เรื่องการกินและโภชนาการสำหรับเด็ก ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ทั้งคาดหวังและให้ความสำคัญ อยากให้ลูกกินได้และได้กินอาหารที่ดีและมีประโยชน์ เพราะ กระบวนการเจริญเติบโตของร่างกายคนเรา ต้องการสารอาหารที่ครบถ้วนในปริมาณที่พอเหมาะ
ช่วงวัยเด็กซึ่งเป็นวัยแห่งการเจริญเติบโต ส่วนสูงและน้ำหนักตัวของลูกเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสำคัญ พยายามรักษาตัวเลขให้อยู่ในมาตรฐาน (ข้อมูลมาตรฐานน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กไทย จากกรมอนามัย) แต่หลายครอบครัวก็ต้องประสบปัญหา ไม่ว่าจะพยายามให้ลูกกินอาหารให้ดีและครบห้าหมู่อย่างไรก็ตาม ลูกก็ยังน้ำหนักน้อยและตัวเล็กกว่าเด็กในวัยเดียวกัน แล้วยิ่งถ้ามีใครมาทักว่าทำไมลูกตัวเล็ก ทำไม ลูกผอมมาก คุณพ่อคุณแม่ก็ยิ่งเครียดมากขึ้นไปอีก
ต้นสายปลายเหตุของน้ำหนักตัวที่ต่ำกว่ามาตรฐานของลูก ความจริงแล้วก็มาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าเป็นการเลี้ยงดู ที่ตามใจให้ลูกเลือกกินแต่อาหารที่ชอบ การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็มีผลให้ Growth Hormone ทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย แม้แต่อาการเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจในเด็ก ก็ทำให้เด็กมีร่างกายที่ไม่เติบโตตามเกณฑ์ได้
แต่ถ้าหากมั่นใจว่าลูกไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยทางกาย แต่น้ำหนักก็ยังคงไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ยิ่งช่วงไหนเล่นซนมากหน่อยลูกก็จะยิ่งผอมลงไปอีก ก็อย่าเพิ่งกังวลใจไปนะคะ เรามาช่วยกันหาวิธีดีๆที่จะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้ ลูกผอมมาก กินได้และมีสุขภาพดีมาฝากกันค่ะ
1. สร้างบรรยากาศการกินผ่อนคลาย ไม่มีสิ่งรบกวนเยอะ
บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจลืมสังเกตไปว่า ลูกมักจะนั่งกินข้าวอยู่ในบรรยากาศที่มีสิ่งเร้ามากมาย เช่น ดูโทรทัศน์ไปด้วย เล่นแท็ปเล็ตไปด้วย หรือกินไปเล่นของเล่นไปด้วย ก็เป็นธรรมดาที่ลูกจะเพลิดเพลินกับกิจกรรมนั้นๆ จนลืมกินอาหารตรงหน้า พอคุณพ่อคุณแม่เห็นก็ยิ่งเร่งเร้าให้ลูกกินข้าวเสียที ลูกก็ยิ่งรู้สึกว่าการกินข้าวเป็นเรื่องน่าเบื่อ เครียด และกดดันที่ต้องถูกบังคับให้กินให้เสร็จ
ทางที่ดีที่สุดคือการสร้างบรรยากาศการกินให้ผ่อนคลาย ไม่มีสิ่งรบกวน เพื่อให้ลูกมีสมาธิกับการกินมากขึ้นค่ะ
2. เพิ่มปริมาณอาหารที่ให้พลังงาน
หากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกกินอาหารได้มื้อละไม่มาก แต่การเพิ่มมื้ออาหารให้ลูกก็เป็นเรื่องยุ่งยาก ลองเปลี่ยนเป็นการเพิ่มปริมาณอาหารที่ให้พลังงานมากขึ้นในอาหารแต่ละมื้อก็เข้าท่านะคะ
อาหารที่ให้พลังงานเหมาะกับการเพิ่มน้ำหนักลูก ได้แก่ ผลไม้ต่างๆ โดยเฉพาะกล้วย อโวคาโด ไข่ ถั่วต่างๆ น้ำมันมะกอก น้ำตาลโตนด มันฝรั่ง นม และเนื้อไก่
3. ทำเมนูโปรดที่ลูกชอบ
คุณพ่อคุณแม่ต้องลองค้นหาเมนูเด็ดที่ไม่ว่าลูกจะกินยากเย็นแค่ไหน แต่ถ้าเจอเมนูนี้เข้าไป ก็ต้องยอมศิโรราบกินจนหมดแต่โดยดี หรือไม่ก็ลองสังเกตวัตถุดิบที่ลูกชอบ เช่น ถ้าลูกชอบกินฟักทอง ก็ลองทำอาหารที่ใช้ฟักทองเป็นส่วนประกอบหลัก หรือพยายามผสมฟักทองในเมนูอาหารบ่อยๆ แต่ต้องไม่ลืมที่จะเปลี่ยนและสร้างสรรค์เมนูใหม่ให้ลูกบ่อยๆ นะคะ ไม่งั้นจากที่ชอบๆ พอเบื่อแล้วจะกลายเป็นไม่ยอมกินไปเลยก็ได้
4. มีขนม (ที่ดีต่อสุขภาพ) เป็นของว่างให้ลูก
เด็กๆ มักชื่นชอบการกินขนมและของว่าง มากกว่าอาหารมื้อหลัก เรียกว่าถ้าเป็นขนมหวานหรือขนมขบเคี้ยว ไม่ต้องคะยั้นคะยอลูกก็พร้อมที่จะหยิบเข้าปากเองได้
แต่ขนมขนมขบเคี้ยวทั่วไป ไม่ได้มีสารอาหารที่เพียงพอจะทดแทนอาหารมื้อหลักได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือ ขนมที่จะให้ลูกกินต้องดีต่อสุขภาพ ไม่มีน้ำตาลเยอะ ไม่มีผงชูรส เพราะจะทำให้ลูกเป็นเด็กชอบกินอาหารรสจัด ไม่ดีต่อสุขภาพ และยังทำให้ลูกกินข้าวและอาหารที่มีประโยชน์น้อยลงไปอีก
ดังนั้นขนมที่คุณพ่อคุณแม่เลือกให้ลูกกินจึงควรเป็นขนมที่มีประโยชน์ ให้พลังงาน และดีต่อสุขภาพ เช่น กราโนล่าแบบแท่ง แครกเกอร์กับเนยหรือชีส
5. ลองให้ลูกกินวิตามินเสริมอาหารสำหรับเด็ก
วิธีสุดท้าย คือปรึกษากับคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้คุณหมอแนะนำวิตามินกินเสริมอาหารสำหรับเด็ก เพราะนอกจากจะช่วยเติมเต็มสารอาหารที่ขาดไปแล้ว วิตามินมีบางชนิดยังช่วยเพิ่มความอยากอาหารให้ลูกได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST