวลาเล่น เวลารับประทานอาหาร เวลาดูโทรทัศน์ สิ่งสำคัญคือทำให้เด็กๆ รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในแต่ละวันโดยการอธิบายตารางภาพกิจกรรม วิธีนี้จะช่วยให้ลูกรู้ว่าในวันหนึ่งจะต้องทำอะไรบ้าง และสามารถปรับตัวเข้ากับกิจวัตรใหม่ได้เร็วขึ้น

เคล็ดลับ:

  1. ออกแบบตารางทีละวันและทำให้ตารางยืดหยุ่นมากที่สุด เพราะบางกิจกรรมอาจจะต้องใช้ความต่อเนื่องหลายวันเพื่อทำให้เสร็จ เช่น โปรเจ็กต์งานศิลปะ หรืออื่นๆ
  2. เลือกกิจกรรมที่พัฒนาน้องๆ อย่างรอบด้าน เช่น ที่ KLS จะมุ่งเน้นการพัฒนาเด็กทั้งด้านร่างกาย วิชาการ และความคิดสร้างสรรค์ ไปพร้อมกัน นอกจากนั้น ควรทำกิจกรรมให้ง่าย เช่น กิจกรรมด้านร่างกายอาจเป็นการชู้ตลูกบอลที่ทำจากถุงเท้าให้ลงตะกร้า กิจกรรมด้านความคิดสร้างสรรค์อาจเป็นการล้างรถด้วยน้ำสบู่ และกิจกรรมด้านวิชาการอาจเป็นการอบขนมร่วมกันและเรียนรู้การชั่งตวงวัดผ่านส่วนผสมต่างๆ

Q: พ่อแม่อาจจะเล่นกับลูกตลอดเวลาไม่ได้ เพราะว่ามีงานต้องทำ มีประชุมต้องเข้า เราควรทำอย่างไรดี ให้สามารถบาลานซ์ระหว่างงานกับลูกได้ (โดยไม่รู้สึกผิดกับทั้งสองทาง)

การควบคุมตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กควรเรียนรู้ สำหรับเด็กเล็กอาจจะเป็นเรื่องยากและต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่เคยให้เด็ก ๆ เล่นด้วยตัวเองเลย อาจจะเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายมาก แต่ก็สามารถค่อยๆ เริ่มทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยเริ่มจากกิจกรรมที่ลูกชอบทำก่อน เช่น ให้ภารกิจออกแบบบ้านและสร้างด้วยเลโก้ หากลูกทำเสร็จแล้ว เขาจะสามารถเลือกทำกิจกรรมอื่นที่อยากทำได้

เคล็ดลับก็คือ การทำตามความสนใจของเด็กในขณะนั้น แม้ว่าเราจะมีตารางเวลาที่ออกแบบไว้ร่วมกัน แต่ควรเป็นตารางที่ลูกสามารถเลือกทำตามสิ่งที่ตนเองสนใจได้เอง โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ เป็นหนึ่งวิธีที่จะทำให้ลูกไม่เบื่อและสามารถมีสมาธิได้นานขึ้น

การหาสมดุลระหว่างกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิกับกิจกรรมที่เด็กเลือกทำเองเป็นเรื่องท้าทาย บางครอบครัวอาจจะให้เด็กๆ ดูทีวีในช่วงเช้า แต่เราขอให้คุณหลีกเลี่ยงหากเป็นไปได้ ถึงแม้ว่าการดูทีวีจะช่วยดึงดูดความสนใจของเด็กได้ดี แต่มันก็จะทำให้เด็กเฉื่อยชา และไม่อยากลุกขึ้นไปทำอะไร ดังนั้น หากจำเป็นต้องให้เด็กดูทีวี ขอแนะนำให้เป็นช่วงกลางวัน ก่อนที่จะให้เด็กๆ ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายได้หลังจากดูทีวี

ที่สำคัญอีกหนึ่งสิ่งคือ คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ช่วงเวลาที่จะใช้ร่วมกับลูกไว้ในตารางเวลาด้วย ถึงแม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แค่ 15 นาทีก็ตาม และบอกลูกทุกครั้งว่าคุณจะต้องไปทำงานเมื่อถึงเวลา

ช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายนี้ ลูกอาจจะต้องการความสนใจจากคุณมากขึ้น การมีตารางเวลาเป็นอีกวิธีในการช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายและรู้ว่าต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวัน

การให้ลูกได้มีเวลาเล่นคนเดียวไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย แต่เป็นการสอนให้เด็ก ๆ คิดด้วยตัวเอง เลือกทำในสิ่งที่สนใจด้วยตัวเอง และควบคุมตัวเองได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีมากสำหรับเด็กๆ ทุกคน

Q: หลายบ้านจะไม่เคยให้ลูกดูหรือเล่นหน้าจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์มาก่อน แต่เด็กก็จะสนใจตอนที่พ่อแม่วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หรือหลายโรงเรียนก็ให้เด็กเรียนออนไลน์ มีการส่งกิจกรรมมาให้ทำที่บ้าน ตรงนี้พ่อแม่จะสามารถรู้ได้อย่างไรว่า ให้ลูกใช้หน้าจอเท่าไหร่ถึงจะพอดี ไม่ให้กลายเป็นเด็กๆ หันมาติดหน้าจอในช่วงเวลาแบบนี้ 

การจัดการเวลาในการใช้จอในช่วงที่ทุกคนต้องใช้ ‘การเรียนแบบออนไลน์’ เป็นเรื่องที่ท้าทาย สิ่งที่สำคัญที่ควรทำคือการหาสมดุล หลังจากเด็กๆ เรียนออนไลน์กับคุณครูจบแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรหากิจกรรมอื่นๆ ให้ลูกทำ และไม่ควรให้ลูกเล่นแท็บแล็ตต่อไปเรื่อยๆ

นอกจากนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งความเห็นเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ไปให้คุณครู เพราะการเรียนแบบออนไลน์เป็นเรื่องที่อาจไม่คุ้นเคยของทั้งฝั่งคุณครูและผู้ปกครอง การได้ส่งความคิดเห็นต่อกัน จะช่วยให้โรงเรียนสามารถปรับปรุงการเรียนออนไลน์ให้ดียิ่งขึ้นได้

ถึงแม้ว่าในช่วงเวลานี้ เด็กๆ อาจจะต้องใช้จอเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ก็คือ ช่วยพวกเขาเลือกคอนเทนต์ให้หลากหลายและเหมาะสมมากที่สุด

เคล็ดลับที่สำคัญจากคู่มือการใช้ไอแพด iPad ที่ KLS จัดทำไว้ก็คือให้พ่อแม่และลูกใช้แท็บเล็ตร่วมกัน เพราะนั่นหมายความว่า ลูกจะได้สื่อสารกับเราไปด้วย ไม่ใช่แค่จ้องไปที่หน้าจอเท่านั้น

สนใจข้อมูล K | iPad Manual ติดตามต่อได้ที่ https://www.facebook.com/2373900232931799/posts/2644328025889017/?sfnsn=mo


Nidnok

‘นิดนก’ เป็นคุณแม่ของน้อง ณนญ / เป็นนักเขียนสาวเชิงรุก เจ้าของผลงานหนังสือ 'POWER BRIDE เจ้าสาวที่กลัวสวย' และ 'TO BE CONTINUE- โปรดติดตามตอนแต่งไป'

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST