READING

ลูกแพ้อาหารผ่านน้ำนมแม่: สังเกตอาการและวิธีรับมือ ...

ลูกแพ้อาหารผ่านน้ำนมแม่: สังเกตอาการและวิธีรับมือ เมื่อทารกแพ้อาหารผ่านน้ำนมแม่

แพ้อาหารผ่านน้ำนมแม่

อาการผื่นแดงบนผิวหนังของลูกวัยทารก อาจนำมาซึ่งความกังวลและไม่สบายใจให้คุณพ่อคุณแม่ได้ เพราะอาการผื่นแดงตามผิวหนังเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศเป็นพิษ แพ้สารเคมีจากเสื้อผ้าและสิ่งของเครื่องใช้ แต่อาการแพ้ที่ส่งผลชัดเจนและรุนแรงสำหรับทารกมากที่สุดก็คือ แพ้อาหารผ่านน้ำนมแม่

โดยธรรมชาติแล้ว น้ำนมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกเป็นอย่างมาก คุณแม่จึงไม่จำเป็นต้องลังเลใจเลยที่จะให้ลูกน้อยกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด แต่ถึงอย่างนั้น ภาวะ แพ้อาหารผ่านน้ำนมแม่ คือ ปฏิกิริยาต่อต้านน้ำนมแม่ที่ส่งผลต่อร่างกายของทารก เพราะแพ้อาหารบางอย่างที่คุณแม่กินเข้าไป ทำให้ลูกจะได้รับสารอาหารเหล่านั้นผ่านการกินน้ำนมแม่ไปด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ ช่วงเวลาที่คุณแม่ให้ลูกกินนมแม่ ไม่ว่าคุณแม่จะกินอะไร ลูกก็จะได้กินสิ่งนั้นไปด้วยเช่นกัน

งานวิจัยจาก The American Academy of Pediatrics (AAP) เผยว่า ภาวะ แพ้อาหารผ่านน้ำนมแม่ สามารถเกิดขึ้นได้ในอัตราส่วนร้อยละ 2-3 ซึ่งถือว่าเกิดขึ้นได้ยาก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วทารกจะแสดงอาการแพ้ออกมาอย่างชัดเจน ดังนี้

foodallergy_web_1

– อาการทางผิวหนัง: เกิดผื่นแดงคัน ลมพิษ ตาบวม ปากบวม

– อาการทางระบบทางเดินอาหาร: อาเจียน ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นมูกเลือด

– อาการทางระบบทางเดินหายใจ: หายใจมีเสียงวี้ด เหนื่อยหอบ หากมีอาการแพ้ขั้นรุนแรง อาจมีความดันต่ำ  หรืออาการช็อกได้

และอาหารที่พบว่าทารกมักมีอาการแพ้บ่อยๆ ได้แก่

– ถั่วชนิดต่างๆ โดยเฉพาะถั่วเหลืองและถั่วลิสง

– อาหารที่มีส่วนผสมของแป้งสาลี

– อาหารประเภทไข่

– อาหารทะเล โดยเฉพาะกุ้ง

– อาหารที่มีส่วนประกอบของนมวัว

 

เมื่อคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการเข้าข่ายภาวะแพ้อาหารผ่านน้ำนมแม่ ก็จำเป็นต้องมีวิธีการรับมืออย่างเป็นขั้นตอน ดังต่อไปนี้

1. ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

foodallergy_web_2

เมื่อคุณพ่อคุณแม่เริ่มสังเกตเห็นอาการแพ้เบื้องต้นของลูก เช่น มีผื่นแดงขึ้นตามใบหน้า ถ่ายเหลว กินนมแม่น้อยลง ควรรีบปรึกษาแพทย์ก่อนที่อาการแพ้จะลุกลามและรุนแรงขึ้น

โดยคุณหมอจะตรวจอาการหรือทำการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่รู้ในเบื้องต้นว่าอาการแพ้ของลูกเกิดจากอาหารประเภทใดบ้าง

2. จดบันทึกอาหารที่คุณแม่กินและสังเกตอาการที่ลูกแสดงออก

foodallergy_web_3

ช่วง 9 เดือนแรกของทารก เป็นช่วงที่ระบบต่างๆ ในร่างกายทารกกำลังพัฒนา เมื่อลูกได้รับสารอาหารแปลกใหม่เข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ดังนั้น คุณแม่จึงควรจดบันทึกรายการอาหารที่คุณแม่กินในแต่ละมื้อ และสังเกตอาการที่เกิดขึ้นกับลูกหลังการกินนมแม่ เพื่อการป้องกันไม่ให้คุณแม่กินอาหารที่ลูกแพ้ซ้ำเข้าไปอีก และยังช่วยให้คุณแม่เลือกกินอาหารที่ปลอดภัยกับลูกได้ง่ายขึ้น

3. งดอาหารทั้งหมดที่เสี่ยงต่อการแพ้

foodallergy_web_4

เมื่อคุณแม่รู้แล้วว่าลูกแพ้อาหารชนิดใดบ้าง คุณแม่ควรงดกินอาหารเหล่านั้นในขณะที่ให้นมลูก หรือแม้แต่อาหารที่มีความเสี่ยงต่อการแพ้ เช่น ถั่ว นมวัว ไข หรืออาหารทะเล โดยเริ่มจากการงดอย่างเด็ดขาดประมาณ 3 สัปดาห์ แล้วจึงค่อยกลับมาเริ่มกินทีละน้อย ทีละอย่าง เพื่อสังเกตอาการของลูกให้แน่ใจว่าลูกมีปฏิกิริยาต่อต้านกับอาหารที่คุณแม่เริ่มกินในช่วงเวลานั้นๆ หรือไม่

4. ปรับเปลี่ยนอาหาร ลดความเครียด

foodallergy_web_5

การต้องงดอาหารจานโปรด ในเวลาที่ลูกยังเล็ก และการเลี้ยงดูเต็มไปด้วยความยากลำบาก อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจ ทำให้คุณแม่เกิดวิตกกังวล และความเครียดสะสม ดังนั้นการมองหาเมนูอาหารสร้างสรรค์ที่ดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ สำหรับคุณแม่ที่กำลังให้นมลูก จะช่วยให้คุณแม่ได้ปรับเปลี่ยนอาหารการกิน นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงภาวะแพ้อาหารผ่านน้ำนมแม่แล้ว ยังช่วยเพิ่มความสุขในการกินให้กับคุณแม่ไปด้วยค่ะ

อ้างอิง
healthessentials
theasianparent
happyfamilyorganics

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST