เป็นแม่ฟูลไทม์ จะดีไหมนะ

แม่ฟูลไทม์

เรื่องหนักใจของคุณแม่ลูกอ่อนที่ทำงานประจำมาตลอด คือหลังจากลาคลอดครบสามเดือนแล้ว ยังอยากเลี้ยงลูกเองต่อไป แต่ไม่รู้ว่าจะทำยังไงดี ถ้าลาออกจากงานมาเลี้ยงลูก แล้วรายได้ที่หายไป กับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น คุณพ่อคนเดียวจะไหวหรือเปล่า แล้วถ้ากลับไปทำงาน ก็ต้องหาคนมาช่วยเลี้ยง เนอร์เซอรีจะดีไหม จ้างพี่เลี้ยงมาที่บ้านดีหรือเปล่าทำอย่างไรดี เมื่องานก็ต้องทำ แต่ลูกก็อยากเลี้ยง เป็น แม่ฟูลไทม์ จะดีจริงไหมนะ…

เรื่องแบบนี้คงไม่มีใครตอบได้ดีกว่าตัวคุณแม่เอง เพราะคุณแม่บางคนอาจจะแฮปปี้กับการปล่อยวางจากลูกแล้วออกทำงานตอนเช้า ได้สนุกและท้าทายกับหน้าที่การงานเหมือนเดิม มีเวลาพักให้ได้วิดีโอคอลหาลูก หลบมุมมาปั๊มนม ตกเย็นค่อยรีบกลับบ้าน มาใช้เวลาพาลูกเข้านอน

ในขณะที่คุณแม่อีกหลายคนก็มีความสุขกับการได้เป็น แม่ฟูลไทม์ ไม่ต้องคิดเรื่องงาน มีเวลาโฟกัสลูกเต็มที่ มีความสุขกับการรอชมทุกพัฒนาการของลูกและก็ยังมีแม่อีกไม่น้อยที่ยังลังเลและไม่แน่ใจว่าจะเลือกทางไหนดี แต่สำหรับคุณแม่ที่มีแนวโน้มว่าอยากจะอยู่บ้านเลี้ยงลูก ก็ขอให้ตัดสินใจด้วยความมุ่งมั่น เพราะผลของการตัดสินใจ อาจทำให้คุณแม่ต้องเสียโอกาสในหน้าที่การงานและรายได้ส่วนหนึ่งของครอบครัว แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือช่วงเวลาที่มีค่าและสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตของลูก

และเพื่อช่วยให้คุณแม่พิจารณาและตัดสินใจง่ายขึ้น ต่อจากนี้คือเรื่องราวที่คุณแม่ฟูลไทม์ต้องพบเจอ รู้แล้วจะได้เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม เพราะธรรมดาหน้าที่แม่ก็เป็นงานหนักไม่ใช่เล่น และถ้าเลือกที่จะเป็นคุณแม่แบบเต็มเวลาแล้วละก็ เรามาเรียนรู้หน้าที่การงานใหม่นี้ไปด้วยกันนะคะ

ต้องทำงาน 98 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

momfulltime_web_1

ตั้งแต่วันแรกที่ตั้งครรภ์ คุณแม่ก็รับรู้ได้ทันทีว่า ต่อจากนี้หน้าที่แม่จะไม่มีวันหยุดอย่างเป็นทางการ จากการศึกษาและสำรวจคุณแม่ชาวอเมริกันกว่า 2,000 คน โดย Welch พบว่า คุณแม่ส่วนใหญ่ใช้เวลาเฉลี่ย 14 ชั่วโมงต่อวัน หรือประมาณ 98 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ไปกับการเลี้ยงลูก ซึ่งมากกว่าการทำงานประจำถึง 2.5 เท่า และส่งผลให้คุณแม่อาจเกิดความเครียดได้

Laurel Mellin รองศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชนที่ School of Medicine จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า แม่ฟูลไทม์เป็นอาชีพที่เครียดมาก เพราะการที่คุณแม่อยู่บ้าน ไม่ได้ทำแค่หน้าที่เลี้ยงลูกอย่างเดียว แต่ยังมีงานบ้าน ธุระ และตารางเวลาต่างๆ ที่ยังทำต้องอีกมาก

ทางด้าน Katherine Foss รองศาสตราจารย์ด้านสื่อศึกษาในโรงเรียน Journalism and Strategic Media at Middle ระบุว่า ความเครียดเหล่านี้จะลดลงได้ เมื่อปล่อยวางเรื่องงานบ้าน ปล่อยรกบ้าง และให้ลูกได้เล่นคนเดียวบ้าง

อาจจะรู้สึกโดดเดี่ยวในบางเวลา

momfulltime_web_2

Dr. Dana Dorfman นักจิตอายุรเวท แห่งนิวยอร์ก กล่าวในรายการพอดแคสต์ Two Moms on the Couch ว่า คนอื่นอาจมองว่า การเลี้ยงลูกอยู่บ้าน คือสิทธิพิเศษ เป็นงานสบาย และน่าอิจฉา แต่ตรงกันข้าม เพราะคุณแม่ฟูลไทม์หลายคนอาจจะรู้สึกโดดเดี่ยว สูญเสียตัวตน หรือสูญเสียปฏิสัมพันธ์ทางสังคมได้

แต่แม่ฟูลไทม์อีกจำนวนไม่น้อยก็มีความสุขที่ได้ใช้เวลาส่วนกับลูกน้อย

ดร.ดอร์ฟแมน ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณแม่รู้สึกเหงา แนะนำให้ลองหาสังคมแม่ๆ หรือหาเวลานัดแก๊งเพื่อนสาวที่มีลูกวัยเดียวกัน เพื่อได้ปลดปล่อยความรู้สึก และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงลูกได้อย่างสบายใจ

อีกใจก็อยากทำงานอีกใจก็อยากเลี้ยงลูก

momfulltime_web_3

Kristin Calverley นักจิตวิทยาและผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านคลินิกของ McGovern Medical School ที่ UTHealth และ UT Physicians ในฮูสตัน กล่าวว่า คุณแม่ที่ไม่มีความสุขที่สุด คือ คุณแม่ที่อยากทำงานแต่ไม่ได้ทำงาน คุณแม่บางคนจำใจต้องลาออกจากงานที่ชื่นชอบ ด้วยแรงกดดันจากวัฒนธรรมหรือครอบครัวที่เห็นว่าการเลี้ยงลูกคือความรับผิดชอบสูงสุดของคนเป็นแม่ และคุณแม่ฟูลไทม์กลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้า มากกว่าคุณแม่ที่ตัดสินใจว่าจะเป็นแม่ฟูลไทม์ หรือ working mom ด้วยตัวเอง

ได้เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมๆ กัน

momfulltime_web_4

เมื่อคุณแม่ได้อยู่บ้านและใช้เวลากับลูก คุณแม่จะเป็นผู้มีอิทธิพลและแรงบันดาลใจแรกของลูกในวัยก่อนเข้าโรงเรียน คุณแม่จะได้เป็นทั้งคุณครูคนแรก ผู้พิทักษ์ที่แข็งแกร่ง เป็นมัคคุเทศก์ผู้รอบรู้ เป็นแม่ครัวหัวป่าก์ เช่นเดียวกับลูก บางเวลาได้ทำหน้าที่คุณหมอ เยียวยาจิตใจ เป็นคุณครูตัวน้อยที่สอนวิชาการควบคุมอารมณ์ หรือเป็นนักชิมอาหารคนเก่งของแม่ ทั้งหมดที่คุณแม่ทำ และทั้งหมดที่ลูกได้เรียนรู้ นี่คือวินาทีทองที่จะทำให้ลูกเติบใหญ่ และทำให้ชีวิตของคุณแม่เติบโตขึ้นเช่นกัน

ได้ค้นพบช่วงเวลาที่แสนสำคัญในชีวิต

momfulltime_web_5

แม้ว่าการเป็นแม่ฟูลไทม์ จะเต็มไปด้วยความท้าทาย คุณแม่อาจต้องรับมือกับความเครียด ร้องไห้ สับสน หรือโดดเดี่ยวในบางครั้ง แต่ถึงอย่างนั้น การได้เป็นคนแรกที่เห็นเหตุการณ์สำคัญของลูกครั้งแรก จะช่วยเยียวยาความรู้สึกด้านลบในใจคุณแม่ไปได้ เพราะช่วงอายุ 0-6 ปีของลูก คือช่วงเวลาที่สำคัญ

จากการศึกษาของ Pew Research Center ในปี 2018 พบว่า 18% ของผู้ปกครองชาวอเมริกันเลือกที่จะอยู่บ้านเลี้ยงลูก และจากการประเมินแนวโน้มทางสังคมและประชากรศาสตร์ระบุว่า พ่อแม่อเมริกันกว่า 60% ให้ความเห็นว่า ลูกเป็นเด็กดี มีพฤติกรรมที่เหมาะสม และมีความสุข เมื่อได้อยู่กับพ่อหรือแม่ฟูลไทม์มากกว่าอยู่กับพี่เลี้ยง หรือเนอร์เซอรี่

แม้ว่าการเป็นคุณแม่เต็มเวลาอาจจะทำให้เหนื่อยและนึกอยากกลับไปทำงานประจำบ้างในบางครั้ง แต่การได้เป็นคุณแม่ที่มีเวลาดูแล ให้ความรัก และความอบอุ่นลูกเต็มที่ การได้เห็นลูกน้อยเติบโตโดยมีคุณแม่อยู่ในทุกช่วงตอนของชีวิตก็น่าจะเป็นรางวัลทดแทนความเหนื่อยให้คุณแม่ได้

 

อ่านบทความ: Baby, you changed my life: ความเปลี่ยนแปลงในชีวิต คุณแม่มือใหม่ 3 คน 3 อาชีพ
อ้างอิง
verywellfamily
psycom
tinybeans
verywellfamily

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST